เมื่อคุณกำเงินเดินเข้าไปในร้านหรูอย่าง Tiffany & Co คุณจะซื้อสินค้าของเขาได้ทุกอย่าง มีเพียงอย่างเดียวในร้านที่คุณซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากมายแค่ไหน นั่นก็คือเจ้ากล่องสีฟ้าอมเขียวสดใสที่มีชื่อแบรนด์อยู่บนนั้นนั่นเอง เพราะ Tiffany & Co ไม่ขายกล่องเปล่า ๆ วิธีเดียวที่คุณจะได้กล่องสีฟ้าสวยไปครอง ก็คือซื้อสินค้าของเขาเท่านั้น
เชื่อว่าเมื่อพูดถึงแบรนด์เครื่องประดับเลอค่าอย่าง Tiffany & Co สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวของใครหลาย ๆ คนน่าจะเป็นสีที่จะเรียกว่าฟ้าก็ไม่ใช่ เขียวก็ไม่เชิง อธิบายอย่างไรก็ไม่เห็นภาพ นอกจากจะอธิบายด้วยคำว่า ‘สีฟ้าทิฟฟานี’ จึงจะเข้าใจได้ตรงกัน
สีฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์นี้ครองใจคนแทบทั้งโลก รวมไปถึงแบรนด์หรูอย่าง Rolex หรือ Omega เองก็ยังออกแบบนาฬิกาที่มีสีสันใกล้เคียงกับสีฟ้าทิฟฟานีออกมา และรุ่นที่มีสีฟ้าทิฟฟานีนี่แหละที่มักจะเป็นที่ต้องการของตลาดกว่าสีอื่น ๆ Tiffany & Co ทำอย่างไรให้สีฟ้าที่ดูไม่ได้แปลกใหม่ไปกว่าสีไหน กลายเป็น iconic color ระดับโลกได้ถึงขนาดนี้
Tiffany box
จุดเริ่มต้นของสีฟ้าบันลือโลก
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1837 ตอนนั้น Charles Lewis Tiffany และ John B. Young เปิดร้านขายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานคุณภาพดี โดยตั้งชื่อร้านว่า Tiffany & Young ต่อมาในปี 1845 ทางร้านก็จัดพิมพ์แค็ตตาล็อกขึ้นมาโดยใช้สีฟ้าเป็นสีหน้าปก จนเมื่อปี 1966 แบรนด์ได้ค้นพบสีฟ้าที่ใกล้เคียงกับสีฟ้าทิฟฟานีในปัจจุบันมากที่สุด และเลือกโทนสีนั้นเป็นสีประจำหน้าปกแค็ตตาล็อกมาตลอด
แต่ในการเลือกสีครั้งนั้นก็มีหลายทฤษฎีที่คนเล่าต่อ ๆ กันมา บางทฤษฎีก็ว่า Charles Lewis Tiffany เลือกสีฟ้านี้เพราะมันเหมือนสีเทอร์ควอยซ์ซึ่งเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงศตวรรษที่ 19
ยุคนั้นเจ้าสาวจะนิยมแจกเข็มกลัดเทอร์ควอยซ์เป็นของที่ระลึกสำหรับแขกที่มาร่วมงาน ไม่นานสีฟ้าเทอร์ควอยซ์นี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราทันสมัยไปในที่สุด
แต่ก็มีอีกทฤษฎีที่แย้งว่าสีนี้ถูกใช้ตามสีกระโปรงในภาพวาดของ Eugenie de Montijo (พระชายาของสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่สาม) ต่างหาก ว่ากันว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์ Tiffany & Young ในตอนนั้นเห็นภาพแล้วก็รู้เลยว่าสีนี้แหละจะต้องเป็นสีที่ฮิตไปทั้งโลกแน่นอน
แต่ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหนก็ช่าง ผลที่ตามมาก็เป็นอย่างที่เห็น สีฟ้าทิฟฟานีกลายเป็นภาพจำของแบรนด์ เพราะแบรนด์เลือกใช้สีนี้กับทุกอย่าง ตั้งแต่บูธแสดงสินค้าที่ฝรั่งเศสในปี 1889 จนถึงกล่องใส่แหวนเล็กจิ๋วที่เป็นที่ต้องการของสาว ๆ ทั่วโลก
และในปี 1998 แบรนด์ก็จดทะเบียนจับจองสีฟ้าเฉดนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายการค้า ในปี 2001 Tiffany & Co ได้ใช้บริการ Pantone Standard เพื่อทำให้สีฟ้าอ่อนที่แสนสดใสนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกมิติของแบรนด์ พวกเขาต้องการแน่ใจว่า เมื่อลูกค้าเห็นสีฟ้าเฉดนี้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนในโลก พวกเขาก็จะนึกถึง Tiffany & Co ขึ้นมาทันที
Pantone ระบุชื่อสีฟ้าเฉดนี้ว่า ‘1837 Blue’ ตามปีที่ Tiffany & Young ก่อตั้งขึ้น และเจ้าสีฟ้าทิฟฟานีที่คนแทบจะทั้งโลกตกหลุมรักก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ
Blue book ที่มา Tiffany & Co
สีสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากน้อยแค่ไหน
80% ของการรับรู้ในมนุษย์เรานั้นมาจากทางสายตา และที่สำคัญมากไปกว่าตัวหนังสือหรือรูปทรงต่างๆ ก็คือสีนั้นเอง สีที่แบรนด์เลือกใช้จะเป็นตัวแทนของทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสินค้า แบรนด์ พนักงาน รวมไปถึงความรู้สึกต่าง ๆ ที่ลูกค้าควรจะได้รับจากแบรนด์
ดังนั้นการออกแบบสีประจำแบรนด์ที่ใช่และปังนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะสีแต่ละสีก็มีเรื่องราวและอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ทั้งนั้น แบรนด์จำเป็นต้องเลือกสีที่สื่อสารได้ตรงกับคอนเซ็ปต์มากที่สุด
จะเห็นได้ว่าอำนาจของสีนั้นไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ อย่างเช่นสีฟ้าทิฟฟานีที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ เจ้าสีฟ้าที่เหมือนไข่นกโรบิน (Robin’s egg blue) ดูเรียบง่ายก็จริง แต่มีความรู้สึกหลากหลายซ่อนอยู่ในนั้น แวบแรกเราอาจจะรู้สึกว่าสีฟ้านี้น่ารัก สดใส ขี้เล่น แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกได้ถึงความสง่า ลุ่มลึก และหรูหราไปพร้อม ๆ กัน
Tiffany & Co.
