GDH จะเป็นอย่างไร ? ในวันที่ไร้นาดาวผู้พัฒนาศิลปิน (วิเคราะห์)

หลังจากที่ ย้ง ทรงยศ ประกาศยุติบทบาท นาดาว บางกอก ในฐานะ บริษัทพัฒนาและดูแลศิลปิน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

ภายหลังคำประกาศนี้ GDHหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของนาดาวจึงขอถอนหุ้นทั้งหมดจากบริษัทนาดาว บางกอก

ส่วนนาดาว บางกอก จีนา บอกกับเราว่ายังคงไม่ปิดตัว และมี ย้ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เพียงแต่ไม่ทำธุรกิจพัฒนาและดูแลศิลปินแล้ว

สำหรับหุ้นทั้งหมดที่GDHถืออยู่ในนาดาวมีสัดส่วน 30% ของหุ้นทั้งหมด จากเงินลงทุน 600,000 บาท เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา

จีนา โอสถศิลป์ แห่งGDHบอกเหตุผลถอนหุ้นว่า เมื่อนาดาวไม่มีธุรกิจพัฒนาและดูแลศิลปิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ GDH

GDHก็ไม่ควรเป็นผู้ถือหุ้นในนาดาว เพราะ GMM ผู้ถือหุ้นใหญ่ในGDHเป็น บมจ. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การถือหุ้นในบริษัทที่ไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะสม

เราขอเล่าย้อนสักนิดหนึ่งว่าที่มาของนาดาว บางกอกเป็นอย่างไร และอะไรคือเหตุผลที่ ย้ง ไม่ไปต่อในธุรกิจพัฒนาและดูแลศิลปิน

เนื่องจากจุดเริ่มต้นของGDHในการเป็นผู้ถือหุ้นและร่วมก่อตั้งในนาดาว บางกอก คือความต้องการของจีนา โอสถศิลป์ แห่ง GDH ที่ต้องการให้ ย้ง ทรงยศ ช่วยพัฒนาศิลปินของGDH (หรือเดิมคือ GTH) ที่มีอยู่ประมาณ 3-4 ราย ประกอบด้วย ซันนี่, เต๋อ, เปอร์ สุวิกรม และไมเคิล ศิรชัช

เพราะGDHมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องคอนเทนต์ แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาศิลปิน

แม้ ย้ง มีความตั้งใจแรกคืออยากทำโปรดักชั่น แต่เมื่อย้งมาช่วยพัฒนาศิลปินภายใต้ชื่อนาดาว ที่แปลว่าทุ่งนาปลูกดวงดาว พร้อมกับเปิดซีรีส์ตัวฮอร์โมน ย้งเริ่มมีศิลปินในสังกัดเป็นของตัวเอง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอายุของนาดาว ในเวลานั้นย้งมีแพชชั่นกับนาดาวมากจากการทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

ซึ่งธุรกิจผู้พัฒนาศิลปิน งานหลักคือต้องมีงานให้ศิลปินต่อเนื่อง ทั้งการคิดงานผ่านซีรีส์ หนัง และอื่น ๆ

ที่ผ่านมาเราจึงเห็นศิลปินสังกัดนาดาวออกมาเล่นซีรีส์ หนัง รวมถึงเป็นศิลปินเพลง จากค่ายนาดาวมิวสิค

จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ย้ง เริ่มหมดแพชชั่นกับการพัฒนาศิลปิน และเริ่มปรึกษาจีนาถึงความรู้สึกดังกล่าว

ซึ่งการหมดแพชชั่นของ ย้ง เป็นสิ่งที่จีนาคุยกับย้งมาตลอด 2 ปี และนักแสดงในสังกัดนาดาวรับรู้เรื่องนี้มาตลอด

ทำให้เราได้เห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีศิลปินนาดาวที่ไม่ต่อสัญญาเป็นจำนวนมาก

จนในวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ย้งประกาศยุติบทบาทผู้พัฒนาและดูแลศิลปิน มีผล 1 มิถุนายน 2565

