ภัยไซเบอร์ที่เกิดกับยักษ์ยานยนต์ญี่ปุ่นช่วงสถานการณ์โลกตึงเครียด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบบออนไลน์เตือนว่าอย่าประมาทและต้องยกระดับการป้องกัน
บริษัทป้องกันภัยไซเบอร์ของญี่ปุ่น เตือน Toyota และบริษัทยานยนต์ใหญ่ ๆ ในประเทศว่า ต้องใส่ใจเรื่องระบบออนไลน์มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากประมาทและยังมีช่องโหว่ การโจมตีของแฮกเกอร์ครั้งต่อไปอาจสร้างความเสียหายมหาศาล
Toyota ปิดไตรมาสแรกปี 2022 ด้วยข่าวร้าย โดยวานนี้ (1 มีนาคม) ได้สั่งปิดโรงงานทุกแห่งในญี่ปุ่น เพราะสายพานการผลิตหยุดระงัก หลัง Kojima Industries Corp บริษัทคู่ค้าซึ่งผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมากมายป้อนให้และมีสายสัมพันธ์กันมาเกือบ 100 ปี ถูกแฮกเกอร์โจมตี จนสื่อสารระหว่างกันติดขัด
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความกังวลว่า แฮกเกอร์รัสเซียอาจอยู่เบื้องหลัง และโจมตีเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่นที่ร่วมกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป คว่ำบาตรรัสเซียในรูปแบบต่าง ๆ แม้ไม่ได้ส่งทหารไปช่วยยูเครนรบกับรัสเซียก็ตาม
แม้จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็น Ransomware หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ และแฮกเกอร์รัสเซียไม่น่าจะอยู่เบื้องหลัง แต่ความกังวลเรื่องการถูกแฮกเกอร์โจมตี ก็ยังไม่หมดไป โดยผู้บริหารของ S&J บริษัทดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ญี่ปุ่นเตือน Toyota ว่า อาจต้องตั้งการ์ดป้องกันภัยไซเบอร์ให้สูงกว่าเดิมและอย่าประเมินแฮกเกอร์ต่ำไปเด็ดขาด
ผู้บริหารของ S&J กล่าวต่อว่า โลกทุกวันนี้อยู่ในยุค Superconnect ที่ระบบออนไลน์ต่าง ๆ ของทุกบริษัทเชื่อมต่อกันแบบแยกไม่ออก แถมยังเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพาของพนักงานในบริษัทอีกด้วย
แน่นอนว่าด้านหนึ่งจะช่วยให้ทำงาน ควบคุมและจัดการดูแลได้สะดวกขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากแฮกเกอร์พบช่องโหว่ แล้วเจาะเข้ามาได้ หายนะย่อมตามมา
และหาก Toyota ถูกแฮกเกอร์โจมตีอีก ทั้งระบบอาจพังหรือถูกยึดได้แค่คลิกครั้งเดียว และความเสียหายคงจะมหาศาล เพราะ Toyota เป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีบริษัทคู่ค้าและบริษัทลูกรวมกันมากถึง 40,000 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกด้วย


ส่วนความคืบหน้าในการกู้ระบบออนไลน์ Toyota คาดว่าจะเสร็จในวันนี้ (2 มีนาคม) และสายพานการผลิตในญี่ปุ่นน่าจะกลับสู่ภาวะปกติในอีกไม่นานจากนั้น
สำหรับ Toyota เคยถูกแฮกเกอร์โจมตีมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเมื่อปี 2008 TMW บริษัทคู่ค้าอีกแห่งโดนแฮกเกอร์เจาะแล้วล้วงเอาข้อมูลไป
ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับ Toyota ยังทำให้บริษัทใหญ่ทั่วโลกต้องยกเครื่องระบบออนไลน์เพื่ออุดช่องโหว่ต่าง ๆ และอาจต้องมี Feature ที่ทำหน้าที่เหมือนเกราะหรือโปรแกรมได้ก็ตามที่สามารถระงับความเสียหาย
ก่อนแฮกเกอร์จะยึดระบบจนสร้างเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการแฮกท่อส่งน้ำมันสหรัฐฯ แฮกเอาข้อมูลเจ้าของ Volkswagen ในสหรัฐฯ และแฮก Source Code ของค่ายเกม EA เมื่อปี 2021/nikkei, ap, japantoday
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



