กลยุทธ์เอสเอ็มอี 6 ข้อที่จะพาผู้ประกอบการให้ไปต่อในปี 2022

Marketing Everything / รวิศ หาญอุตสาหะ
.
.
สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น การวางแผนและกลยุทธ์ถือเป็นกุญแจสำคัญที่คอยกำหนดทิศทางขององค์กรแทบทุกมิติทั้งในระยะสั้นและยาวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในยุคแห่งความไม่แน่นอนและการแข่งขันสูงเช่นนี้ ภาคธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ควรมีการวางแผนที่รัดกุม รอบคอบ และเหมาะกับสถานการณ์ เพื่อสร้างฐานที่แข็งแกร่งให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่อง ‘การวางแผนธุรกิจในปี 2022 สำหรับธุรกิจ SMEs’ ผมเชื่อว่าเวลาพูดถึง ‘ธุรกิจ SMEs’ หลายคนคงสงสัยว่าคืออะไรกันแน่ แล้วใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่งประเภท ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักธุรกิจ SMEs กันก่อนครับ
.
.
ธุรกิจ SMEs คืออะไร?
.
SMEs หรือ Small and Medium Enterprises เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ดำเนินกิจกรรมด้านการผลิต การค้า และการบริการ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ซึ่งเกณฑ์การกำหนดขนาดของ SMEs ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนการจ้างงานและจำนวนสินทรัพย์ถาวร และนิยามของแต่ละที่จะแตกต่างกันออกไปครับ
.
.
ธุรกิจ SMEs วางแผนธุรกิจอย่างไรดี?
.
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดเรื่องหนักๆ อยู่หลายเรื่องพอสมควร โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกันอย่างเป็นวงกว้าง ในบทความนี้ผมจึงอยากมาแชร์การวางแผนธุรกิจของ SMEs ในปี 2022 เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงและสามารถไปต่อได้ในระยะยาว โดยผมได้สรุปออกมาเป็น 6 ข้อ มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรทำและระมัดระวังไปลองดูกันครับ
.
1. เงินสดยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
.
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ที่พังและหยุดชะงักไปตามๆ กัน ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เราจำเป็นต้องใช้เงินสดประคับประคองธุรกิจ จึงทำให้หลายบริษัท ‘ก่อหนี้’ เพิ่มจำนวนมากเพื่อพยุงไม้ให้ธุรกิจ ‘เจ๊ง’ อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 นี้ การวางแผนธุรกิจต้องรัดกุมมากกว่าเดิม และจะทำเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำและควรให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ ‘การสร้างกำไรให้ได้ทุกเดือน’ และทำให้ ‘กระแสเงินสดเป็นบวก’ โดยต้องวางแผนอย่างรอบคอบ คอยควบคุมและสังเกตค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดและเป็นระบบ
.
สำหรับ ‘ศรีจันทร์’ จะมีระบบติดตามงบประมาณต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่าย (Expense) หรือ รายได้ (Revenue)ซึ่งไม่ว่าจะใช้เงินทำอะไรก็ตามทุกอย่างจะถูกบันทึกในระบบ และจะมีการประเมินออกมาว่าทุกอย่างยังอยู่ใน Budget หรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ก็จะมี Warning Sign เตือนออกมา โดยผู้บริหารควรตรวจสอบและรับรู้ว่า Budget ได้รับการควบคุมอย่างดีหรือไม่ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
.
นอกจากนี้ กระแสเงินสดไม่ใช่เรื่องของรายรับ-รายจ่ายเพียงเท่านั้น แต่ ‘เวลา’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้ว่าเราจะได้เงินจำนวนมากจากโปรเจกต์ใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นเงินที่ได้มาช้าก็อันตรายอย่างมากสำหรับ SMEs เพราะจะไม่มีเงินมาหมุนได้ทัน