ส่วนศิลปินในสังกัดที่เหลือ จีนามองว่า ศิลปินมีผู้จัดการส่วนตัว และมีโอกาสรับงานและเติบโตได้ด้วยตัวเอง จากโอกาสที่เปิดกว้างในปัจจุบัน

การยุติบทบาทพัฒนาและดูแลศิลปินของนาดาว ถ้ามองในมุมธุรกิจ ถือว่าGDH ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากเงินปันผลของผู้ถือหุ้น

จีนายอมรับว่า ตลอด 12 ปี ที่GDHถือหุ้นในนาดาว GDHมีรายได้จากหุ้นนาดาวรวมกันหลายสิบล้านบาท

และในปีที่ผ่านมา GDHมีผลประกอบการเป็นบวกด้วยตัวเลขรายได้ 258 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ที่มาจากนาดาว บางกอกเช่นกัน

 

เมื่อ GDH ไม่มีหุ้นใน นาดาว บางกอก

แต่GDHยังคงดำเนินต่อไป บนโลกของการสร้างคอนเทนต์หนังโรง ซึ่งเป็นสิ่งที่GDHถนัดเป็นหลัก

จีนาบอกกับเราว่า GDH วางเป้ารายรับปีนี้จะสามารถทำรายได้ 700 ล้านบาท เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2564

รายได้มาจากในประเทศไทย ต่างประเทศ และสตรีมมิ่ง

โดยรายได้จากสตรีมมิ่งไม่ควรต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 173 ล้านบาท

การมาซึ่งรายได้ตามเป้าหมายที่จีนาวางไว้ ประกอบด้วยแนวทางได้แก่

1. ในปีนี้ GDHมีแผนเปิดหนังใหม่ 5 เรื่อง ออกฉายในโรงภาพยนตร์ จากปกติที่ทำหนังเฉลี่ยปีละ 3 เรื่อง

ในปีนี้หนัง 5 เรื่องประกอบด้วย

Fast & Feel Love เร็วโหด เหมือนโกรธเธอ ที่ฉายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

บุพเพสันนิวาส 2 ที่ร่วมกับบรอดคาซ์ท ไทย เทเลวิชั่น และหนังเรื่องนี้จีนาคาดหวังจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

OMG! -Oh My Girl

Home For Rent

และ Me & You

และหนังใหม่ 5 เรื่องนี้ 3 เดือนหลังจากลาโรงจะเปิดให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นผู้เช่าลิขสิทธิ์ให้บริการกับสมาชิก

สุดท้ายคือตลาดต่างประเทศ ผ่านการแนะนำภาพยนตร์ในเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลคานส์ ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลกมองว่าเป็นเทศกาลแห่งการขาย

การที่GDHนำคอนเทนต์เข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง นอกเหนือจากการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ลิขสิทธิ์แล้ว

ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ของGDHเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วย

เนื่องจากโรงภาพยนตร์กลุ่มเป้าหมายหลักคืออายุ 15–วัย First Jobber ที่นิยมออกมาชมหนังในโรงภาพยนตร์

ส่วนวัยที่มีครอบครัวมีลูก การออกมาชมภาพยนตร์ ในโรงภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ไม่สะดวก การนำคอนเทนต์สู่สตรีมมิ่งถือเป็นโอกาสที่จะนำคอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มผู้ชมกลุ่มนี้ ตลอดจนขยายโอกาสใหม่ ๆ ไปยังประเทศอื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอีกด้วย

2. ระดมทุนผ่าน Destiny Token

การที่GDHจะมีเงินหมุนเวียนเพื่อทำหนังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 เรื่องต่อปี จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มขึ้น จีนาจึงใช้วิธีระดมทุน นำร่องทดลองระดมทุนผ่าน Destiny Token

การระดมทุนผ่าน Destiny Token ถ้ามองง่าย ๆ คือการออกหุ้นกู้ให้กับผู้สนใจ

แต่GDHใส่กิมมิกการตลาดเข้าไป ด้วยการให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนหนังด้วยกัน ผ่านเหรียญที่ชื่อว่า Destiny Token ซึ่งผู้ลงทุนที่ซื้อเหรียญนี้จะได้ผลตอบแทน หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่าดอกเบี้ยในอัตรา 2.99% ต่อปี และถ้าหนังเรื่องที่ใช้ผูกกับเหรียญเพื่อระดมทุนประสบความสำเร็จจะได้รับส่วนแบ่งเพิ่มอีก 2.01%

