“World Expo 2020 Dubai” ที่ถูกเลื่อนมาจัดในวันที่ 1 ต.ค. นี้

คือแคมเปญใหญ่ เป็น Event Experience ระดับโลกของ 190 กว่าประเทศที่เข้าร่วมงาน

และต้องการอิมแพ็กดึงคนมาเที่ยวประเทศตนมากกว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา

Marketeer ได้สัมภาษณ์พิเศษ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบ ‘Thailand Pavilion’ หรืออาคารแสดงประเทศไทย ในงาน “World Expo 2020 Dubai

 

เขาต้องทำงานอย่างไรภายใต้วิกฤต COVID ที่ท้าทายสุด ๆ และประเทศต้องการผลลัพธ์ที่มากกว่าเดิม  

ทันทีที่รู้ว่าต้องเลื่อนการจัดงานออกไป 1 ปี จากกำหนดเดิมวันที่ 20 ตุลาคม 2563-10 เมษายน 2564 ความท้าทายอย่างแรกในการทำงานก็คือ

1. ต้องเปลี่ยนแผนในการก่อสร้าง โดยชะลอการก่อสร้างออกไป ทั้ง ๆ ที่สามารถทำให้เสร็จภายในกำหนดเดิม คือเดือนตุลาคม 2563 ได้ เป็นเพราะในช่วงระยะเวลา 1 ปี ต้นทุนจะต้องเพิ่มมากขึ้นในการดูแลรักษาอาคาร ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัด เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายจากพายุทะเลทราย ซึ่งทีมงานไม่มีประสบการณ์ในการจัดการมาก่อน

2. แต่การเปลี่ยนแผนก็มีปัญหากับการทำงานภายใต้มาตรการโควิดที่ยากลำบาก และต้นทุนแพงขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น รถขนส่งคนงานสามารถบรรทุกคนต่อครั้งได้น้อยลง ต้องใช้รถเพิ่มขึ้น มีการขาดแคลนคนงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในดูไบมาจากแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดูแลคนงานตามมาตรการความปลอดภัยจากโควิด-19 ในขณะเดียวกันการเดินทางเข้าออกประเทศก็ลำบากขึ้นจากจำนวนเที่ยวบินที่ลดน้อยลง

ซึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ บริษัทต้องรับผิดชอบภายใต้งบประมาณเดิมคือประมาณ 900 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้ช่วยหาเอกชนเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลในกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ BDMS ช่วยดูแลช่วยเหลือพนักงานทางด้านการแพทย์ หรือกลุ่มโรงแรมอนันตราและดุสิตธานี ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ด้านที่พัก

3. ในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวลดน้อยลงจากเดิมทำอย่างไรที่จะให้คนเข้ามามีประสบการณ์ในพาวิลเลียนของประเทศไทยมากที่สุด

ทุกครั้งที่จัดงาน World Expo ไม่ว่าที่ประเทศไหนผมต้องบอกทีมว่าถ้าเทียบกับภาพยนตร์ เราไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ด แต่เราคือหนังอินดี้ ที่มีจุดเด่นต้องเข้ามาดู พลาดไม่ได้  เพราะฉะนั้นต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้งานออกมาดี และดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องดีเกินคาดด้วย

4. กลุ่มเป้าหมายที่จะชมงานก็เปลี่ยนไป ก่อนเกิดวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวจีน อินเดีย อาจจะเป็นเป้าหมายหลัก แต่ปัจจุบันก็ไม่มั่นใจว่าจีนจะเปิดโอกาสให้คนของเขาท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่อินเดียอัตราการติดเชื้อก็ยังสูง

ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายใหม่คือคนตะวันออกกลาง ที่ยังมีความมั่งคั่งและรับมือกับวิกฤตโควิดได้ดี เช่นเดียวกับประเทศทางยุโรป

แล้วจะพรีเซนต์อย่างไร ให้คนกลุ่มนี้สนใจ เป็นโจทย์ที่ทีมงานต้องศึกษากันอย่างหนักถึงอินไซต์ของคนในประเทศนั้น ๆ เช่นกัน

ด้านการออกแบบประเทศไทยได้พรีเซนต์แนวคิด Digital for Development และออกแบบโดยใช้ ‘พวงมาลัย’ เป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารแสดงประเทศไทย และใช้มุมมองที่ชาวต่างชาติมีต่อคนไทยว่า ‘เป็นมิตร-Friendly’ ‘มีความสุข-Happy’ และ ‘พร้อมต้อนรับ-Welcoming’ (จากผลสำรวจของ ททท.) เพื่อตอกย้ำให้ชาวต่างชาติรับรู้ถึงความเป็นไทย

ภายในมี 4 ห้องในการจัดแสดง แต่ละห้องจะถูกเล่าด้วยกลยุทธ์ที่ต่างกัน ซึ่งสามารถเล่าได้คร่าว ๆ ก่อนวันแถลงข่าวประมาณกลางเดือนกันยายน 2564 นี้ได้ว่า 

ห้องที่ 1 ห้องนี้ทุกคนเข้ามาต้อง ว้าว เป็นจุดเช็กอิน เป็นจุดถ่ายรูปที่ทุกคนต้องไม่พลาด ห้องที่ 2. ความเป็น Hub ของภูมิภาคอาเซียนที่มีมานานหลายร้อยปี ผ่านการพรีเซนเทชั่นในรูปแบบใหม่ ที่เกรียงไกรเชื่อว่ายังไม่มีใครทำ

ห้องที่ 3. เมืองไทยในอนาคต เป็นภาพใหญ่ของประเทศไทยที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงในทุก ๆ ด้านกับทุกประเทศในโลก 

และห้องสุดท้ายจะตอบโจทย์ของทุก ๆ คนว่าทำไมต้องมาเที่ยว ทำไมต้องมาลงทุนที่เมืองไทย

ทุกอย่างถูกจัดแสดงในพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร โซน Mobility ภายใต้แนวคิด “Mobility for the Future”

World Expo 2020 Dubai คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานราว 25 ล้านคน รัฐบาลไทยหวังว่าจะมีคนเข้าชม Thailand Pavilion ประมาณ 7% แต่เขาคาดว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 10%

สุดท้าย เกรียงไกรบอกว่า

“ความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างคือครั้งนี้เราต้องการผลลัพธ์ที่ดีมากที่สุด เพราะต้องการให้ Thailand Pavilion เป็นตัวกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยว เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ”

 และส่วนตัวยังเชื่อว่า Thailand Pavilion จะติด Top 10 ของ Pavilion ที่คนเยี่ยมชมมากที่สุดแน่นอน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online