เทรนด์รักษ์โลกกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนโต๊ะอาหารเท่านั้น ยืนยันได้จากแฟชั่นไอเทมทำจากพืชของแบรนด์แฟชั่น ตั้งแต่แบรนด์เล็กไปถึงแบรนด์หรู
รองเท้าและกระเป๋าหนังเทียม (Plant-based) ทำจากพืช เริ่มมีให้เห็นเพิ่มขึ้น หลังแวดวงแฟชั่นหันมามาสนใจวัตถุดิบดังกล่าวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจนต่อยอดไปสู่การลงทุนกันมากขึ้น โดยแบรนด์ในกลุ่มนี้มีแบรนด์หรูอย่าง Gucci และ Balenciaga รวมอยู่ด้วย
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในนวัตกรรมที่มีการต่อยอดและพัฒนาจนได้รับความสนใจมากสุดคือเนื้อเทียมจากโปรตีนพืช ซึ่งผลักดันให้ Beyond Meat ทำ IPO มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,600 ล้านบาท) เมื่อปี 2019 ถือเป็น IPO ใหญ่สุดของบริษัทอเมริกัน นับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008
ถัดจากนั้นตลาดนวัตกรรมอาหารรักษ์โลกก็ทวีความคึกคัก มีอาหารทางเลือกทำจากพืชหรือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกสู่ตลาดมากมาย เช่น นมข้าวโอ๊ตของ Oatly ที่ทำ IPO ไปเมื่อปี 2021
และ Wildtype เนื้อปลาแซลมอนเทียมจากเซลล์ไข่ปลาภายใต้การสนับสนุนของ Jeff Bezos มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon ที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะเพิ่งระดมทุนได้มากถึง 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท)
ท่ามกลางการคาดกันว่า เมื่อถึงปี 2029 มูลค่าตลาดเนื้อเทียมทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.6 ล้านบาท) คิดเป็น 10% ของตลาดเนื้อแปรรูปทั้งหมด
คาดการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นความจริงหลังแบรนด์อาหารใหญ่ ๆ รุกสู่ตลาดเนื้อเทียมบ้าง นำมาสู่การพัฒนาเนื้อเทียมเองขึ้นมา ลงทุนและซื้อกิจการบริษัทเนื้อเทียมมาอยู่ใต้ชายคา โดยนี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นเช่นกัน
Lerins แบรนด์แฟชั่นอังกฤษเพิ่งเปิดตัวรองเท้ากลุ่ม Sneaker หนังเทียมทำจากผิวองุ่น ราคาคู่ละ 130 ปอนด์ (ราว 5,500 บาท) ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเป็นหนังเทียมจากพืชแล้ว เปลือกองุ่นยังเป็นส่วนที่เหลือจากการทำไวน์ จึงสามารถลดขยะได้อีกด้วย
ด้าน Kering ยักษ์เครือแฟชั่นและบริษัทแม่ของ Gucci กับ Balenciaga ก็ได้ลงทุนในการพัฒนาหนังเทียม และผลักดันรองเท้าทำจากวัสดุดังกล่าวออกแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า เงินลงทุนในการพัฒนาหนังเทียมจากแบรนด์แฟชั่นและนักลงทุนด้านนวัตกรรมเมื่อปี 2021 สูงถึง 980 ล้านดอลลาร์ (ราว 34,000 ล้านบาท)
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญทำให้ตลาดหนังเทียมจากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น องุ่น สับปะรด ตะบองเพชร หรือแม้กระทั่งเห็ด โตได้อีก ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการฆ่าสัตว์และลดขยะได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหนังเทียมยังพัฒนาอีกพอสมควรเพื่อให้ ‘เขียว’ อย่างแท้จริง เพราะยังจำเป็นต้องใช้พลาสติกเคลือบเพื่อเพิ่มความคงทน/theguardian
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