พร้อมกับสร้างความอยากให้ผู้สนใจยอมนำเงินมาระดมทุนเพิ่มขึ้นด้วยกัน ด้วยการนำสิ่งที่GDHมีอยู่มอบให้กับผู้ที่ซื้อเหรียญ เช่น สิทธิดูหนังก่อนลูกค้าทั่วไป รับของที่ระลึกของหนัง และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ

เรื่องแรกที่จีนานำมาเป็นโครงการนำร่องระดมทุนผ่าน Destiny Token คือ บุพเพสันนิวาส 2

โครงการนี้มีอายุสัญญาไม่เกินสองปี ผู้สนใจสามารถระดมทุนผ่านเหรียญสามรูปแบบ

G “I am Glad” ราคา 5,559 บาท จะได้ดูหนังรอบพิเศษก่อนเข้าฉายจริง โดยผู้ถือโทเคนสามารถเข้าไปจองตั๋วในระบบเอสเอฟได้ทั่วประเทศ

เหรียญ D  “I am Delighted” ราคา 155,559 บาท จะได้ชมภาพยนตร์และร่วมกิจกรรมในโรงภาพยนตร์กับผู้กำกับ และนักแสดงนำจากภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2

ซึ่งทั้งสองเหรียญนี้ประชาชนและนักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อได้ เนื่องจาก กลต. มีข้อจำกัดให้นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อเหรียญโทเคนได้ไม่เกินคนละ 300,000 บาท

และเหรียญสุดท้าย เหรียญ H “I am Happy Token” ราคา 1,555,559 บาท จะได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อพิเศษ พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และมีชื่อใน end credit

ซึ่งเหรียญนี้ขายให้เฉพาะบุคคลที่มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป หรือนักลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจาก กลต. อนุญาตให้นักลงทุนกลุ่มนี้สามารถซื้อโทเคนได้มากเท่าที่ต้องการ

จีนาคาดหวังว่า Destiny Token บุพเพสันนิวาส 2 จะขายหมดภายในสองสัปดาห์หลังจากเปิดจำหน่าย และทำให้ GDH สามารถระดมเงินทุนได้ถึง 265,227,633 บาท

และถ้าประสบความสำเร็จโมเดล Destiny Token บุพเพสันนิวาส 2 จะนำไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ

การระดมทุนผ่าน Destiny Token เรามองว่าจะทำให้ GDH มีเงินหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหนังและนักลงทุนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแฟนคลับของหนังได้มากขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกว่าผูกพันกับแบรนด์ GDH ในฐานะเจ้าของ (หนังที่ร่วมลงทุน) รายหนึ่ง เป็นกระบอกเสียงในการช่วยโปรโมตหนังในรูปแบบ Earn Media ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับผลประกอบการของGDH559 ที่เริ่มต้นนับหนึ่งบริษัทในปี 2559 รายงานรายได้กับกรมธุรกิจการค้าจนถึงปี 2563 ดังนี้

2559    289 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท     

2560    443 ล้านบาท กำไร 53 ล้านบาท

2561    425 ล้านบาท กำไร 68 ล้านบาท                 

2562    482 ล้านบาท กำไร 80 ล้านบาท

2563    367 ล้านบาท กำไร 51 ล้านบาท

 

และนับจากนี้GDHจะมีรายได้สวยงามแค่ไหน และย้งจะหาแพชชั่นใหม่ ๆ ในธุรกิจอะไร คงต้องดูกันก่อนไป

แต่ที่สำคัญในวันนี้ GDHไม่มีหุ้นในนาดาว แต่ยังมีหุ้นใน 3 บริษัท ได้แก่ ภาพดีทวีสุข งานดีทวีสุข และเสียงดีทวีสุข

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online