.
.
2. การแตกแขนงธุรกิจเพื่อสร้างโอกาส
.
การแตกแขนงธุรกิจเป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของเราไม่น้อย เพราะสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้เบื่อและไม่ชอบอะไรแบบเดิมๆ กันแล้ว เราจึงไม่ควรหยุดอยู่กับที่ ควรมองหาช่องทางใหม่ๆ เพราะยุคนี้ทุกอย่างเปิดกว้างมากๆ ลองทำอะไรที่สร้างโอกาสได้ก็ควรลอง อย่างศรีจันทร์ก็ไม่ได้ขายเพียงเครื่องสำอางอย่างเดียวครับ
.
อย่างไรก็ตาม การแตกแขนงธุรกิจก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน เพราะต้องมีเงินทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะไปขัดกับข้อแรกที่ผมแนะนำให้ควบคุมกระแสเงินสดให้เป็นบวกเข้าไว้ ดังนั้น การแตกแขนงธุรกิจให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุดจำเป็นต้อง ‘ทดลอง’ จากสมมติฐานก่อน โดยสิ่งที่จะทำนั้นต้องดีกว่าเดิมด้วยนะครับ หากทดลองแล้วผลออกมาดีก็ตัดสินใจไปต่อ แต่ถ้าทดลองแล้วผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจก็ต้องพับโครงการหรือลองหาแนวทางใหม่ๆ ที่เหมาะสมกว่าเดิม
.
.
3. คนที่ใช่สำคัญที่สุด
.
ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เราต้อง ‘ใจแข็ง’ หากเรารู้สึกว่ามีคนที่ไม่ใช่และไม่สามารถเดินร่วมทางไปตามแผนขององค์กรได้ก็ถึงเวลาที่ต้องบอกลากันแล้วครับ เนื่องด้วยขนาดธุรกิจ SMEs ไม่ได้ใหญ่โตมาก จึงไม่มีเงินถุงเงินถังที่จะรับคนที่ไม่ใช่ให้อยู่ต่อกันได้ นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงินเดือนเท่านั้น แต่การมีคนที่ไม่ใช่ไว้ในองค์กรยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานต่างๆ และทำให้ ‘คนที่ใช่’ ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย
.
.
4. ทัศนคติและทักษะต้องมาพร้อมกัน
.
หากมีคนที่ทัศนคติดีอยู่ในองค์กรถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก แต่ทว่า การทำงานในยุคนี้ ทัศนคติดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราควรมีคนที่มีทั้งทัศนคติและทักษะที่ดีพร้อมๆ กัน ซึ่งหากใครที่ยังมีทักษะไม่เพียงพอก็ต้องเรียนรู้และอบรมเพิ่มเติม เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปต่อได้ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น
.
สำหรับการออกแบบประเมินแผนพัฒนาบุคคล หรือ Individual Development Plan (IDP) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ เราต้องตัดสินใจได้ว่าคนไหนเหมาะกับตำแหน่งอะไร และในปีนี้อาจมีการสลับบทบาทหน้าที่ตำแหน่งมากขึ้น เพื่อการทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
.
.

5. กลยุทธ์เอสเอ็มอี ต้องอย่าประมาทคู่แข่งที่มองไม่เห็น

.
การวิเคราะห์คู่แข่งขัน (Competitor Analysis) เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท เพราะจะทำให้เราได้รู้จักคู่แข่งในตลาด จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อนำมาปรับปรุงและวางแผนการดำเนินงานต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs การรู้จักคู่แข่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้ทุกอย่างเปิดกว้างมากๆ ทำให้บริษัทหรือแบรนด์อื่นๆ จะผลิตสินค้าและบริการที่ไม่เคยทำมาก่อนเข้าสู่ตลาดเมื่อใดก็ได้
.
เราจึงไม่ควรประมาทคู่แข่งที่มองไม่เห็น เพราะเราแทบไม่มีข้อมูลใดๆ มาวิเคราะห์และเตรียมรับมือไว้ก่อน พอมาแข่งกันจะทำให้งงและเสียสมดุลไปได้ จึงเป็นม้ามืดที่น่ากลัวและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
.
.
6. ทิศทางองค์กรในอนาคตต้องใส่ใจ
.
การคำนึงถึงทิศทางในอนาคตขององค์กรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และไม่ควรคิดแค่ระยะสั้นๆ 1-2 ปี แต่เราควรคิดถึงภาพรวมและทิศทางในระยะยาวตั้งแต่ 10-20 ปี ในอนาคตธุรกิจของเราจะยืนอยู่ตรงไหน? และจะสร้างคุณค่าให้กับโลกอย่างไร? สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคตอย่างมาก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเร่งรัดทำทุกอย่างภายในเวลาไม่กี่ปี แต่เราจำเป็นต้องค่อยๆ เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ที่ยังมีโอกาส เพราะกระบวนการต่างๆ ต่างต้องอาศัยเวลาและการวางแผนที่ดี อย่างในตอนนี้ศรีจันทร์ก็ได้เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนค่อนข้างเยอะแล้ว เช่น การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความหมุนเวียนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
.
.
หากธุรกิจมีการวางแผนที่ดี รัดกุม และเหมาะสมยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้บริหารและคนในองค์กรได้ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น หรือถึงแม้มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็จะสามารถควบคุมและแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
สุดท้าย อย่าลืมที่จะแสดงหาช่องทางที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจอยู่เสมอ นำข้อผิดพลาดทั้งจากที่เรียนรู้เองและของคนอื่นมาเป็นบทเรียนในอนาคต เพราะอาจทำให้เราพบโอกาสมากมายที่เผลอมองข้ามไปก็ได้ และไม่ควรที่จะทำอะไรตามกระแส ควรเลือกลงทุนในสิ่งที่ใช่และเหมาะสมกับธุรกิจของเราเอง เพื่อสร้างจุดแข็งและจุดขายให้ธุรกิจต่อไปในอนาคต

 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online