แม้มีความเคลื่อนไหวพอสมควรและเป็นที่คาดเดาได้ว่า Jack Dorsey อาจลาเก้าอี้  CEO ของ Twitter หลังเริ่มหันไปสนใจ NFT และสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า ประกอบกับถูกกดดันจากผู้ถือหุ้นให้เลิกเหยียบเรือสองแคม ทว่าเมื่อเขาสละเก้าอี้แบบกะทันหันแล้วดัน Parag Agrawal ประธานฝ่ายเทคนิคขึ้นคุมบริษัทแทน ประเด็นที่เรียกความสนใจได้กลับเป็นตัวผู้ที่มาแทนและบริบทแวดล้อม

Parag Agrawal

เพราะเซียนเทคนิควัย 37 ปีรายนี้เป็นชาวอินเดียคนล่าสุดที่ได้ขึ้นมาคุมบริษัทเทคโนโลยีอเมริกัน ถัดจาก Satya Danella และ Sundar Pichai และ Arvind Krishna ที่ได้คุม Microsoft, Alphabet และ IBM ไปแล้วก่อนหน้านี้ตามลำดับ  

ด้านหนึ่งคือความไว้วางใจความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่บริษัทใหญ่ ๆ มีให้เหล่ามือดีชาวอินเดีย ทว่ายังมีความจริงอีกด้าน เพราะเป็นการย้ำว่าอินเดียยังเป็นประเทศที่คนระดับหัวกะทิของหัวกะทิ เลือกเก็บกระเป๋าไปทำงานให้ต่างประเทศมากกว่า

 

สมองไหล: ปัญหาใหญ่ของยักษ์เอเชียใต้  

นอกจากแหล่งกำเนิดศาสนา-ความเชื่อ ดินแดนแห่งเครื่องเทศ และ Bollywood แล้ว ความเก่งกาจด้านเทคโนโลยีของคนประเทศนี้ก็เป็นคำตอบที่ได้รับอยู่เสมอ หากถามคนทั่วโลกว่า อินเดียมีจุดเด่นหรือภาพจำอะไรบ้าง โดยในประเด็นหลังสุดในอดีตยืนยันได้จากอินเดียเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกในการจ้างงานบริษัทภายนอก (Outsource)

Jawaharal Nehru

ส่วนในปัจจุบันพัฒนาเป็นการดันชาวอินเดียขึ้นเป็น CEO ของบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของความสำเร็จนี้เปรียบได้กับชิปตัวแรกใน Gadget ระบบประมวลผลชั้นยอด คือวิสัยทัศน์ของ Jawaharal Nehru นายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรก ที่สั่งให้เน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

ซึ่งวันนี้รู้จักในแวดวงการศึกษาผ่านชื่อย่อ STEM ตามอักษรตัวแรกของแต่ละวิชาในภาษาอังกฤษ เพื่อเร่งพัฒนาประเทศหลังเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อปลายยุค 40

วิสัยทัศน์ดังกล่าวพัฒนาสู่ IIT กลุ่มมหาวิทยาลัยด้าน STEM 23 แห่งในปัจจุบัน แห่งแรกที่ก่อตั้งในยุค 50 คือ Kharagpur ที่ CEO ของ Alphabet เป็นศิษย์เก่า โดยมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ขึ้นชื่อเรื่องการสอบเข้ายาก ดังนั้นใครสอบติดและจบออกมาด้วยผลการเรียนดีจึงถือเป็นคนระดับหัวกะทิ

Sundar Pichai

นักวิชาการชาวอินเดียที่ไปได้ดิบได้ดีในสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลุ่ม IIT ของอินเดียยากกว่าและแข่งขันกันสูงกว่า MIT และ Harvard มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ดังไปทั่วโลกเป็น 10 เท่า เพราะมีการแข่งขันสูงในหมู่ประชากรของอินเดียที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน และทุกคนต่างก็เป็นความหวังของครอบครัวที่อยากคว้าปริญญาเป็นใบเบิกทางหลุดพ้นความยากจน

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการเคี่ยวหัวกะทิครั้งแรกของว่าที่เซียนเทคโนโลยีอินเดียเท่านั้น เพราะหลังสอบเข้ามาได้นักศึกษายังต้องมาแข่งขันกันเอง และเผชิญระบบชนชั้นวรรณะของประเทศอีก ทว่าหลังเรียนจบบัณฑิต IIT แทบทุกคนก็ต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้ง

หัวกะทิด้าน STEM ชาวอินเดียที่จบจาก IIT ต่างรู้ว่า แวดวงเทคโนโลยียังไม่พัฒนาเต็มที่ แถมยังต้องเจอกับความซับซ้อนและการทุจริตในแวดวงราชการ และความซ้ำซ้อนด้านการบริหารของบริษัทบ้านเกิด เมื่อเจอกับสภาพเช่นนี้แทบทุกคนจึงเก็บกระเป๋าไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีสหรัฐฯ เป็นที่หมายอันดับต้น ๆ

ความที่ส่วนใหญ่ฐานะยากจน ครอบครัวจึงต้องดิ้นรนสุดตัวเพื่อส่งลูก ๆ ให้ไปมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศจนเป็นภูมิหลังของ CEO ชาวอินเดียดัง ๆ ของบริษัทในสหรัฐฯ แทบทุกคน เช่น Sundar Pichai ที่ครอบครัวฐานะยากจนมาก สมาชิกทุกคนต้องอาศัยอยู่รวมกันในห้องเช่าเล็ก ๆ และกว่าครอบครัวจะมีจักรยานยนต์สักคันก็ต้องเก็บเงินถึง 3 ปี

นอกจากนี้ เขาเกือบไม่ได้มาสหรัฐฯ หลังสอบชิงทุนได้ หากพ่อไม่นำเงินเก็บของครอบครัวมารวมกับเงินกู้เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินให้

สภาพการณ์ที่ไม่เป็นใจต่อการทำงานบั่นทอนความก้าวหน้า และบ่อนทำลายความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวเหล่านี้ หัวกะทิเทคโนโลยีชาวอินเดียจึงพากันไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ยุค 60 และช่วงไม่กี่ปีมานี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น 

ตามข้อมูลของรัฐบาลอินเดียระบุว่าปี 2014-2021 มีชาวอินเดียถึง 1 ล้านคนที่ขอโอนสัญชาติเพื่อไปอยู่อาศัยและทำงานในต่างประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ตลอดหลายปีเกินครึ่งของผู้ที่ขอ VISA แบบทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (H1-B) คือชาวอินเดีย โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยี

ตราบใดรัฐบาลอินเดียไม่ทุ่มงบพัฒนาด้านเทคโนโลยีและแก้ไขอุปสรรคที่บั่นทอนการพัฒนาด้านต่าง ๆ สมองไหลก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไป วิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาประเทศของนายกรัฐมนตรีคนแรกก็จะยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

และ Parag Agrawal จะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ได้นั่งเก้าอี้ CEO บริษัทในสหรัฐฯ แทนที่จะได้เป็นชิปตัวสำคัญในการพัฒนาอินเดียบ้านเกิด/nikkei, afp, wikipedia, stanford

I-



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน