เนื้อปลาแซลมอนเทียม จาก Amazon ย้ำตลาดนวัตกรรมอาหารกำลังโต
จับตาดูการขยายตัวของตลาดนวัตกรรมอาหาร ที่ล่าสุดเนื้อแซลมอนเทียมกำลังคึกคัก หลังได้แรงหนุนสำคัญจากมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก
Wildtype บริษัทนวัตกรรมอาหารในสหรัฐ กำลังเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อพัฒนาเนื้อแซลมอนเทียมจนสามารถผลิตในปริมาณมาก ไปวางขายตามห้างค้าปลีกและกระจายไปตามร้านอาหารญี่ปุ่นได้ พร้อมความเชื่อมั่นว่าถ้าไปถึงจุดนั้นจะแก้ไขหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับแวดวงปลาแซลมอนได้อีกด้วย
ความนิยมในอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมนูปลาดิบและซูชิ ทำให้ปลาแซลมอน คือหนึ่งในเนื้อปลาที่เป็นที่ต้องการมากสุดในโลก
ทว่าขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งการทำประมงมากเกินไปจนปลาในธรรมชาติโตไม่ทัน ซึ่งตามข้อมูลของ สหประชาชาติระบุว่าระหว่างปี 1983-2016 ปริมาณปลาแซลมอนธรรมชาติในมหาสมุทรแถบแอตแลนติกเหนือลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังทำให้บรรดาฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอน ต้องใช้ทุกวิธีเพื่อเร่งให้ปลาแซลมอนให้โตทันความต้องการพร้อมเสิร์ฟขึ้นโต๊ะ จนเนื้อปลามีสารแปลกปลอมที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งสารเร่งโต ยาปฏิชีวนะ และพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อน ขณะเดียวกันการเลี้ยงฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนก็ยังเป็นตัวการก่อมลพิษให้ระบบนิเวศน์อีกด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นในปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดกลุ่มบริษัทนวัตกรรมอาหารที่เน้นพัฒนาเนื้อปลาแซลมอนเทียมขึ้น ท่ามกลางตลาดอาหารเทียมจากโปรตีนพืชที่คึกคักจนถูกจับตามอง
และนำไปสู่ IPO ในสหรัฐของบริษัทเนื้อเทียม Beyond Meat และนมข้าวโอ๊ต Oatly จนแบรนด์อาหารใหญ่ๆ อย่าง อยู่เฉยไม่ได้ Nestle และ Kellogg’s ต้องรุกตลาดเนื้อเทียมด้วย
ในส่วนของบริษัทเนื้อเทียม มีจุดร่วมอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การสนับสนุนทางการเงินจากมหาเศรษฐีหรือคนดังที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ยืนยันได้จาก Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft) คือหนึ่งในผู้ที่ลงทุนใน Beyond Meat ขณะที่ Howard Schultz -CEO ของ Starbucks) และ JayZ มหาเศรษฐีวงการ Hip-Hop ก็ร่วมลงใน Oatly
ล่าสุดมีอีกบริษัทได้แรงหนุนจากมหาบรรดามหาเศรษฐีและคนดังหัวใจสีเขียวเช่นกัน โดย Wildtype ระดมทุนได้รวม 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,300 ล้านบาท) จากบรรดานักลงทุน ซึ่งในจำนวนนี้ มี Jeff Bezos มหาเศรษฐี และนักแสดงดังอย่าง Leonardo DiCaprio รวมอยู่ด้วย
Jeff Bezos
Justin Kolbeck ผู้ร่วมก่อตั้ง Wildtype กล่าวว่า แรงหนุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทที่ตนร่วมปลุกปั้นมา พัฒนาไปได้เร็วขึ้น ส่วน Arye Elfenbien ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน ซึ่งควบตำแหน่งหัวเรือใหญ่ฝ่ายชีวเคมีโมเลกุล กล่าวว่าเนื้อแซลมอนของ Wildtype สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย หมดห่วงเรื่องสารเคมีปนเปื้อนต่างๆ
สำหรับ เนื้อปลาแซลมอนเทียม ของ Wildtype เพาะขึ้นมาจากเซลล์ไข่ โดยมีจุดแข็งอยู่ที่ใช้เวลาผลิตเพียง 4 ถึง 6 สัปดาห์ แตกต่างอย่างชัดเจนจากปลาแซลมอนในฟาร์มที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 2 ถึง 3 ปีกว่าจะโตเต็มที่จนสามารถจับส่งขายได้
ประเด็นที่ต้องจับตามองว่าจากนี้ คือพัฒนาการของ Wildtype ทั้งในด้านปริมาณ ศักยภาพทางธุรกิจและตัวเนื้อปลา โดยในประเด็นหลังท้าทายอย่างมาก เพราะในเมื่อปลาแซลมอน คือปลาที่กินแบบดิบ รสชาติและรสสัมผัสจึงต้องทำให้เนื้อปลาเทียมใกล้เคียงกับเนื้อปลาจริงมากที่สุด
ทั้งนี้ Wildtype ไม่ใช่บริษัทสหรัฐบริษัทบริษัทเดียวที่มุ่งพัฒนาเนื้อปลาเทียม และเนื้อหอมในหมู่นักลงทุน โดย Finless Food กับ BlueNalu ที่พัฒนาเนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินเทียม ก็เพิ่งระดมทุนได้ 34 และ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,100 และ 2,000ล้านบาท) ตามลำดับ
ส่วนตลาดเนื้อเทียมทาง Barclays บริษัทวาณิชธนกิจใหญ่ของอังกฤษ ประเมินว่าจะโตต่อเนื่อง จนปี 2029 มูลค่าตลาดทั่วโลก เพิ่มเป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 10% ของตลาดเนื้อแปรรูปทั้งหมด / cnn
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