หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออก 2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงได้ออกมาให้ความเห็นต่อการเกิดขึ้นของมาตรการลดหย่อนภาษี รวมทั้งผลกระทบต่อภาพรวมค้าปลีกไทยในปี 2559 ดังต่อไปนี้
1.เก้าเดือนแรกของปี 2558 ทิศทางการผลักดันเศรษฐกิจมุ่งไปยังการปรับโครงสร้างและการส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เข้าเป้าหมาย สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เคยคาดการณ์เมื่อต้นไตรมาศที่ 4 ว่า ดัชนีค้าปลีกตลอดทั้งปี น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ซึ่งลดลงจากปี2557 ที่เติบโตร้อยละ 3.2
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเดือนกันยายน ภาครัฐก็ได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 136,000 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังซื้อยังอ่อนแอ โดยกระจายรายได้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกทิศถูกทาง แม้เม็ดเงินค่อนข้างน้อย 136,000 ล้าน เมื่อเทียบกับ GDP ทั้งปี ก็ราว 0.7%
3.ผลจากมาตรการ “ช้อปเพื่อชาติ” ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและส่งให้อารมณ์ (mood) ของการจับจ่ายสูงขึ้น โดยถือว่าเป็นมาตรการที่มา “ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา” เชื่อว่า น่าจะมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณการ 25,000 ล้านบาท ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 125,000 ล้านบาท
4.แม้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ “ช้อปเพื่อชาติ” นี้จะมีราว 3.2ล้านคนจากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน (ข้อมูลปี 2556) แต่ก็เป็น 3.2 ล้านคนที่ยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรง โดยมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านภาคการค้า (ค้าปลีก ค้าส่ง และ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่อยู่ในระบบภาษี) ได้มุ่งไปยังผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งกำลังซื้อยังค่อนข้างแข็งแรง ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่วงจรเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ไปสู่ท้องถิ่นต่างจังหวัด ซึ่งกำลังซื้ออ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น
5.หมวดสินค้าที่ขายดีที่สุดคือสินค้ากึ่งคงทน หรือสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ลักชัวรี่แบรนด์ จากที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการรองลงมาจากหมวดสินค้าคงทน กลับเป็นกลุ่มที่ขายดีสุดโดยมียอดขายเติบโต 35% และมีลูกค้าเพิ่ม20%
6.หมวดสินค้าคงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างอุปกรณ์กีฬา จากที่คาดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่าหมวดอื่นๆ แต่กลับมียอดเติบโตเป็นรองหมวดสินค้ากึ่งคงทน โดยมียอดขายโต 25% และมีลูกค้าเพิ่ม15%
7.หมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นหมวดที่ได้ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ โดยมียอดขายโต 10% มีลูกค้าเพิ่ม 12% สินค้ากลุ่มของกิน ช็อคโกแลต กาแฟ เป็นกลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุด
8.ผลจากกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 มาตรการ ทำให้ภาพรวมค้าปลีก (ประมาณการณ์) เติบโตร้อยละ 3.05 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้ร้อยละ 2.8
9.ทิศทางเศรษฐกิจปี 2559 เชื่อว่า น่าจะดีขึ้นกว่า ปี 2558 ซึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมุ่งเน้นไปที่กลไกภาครัฐเป็นหลัก นับตั้งแต่ การลงทุน Mega Project (ที่ต้องหวังให้มาตามนัด)และสร้างมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนต่อเนื่อง ในส่วนภาคค้าปลีกเอง ก็ยังต้องอาศัยกำลังซื้อละการบริโภคภายในเป็นหลัก ซึ่งก็ยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างงานสร้างรายได้ลงสู่รากหญ้า โดยคาดว่าปี 2559 ภาคค้าปลีกน่าจะโตขึ้นราว 3.2-3.5%
10.เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเม้นท์เดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงควรจะต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่นชั้นนำ (Luxury Brand)เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยมียอดค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันอยู่ที่ราว 5,000 กว่าบาท 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,400 เป็นค่าใช้จ่ายในการช้อปปิง ซึ่งน้อยกว่าสิงคโปร์ 2 เท่า และน้อยกว่าฮ่องกงถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
ที่มา : สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, มกราคม 2558
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