ในยุคที่เรตติ้งเป็นเหมือนลมหายใจของทีวีดิจิทัล การขึ้นมาติดอันดับ Top 10 ครั้งแรกของ ช่อง 9 MCOT HD (หมายเลข 30) จึงมีความหมายอย่างมากๆ

ทำอย่างไรให้ตัวเลขแข็งแรง ทิ้งห่างคู่แข่งและก้าวสู่อันดับที่ดีกว่านี้  เป็นสิ่งที่ท้าทาย เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท คนล่าสุดที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะวันนี้เป็นยุคที่อสมท. รายได้ลดลง มีตัวเลขขาดทุนสะสมต่อเนื่อง มีการแข่งขันสูง และเป็นการบริหารจัดการองค์กรท่ามกลาง resource ที่มีอยู่จำกัด

เขมทัตต์ เป็นอดีตลูกหม้อของ อสมท เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บมจ.อสมท เมื่อปี 2548-2555 จากนั้นปี 2556 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทสปา-ฮาคูโฮโด จำกัด และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในปี 2557

แบรนด์ลอยัลตี้ยังมี แต่น้อยลงทุกที

ช่อง 9 เป็น “สื่อ” ที่เคย “ใหญ่” แต่ทำไมแบรนด์ลอยัลตี้ที่มีถึงได้น้อยลง เขมทัตต์ อธิบายให้เห็นภาพในเรื่องนี้ว่า

“ผมว่าช่อง 9 ไม่ได้แย่มากนะครับ เพราะถ้าแย่จริงๆเราคงทำให้ขึ้น Top 10 ไม่ได้ แต่การที่คนดูน้อยลง เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาการเมืองเข้ามายุ่งมากจนเกินไปทำให้นโยบายและทิศทางไม่ชัดเจนไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง”

ในปี 2557 อสมท ยังได้เข้าไปประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ที่ถึงแม้ว่าเป็นช่องทีวีที่รัฐบาลถือหุ้นเกินครึ่งแต่ไม่ได้มีแต้มต่ออะไรเลย ทุกอย่างทำภายใต้กฎเกณฑ์ของทีวีเอกชนที่มีเม็ดเงินมากกว่า และตลอด2-3 ปี ที่ผ่านมาต้องใช้เงินมากขึ้นเช่นค่าใบอนุญาตอุปกรณ์   ค่าบริการโครงข่าย  และค่าผลิตคอนเทนท์ที่จะมาทดแทนผู้ผลิตบางรายที่ถอนตัวออกไป

เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี ไม่สามารถลงทุนให้คอนเทนท์ มีความโดดเด่น แตกต่างจากช่องอื่นๆ ส่งผลให้ยอดรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปลายปี 2559  อสมท มีตัวเลขขาดทุนถึง 734 ล้านบาท

“คนถามผมเยอะมากว่าทำไมกลับมา การเมืองหรือเปล่า องค์กรขาดทุนอยู่นะครับ จะมาเอาอะไรไปได้ ก็หวังแค่ว่าความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่จะช่วยประคับประคองให้ช่องนี้อยู่ต่อไปให้ได้ ก็เป็นความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งก่อนที่ชีวิตของผมจะเกษียณ”

สำคัญกว่าปรับ “คอนเทนท์” คือ  “ปรับคน”

สิ่งที่เขมทัตต์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือการปรับโครงสร้างการทำงานของคนจากเดิมที่จะมีลักษณะการทำงานค่อนข้างแยกออกจากกัน   ให้มีลักษณะเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ภายใต้นโยบายบริหารที่กำหนดว่าจากนี้ไปจะเป็น One Team, One Company และ One Direction   `

ปัจจุบันอสมท มีคนทั้งหมดประมาณ 1,200 คน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ เป็นค่าบุคลากร และเป็นเงินที่ใช้กับการทำคอนเทนท์ในทีวีน้อยมาก  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนักเพราะปกติต้นทุนของคอนเทนท์ควรจะอยู่ที่ 50-60 %   เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องคน 20-30 %

“เราเลยมองถึงการปรับลดคนไม่ได้หมายถึงให้คนออก แต่เอาคนที่มีอยู่ไปทำงานในที่ๆถูกต้อง ตรงกับความรู้ความสามารถจริงๆเพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด  หรือตอนนี้บางตำแหน่งที่มีการเกษียณ คนที่เหลืออยู่ก็อาจจะควบรวมตำแหน่งรับผิดชอบมากขึ้นไม่มีการรับคนเพิ่ม เป็นการลดขนาดองค์กรลง”

การจัดการเรื่องคนอาจจะไม่ง่ายนัก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าต้องการให้รายได้ของทีวีมีเพิ่มขึ้น ต้องบริหารจัดต้นทุน  ต้องมีเงินใส่ลงไปทำให้รายการแข็งแรงขึ้น

พร้อมๆกับเข้าไปบริหารจัดการในส่วนของโครงสร้างรายได้ที่มีอยู่ 2 ทางหลักคือ ธุรกิจบรอดแคสต์ ที่มี ทีวีและวิทยุ เป็นรายได้หลัก และธุรกิจนอน-บรอดแคสต์ ซึ่งรายได้หลักต่อไปคือ ที่ดิน

