มีเลีย เชียงใหม่ จิ๊กซอว์ล่าสุดของ AWC ที่เชื่อว่า การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว
เมื่อวานนี้ (10 เม.ย. 65) AWC เปิดตัวโรงแรมใหม่ล่าสุด “มีเลีย เชียงใหม่”
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เชื่อมั่นในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย และเชื่อว่าเมื่อฟ้าเปิดธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นแม้ถูกพายุของวิกฤตโควิด-19 กระหน่ำซัดอย่างหนัก ในปี 2564 ที่ผ่านมาเธอได้ซื้อกิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอต่อเนื่อง
เริ่มจากซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา สูง 14 ชั้น อยู่ติดถนนเลียบหาดจอมเทียน มีห้องพัก 287 ห้อง รวมมูลค่าการลงทุน 1,838 ล้านบาท
หลังจากนั้นก็ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินริมน้ำประวัติศาสตร์ “ล้ง 1919” จากบริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปีเศษ ด้วยงบลงทุน 3,436 ล้านบาท สร้างเป็น “The Integrated Wellness Destination” บริหารโดย The Ritz Carlton Hotel
ล่าสุด ปลายปีที่ผ่านมาได้ซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก จากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบลงทุน 435 ล้านบาท
ส่วนปีนี้ บริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของภาคเหนือ จึงได้ตั้งเป้าเสริมพอร์ตคุณภาพของ AWC ในภาคเหนือให้ครบ 3 แห่งภายในปี 2565
โดยจับมือกับพันธมิตรระดับโลกทั้งจากเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล (เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่) เครือมีเลีย (มีเลีย เชียงใหม่) และเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป หรือ IHG กับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ เพื่อผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวระดับลักชัวรีของภูมิภาคและของประเทศต่อไป
สำหรับโรงแรม มีเลีย เชียงใหม่นั้น ถือเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวขนาด 260 ห้องพัก ตั้งอยู่บนพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับไพร์ม โลเคชั่น ใกล้แม่น้ำปิงและไนท์บาซาร์
ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่และของภาคเหนือภายใต้แบรนด์มีเลีย ผู้บริหารรีสอร์ตชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปจากประเทศสเปน
ภายในโรงแรมได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “CHIANGMAI CHARM” โดยผสมผสานอัตลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมนต์เสน่ห์ ผ่านการตกแต่งภายในด้วยศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นร่วมสมัย
รวมไปถึงการนำเสนออาหารและผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชนที่แสดงถึงเอกลักษณ์และคุณค่าของจังหวัดเชียงใหม่ เน้นใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิด “360 Cuisine” ที่โรงแรมได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรในท้องถิ่น โดยเน้นวัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้คัดสรรมาจากฟาร์มออร์แกนิกไม่ว่าจะจากโครงการหลวง หรือ Ori9in Farm ที่เชียงใหม่
มีไฮไลท์จุดชมวิวทิวทัศน์อันงดงามจาก “ไหม เดอะ สกาย บาร์” ซึ่งถือเป็นรูฟทอปบาร์บนยอดอาคารที่สูงที่สุดในเมืองเชียงใหม่
วัลลภากล่าวว่า
วันนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยนั้นอาจจะยังไม่ชัดเจน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในประเทศ คือกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่เธอมั่นใจว่า เชียงใหม่คือจังหวัดเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ดังนั้นหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายในปี 2565 ทุกกลุ่มธุรกิจของ AWC จะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
สอดคล้องกับเทรนด์การเดินทางที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบ Long Stay และ Workation ซึ่งทำให้เกิดการเดินทางในวันธรรมดามากขึ้น เปิดโอกาสให้บุคลากรในหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ และกลุ่มคนวัยทำงาน สามารถเปลี่ยนสถานที่ทุกที่ให้เป็นที่ทำงาน ท่ามกลางบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ครึ่งปีแรกหลังรัฐบาลยกเลิก Test & Go จะมีผลอย่างไรกับตลาดต่างประเทศ บ้างนั้น
วัลลภาให้ความเห็นว่า
ตั้งแต่เมษายน 2565 มียอดจองห้องพักดีขึ้นมา รวมทั้งทั่วโลกสนใจจองจำนวนมาก เพราะเราเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เชื่อว่าในไตรมาส 3 และ ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะชัดเจนขึ้น
“ได้มีโอกาสคุยกับเชนโรงแรมระดับโลก ที่ประเทศมัลดีฟส์ เปิดขายตอนแรกห้องพักรีสอร์ตทำราคาได้ 800 ดอลลาร์สหรัฐ/ห้อง/คืน ช่วงที่พีกมาก ๆ ขยับถึง 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ห้อง/คืน คิดว่าประเทศไทยก็น่าจะสามารถตั้งราคาได้สูงเช่นกัน”
ปัจจุบัน AWC มีกลุ่มโรงแรมในเครือทั้งหมด 19 แห่งที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศใน 6 เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง กรุงเทพฯ กระบี่ หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ และเกาะสมุย โดยมีจำนวนห้องพักรวมกันกว่า 5,201 ห้อง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



