อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กแต่สำคัญต่อแวดวงเทคโนโลยีทวีความคึกคัก และยิ่งทำให้ประเทศเล็กใน ASEAN ที่เป็นหนึ่งในฐานผลิตถูกจับตามอง

UMC บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติไต้หวัน ประกาศทุ่มเงินก้อนใหญ่ขยายโรงงานในสิงคโปร์ เพื่อรองรับความต้องการของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญ เพราะจำนวนเงินลงทุนมากกว่าคู่แข่งสัญชาติอเมริกัน

ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมชิปถูกทั้งโลกจับตามอง เพราะต้องผลิตชิปป้อนให้กระบวนการผลิต Smartphone คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครื่องเกมต่าง ๆ มากขึ้นกว่าปกติ หลังผู้คนถูกตรึงให้อยู่ติดบ้านจากสถานการณ์โควิดจนต้องลดสัดส่วนการผลิตให้ค่ายรถ

วิกฤตดังกล่าวยังทำให้คนที่อยู่นอกอุตสาหกรรมชิปได้รู้ว่าไต้หวันคือยักษ์ใหญ่ในวงการนี้ นับเฉพาะแค่ TSMC เบอร์หนึ่งตลาด และยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของไต้หวันด้วย ก็ครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากถึง 54% ขณะที่บริษัทร่วมชาติก็ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกลดหลั่นกันไป

ในจำนวนบริษัทไต้หวันที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิปมี United Microelectronics Corp หรือ UMC รวมอยู่ด้วย โดย UMC ก่อตั้งเมื่อปี 1980

และปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปตามสั่งแบบมีสัญญาผูกมัด (Contract Chipmaker) อันดับ 4 ของโลก ด้วยลูกค้าในมืออย่าง Samsung และ Qualcomm

ผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดและความต้องการจากบริษัทเทคโนโลยีทำให้ UMC ต้องเพิ่มกำลังการผลิต จนนำมาสู่การทุ่มเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 163,000 ล้านบาท) ขยายโรงงานในสิงคโปร์

UMC คาดว่าหลังการขยับขยายแล้วเสร็จจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2024 และมีกำลังการผลิตชิปอยู่ที่ 30,000 ชิ้นต่อเดือน

ชิปที่ UMC ผลิตได้จะถูกส่งไปยังลูกค้าและกระจายไปอยู่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน คอมพิวเตอร์ และรถยนต์

การขยายโรงงานครั้งนี้ยังถือเป็นการเพิ่มแต้มต่อเหนือ Global Foundries คู่แข่งจากสหรัฐฯ ที่เมื่อปี 2021 ประกาศสร้างโรงงานในสิงคโปร์ด้วยงบลงทุน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 130,800 ล้านบาท)

อีกประเด็นที่ถูกจับตามองจากการขยายโรงงานครั้งนี้คือความมั่นใจในศักยภาพของสิงคโปร์จากบริษัทในอุตสาหกรรมชิป

เพราะในเวลาไม่ถึงปีประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์ดึงดูดการลงทุนจาก 2 บริษัทคิดเป็นเงินรวมกัน 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 293,800 ล้านบาท) เลยทีเดียว/nikkei, wikipedia, cnbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online