เมื่อสีฟ้าทิฟฟานี ไปอยู่กับนาฬิกาแบรนด์ไฮเอนด์
เมื่อปีที่แล้ว Patek Phillippe ได้ออกนาฬิการุ่น Nautilus Tiffany & Co ซึ่งเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 170 ปีระหว่างทั้งสองแบรนด์ออกมา นับเป็นการจับคู่สินค้าแบรนด์ไฮเอนด์ที่สมน้ำสมเนื้อและทำให้นักสะสมนาฬิกาทั่วโลกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการผสานความสวยของสีฟ้า iconic กับนาฬิกาแบรนด์ที่ถือว่าเป็น Holy Trinity ของวงการ แถมยังเป็นครั้งแรกที่ Tiffany & Co ยอมให้โลโก้ของตัวเองไปอยู่ร่วมกับแบรนด์อื่นอีกด้วย
สนนราคานาฬิกา Nautilus รุ่น Tiffany & Co นี้เคาะออกมาที่ประมาณ 1,700,000 บาท แถมยังผลิตออกมาเพียง 170 เรือนเท่านั้น ที่น่าทึ่งก็คือในงานประมูลเพื่อการกุศลในนิวยอร์ก นาฬิการุ่นนี้ถูกประมูลไปด้วยราคา 200 กว่าล้านบาท มากกว่าราคา official retail ถึง 120 เท่า
Patek Phillippe watch
หลังจากนั้นไม่นาน อีกหนึ่งแบรนด์หรูที่ครองตลาดโลกอย่าง Rolex ก็โดดมาเล่นกับสีทิฟฟานีด้วยเช่นกัน นาฬิการุ่น Oyster Perpetual ของ Rolex เองออกมาให้เลือกหลายเฉดสี
หากแต่สีที่ราคาพุ่งที่สุด และเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลกมากที่สุด ก็คือสี turquoise blue ที่เหมือนสีฟ้าทิฟฟานีราวกับแกะนั่นเอง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1978 Rolex เองก็เคยปล่อยนาฬิการุ่น President ตัวเรือนสีทองหน้าปัดสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ออกมาให้โลกยลโฉมแล้วรอบหนึ่ง แต่บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการผิดที่ผิดเวลา เพราะตอนนั้นนาฬิกาสีฟ้าเทอร์ควอยซ์รุ่นนี้ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร แต่กับ Oyster Perpetual สี turquoise blue นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย เพราะตอนนี้ราคา resell เฉพาะรุ่นนี้สีนี้นั้นพุ่งไปเกินล้าน (อ้างอิงจาก chrono24.com)
Rolex Oyster
นอกจาก Patek Phillippe และ Rolex แล้ว อีกหนึ่งแบรนด์หรูคู่ข้อมือเจมส์ บอนด์อย่าง Omega ก็มาร่วมวงส่งสีฟ้าทิฟฟานีออกมาขโมยตังค์ในกระเป๋าลูกค้ากับเขาด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดในตอนนี้คงจะเป็น Swatch x Omega นาฬิกาคอลเลกชันท่องเที่ยวจักรวาลที่สร้างปรากฏการณ์ห้างแตกมาแล้วทั่วโลก
สีฟ้าทิฟฟานีถูกใช้เป็นตัวแทนของรุ่น Mission to Uranus ราคา resell ตอนนี้พุ่งไปราวห้าหมื่น จากราคาเดิมเพียงแปดพันกว่าบาทเท่านั้น (อ้างอิงจาก Chrono24.com) และก็เป็นสีที่นักสะสมทั่วโลกต่างจ้องจะคว้าเป็นอันดับต้น ๆ ของคอลเลกชันนี้
Swatch x Omega
นอกจากแบรนด์หรูที่หยิบยกมาเล่าทั้งสามแบรนด์แล้ว เมื่อลองหันไปดูตลาดนาฬิกาในยุคหลัง ๆ มานี้ ก็จะพบว่าแต่ละแบรนด์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างพากันส่งนาฬิกาสีฟ้าทิฟฟานีลงตลาดมาให้นักสะสมได้จับจองกันทั้งนั้น สนนราคาก็มีทั้งสบายกระเป๋า พอจับต้องได้ ไปจนถึงราคาสูงเสียดฟ้า ให้ได้เลือกกันตามงบในกระเป๋า
เซียนนาฬิกาทั้งหลายต่างออกมาวิเคราะห์กันว่าปรากฏการณ์สี tiffany blue บนข้อมือนี้จะอยู่ยั้งยืนยง หรือเป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่เชื่อแน่ว่าแม้วงการนาฬิกาจะเปลี่ยนสีฮิตไปเป็นสีอื่นแล้ว แต่สี Tiffany ก็ยังคงมนต์ขลังและความหรูหราที่สบายตาสบายใจต่อไปอย่างไม่เสื่อมคลาย
ที่มา: Pantone.com / Elle.in / Cnbc.com / CNN.com / Monochrome-watches.com
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