ปรับผังทีวีใหม่  ปั้นรายได้วิทยุเพิ่มขึ้น  

เริ่มจากการยกเครื่องผังรายการช่อง 9 MCOT HD ใหม่ขยายจาก “สังคมอุดมปัญญา” เป็น “Wisdom TV เติมความรู้ ดูสนุก” มีการตัดบางรายการออกไป ปรับปรุงรายการในช่วงข่าว  เพิ่มสัดส่วนรายการสาระบันเทิงมากขึ้นเพื่อขยายกลุ่มไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่  มีการซื้อซีรีส์จีนและซีรีส์เกาหลี ที่เป็นเรื่องพงศาวดารที่น่าสนใจเข้ามาฉายในช่วง “ซีรีส์ดัง หนังฮิต”

ส่วนละครแผนที่วางไว้ถ้าจะลงทุนทำเองก็ต้องเป็นฟอร์มใหญ่อย่างเรื่อง  “4 แผ่นดิน” หรือถ้าเป็นฟอร์มเล็กก็ต้องสร้างกระแสในสังคมให้ได้ เพื่อที่จะสามารถนำเอาไปใส่ในแพลตฟอร์มอื่นๆของโซเชียลมีเดียให้ได้  เกมโชว์ อาจจะไม่ถนัด ส่วนสารคดีก็ต้องคิดหนักกว่าเดิม เพราะตลาดเมืองไทยไม่ค่อยชอบ

สำหรับ MCOT Family ช่อง 14 ก็ได้วางแผนไว้ว่าจะเป็นสถานีของเอสเอ็มอี ,สตาร์ทอัพ และประชารัฐ  เน้นรายการที่สร้างอาชีพพัฒนาผลิตภัณฑ์และหาตลาดให้วิสาหกิจชุมชนและคนรุ่นใหม่

ช่องทางหารายได้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “คลื่นวิทยุ” ปัจจุบันวิทยุในเครือข่ายของอสมท ทั้งหมดมีถึง 62 แห่งมากที่สุดในประเทศ โดยวิทยุภูมิภาค อสมท ที่มีอยู่ 53แห่งนั้นได้ใช้กลยุทธ์ใหม่ Content Cluster คือการนำคอนเทนท์ของสถานีไปออกอากาศคู่ขนานผ่านสถานีวิทยุภูมิภาคในกลุ่มจังหวัดที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตรายการ  สร้างเรทติ้งผู้ฟังวิทยุภูมิภาคทั่วประเทศให้สูงขึ้น และมีรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น

“ปีนี้เราตั้งเป้ารายได้ของวิทยุทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไว้ถึง 900 ล้านบาท สูงเท่ากับการตั้งเป้ารายได้ของทีวีบางช่องเลย  และรายได้ตรงนี้จะมาซัพพอร์ตคนของเราให้แข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะดีเจ 200 คนที่ประจำคลื่น ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญ เพราะถ้ามีประมูล เรดิโอดิจิทัลเข้ามา ก็จะเกิดสงครามแย่งคนอีกครั้งหนึ่ง เราต้องหาทางไม่ให้เขาไปไหน”

เพื่อตอบโจทย์การสื่อสารของสินค้าและแบรนด์ที่ต้องการ“สื่อครบวงจร” ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เสพคอนเทนท์หลากหลายช่องทาง  อสมทเองก็มีความพร้อมในทุกแพลตฟอร์มสื่อ ทั้งฟรีทีวี 2 ช่อง, วิทยุทั่วประเทศ,สื่อออนไลน์ ,ดิจิทัล เซอร์วิส แพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานผลิตคอนเทนท์ทั้งสำนักข่าวไทย,ไนน์เอ็นเตอร์เทน เป็นต้น

เปิดโฉมที่ดิน 3 แปลงยักษ์ แหล่งรายได้ใหม่

ที่ดินเป็นทรัพย์สิน ที่ซ่อนอยู่ในอสมท และได้เวลาที่จะต้องเอามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำเงินรายได้ไปสร้างช่องทีวีให้เข้มแข็งขึ้น และสร้างรายได้หลักกลับไปยังองค์กร

แปลงแรกจำนวน 50ไร่ หลังศูนย์วัฒนธรรม ซื้อมาเมื่อปี 2548  ราคาประมาณ  1 พันล้านบาท แต่ตอนนี้ราคาเพิ่มขึ้นมาก ที่สำคัญยังเป็นจุดที่มีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มผ่านด้วย

ที่ดินแปลงนี้จะถูกนำมาพัฒนาก่อนแปลงอื่น ปัจจุบันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะวางแผนการพัฒนาในรูปแบบไหนปล่อยให้เช่าระยะยาวไปเลยหรือจะร่วมลงทุนกับภาคเอกชน

แปลงที่สอง ที่ดินย่านบางไผ่  59 ไร่ เหมาะสำหรับทำที่อยู่อาศัย

แปลงที่สาม ที่ดินตรงหนองแขม ประมาณ 40 ไร่ ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ มีกำหนดคืนอีก 2 ปีข้างหน้า

“คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น และถ้าเป็นไปตามแผนเราน่าจะมีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 500-600 ล้านบาท  จะเป็นเม็ดเงินที่จะมาช่วยซัพพอร์ต ตัวสถานีอีกทางหนึ่ง ทำให้องค์กรก็จะได้อยู่ได้อย่างมั่นคงขึ้น”

เขมทัตต์กล่าวว่า เวลาทำงานตามวาระประมาณ 3-4 ปีน้อยมากเพราะการที่จะพลิกฟื้นองค์กรใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้เวลา แต่พยายามจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่างน้อยต้องทำให้ในปีนี้ขาดทุนน้อยที่สุด  และต้องเป็นทีวีดิจิทัลที่อยู่อันดับ 8 ให้ได้

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล

ภาพ : เมธี ชูเชิด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online