LottoFood ทำไมจึงเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของแบรนด์ใหญ่อย่าง TOA (วิเคราะห์)

TOA คือผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวแนวหน้าของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 50 % ในประเทศ  และได้ขยายฐานการผลิตและเครือข่ายจัดจำหน่ายครอบคลุม 7 ประเทศใน ASEAN โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 14 %

แต่เมื่อย่างเข้าช่วง Low Season ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว TOA จึงต้องขยายธุรกิจนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน เพื่อหารายได้เข้ามาทดแทนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ลดลงไปตามภาพรวมอุตสาหกรรม

TOA จึงได้ผลักดันบริษัทภายใต้เครือของตนอย่าง SWC หรือ บมจ.เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งแข็งแกร่งในธุรกิจ Non Food และ Food ให้เป็นเรือธงในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ด้วยเล็งเห็นการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงได้ส่ง LottoFood ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพจากพืช (Plant Based Food) โดยมอบหมายให้ คุณสิทธิรัฐ วัชราภรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร

สิทธิรัฐ วัชราภรณ์ (คนซ้าย) ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ประธานกลุ่มบริษัทTOA (คนกลาง) ซึโยชิ อิเดะ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไดอิซึ (DAIZ)จำกัด (คนขวา)

TOA มองเห็นอะไรในกระแส Plant Based

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 บริษัท ล้อตโต้ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนบริษัทด้วยทุน 10 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากพืช(Plant Based) ผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ LottoFood  โดยได้พันธมิตรทางธุรกิจที่โปร์ไฟล์ดีอย่าง DAIZ Inc. และ Tanaka Ai Co.,Ltd. ซึ่งเป็น Food startup ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวแทนในการจัดหาวัตถุดิบให้

 ที่มากระแส Plant Based

กระแส Plant Based มาจากการที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนี้

-สนใจสุขภาพ : หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้บริโภคหันมาใส่ใจอาหารการกินของตนมากขึ้น พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง

-ห่วงใยสิ่งแวดล้อม : จากความผิดปกติของสภาพอากาศหรือภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ผู้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเห็นว่ากระบวนการผลิตเนื้อจากพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อจากเนื้อสัตว์จริงๆ 30-90 %

-ความมั่นคงทางด้านอาหาร : จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นวิกฤตขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในหลายประเทศ เนื่องจากทรัพยากรอาหารไม่สมดุลกับจำนวนประชากร และสถานการณ์อาจเลวร้ายขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยน ซึ่ง UN ได้ประมาณการจำนวนประชากรโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า ว่าจะเพิ่มสูงถึง 9.7 พันล้านคนในปี 2050  Plant Based จึงเป็นทางออกสำหรับปัญหา Food Security ให้แก่โลก

-Flexitarian กลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัตครั้งคราว

 

LOTTOFOOD โดย SWC มีแผนจะส่งผลิตภัณฑ์อาหารประเภท Plant Based ซึ่งมีทั้ง ล้อตโต้ ทงคัตซึ (LottoFood Plant Based Tonkatsu), ล้อตโต้ แฮมเบิร์ก (LottoFood Plant Based Hamburg) และ ล้อตโต้ ซอจเซจ (LottoFood Plant Based Sausage) ชูเรื่องรสชาติที่ถูกจริตคนไทย

และความแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อร่อย สุขภาพดี ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพพรีเมียมจากประเทศญี่ปุ่น” ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพ และเป็นทางเลือกใหม่สอดรับกับกระแสการบริโภคอาหารในโลกอนาคต ซึ่งผลิตภัณฑ์อื่นๆทั้งประเภท Ready to Eat และ Ready to Cook จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมความแตกต่าง  & คุณภาพชั้นยอด

LottoFood มาพร้อมกับความมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคนิคเฉพาะ  มีจุดแข็งคือการเลือกใช้ถั่วเต็มเมล็ดเท่านั้น ต่างจากตลาดส่วนใหญ่ที่ใช้เพียงกากถั่ว อีกทั้งเนื้อสัมผัสยังใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์  ทำให้ผู้บริโภคสามารถวางใจได้ทั้งคุณภาพ  รสชาติ  และรสสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร  ด้วยจุดนี้ทำให้มั่นใจได้ว่า LottoFood จะสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างน้อย 10%

ในส่วนของการวางแผนการตลาดปี 2565 สิทธิรัฐ CEO ของผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช (Plant Based) ล้อตโต้ฟู้ด (LottoFood) กล่าวถึงเป้าหมายในปีแรกว่าตั้งเป้าไว้ที่ 50 ล้านบาท และภายใน 3 ปี จะขยับเข้าใกล้ 500 ล้านบาท รวมถึงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาด Plant Based ให้ได้  และส่งสัญญาณในอนาคตอันใกล้นี้ว่า เทศกาลกินเจนี้ จะพบเห็นผลิตภัณฑ์จาก LottoFood วางขายบนเชลฟ์อย่างแน่นอน


ส่องตลาด Plant Based Food

ในระดับโลกความต้องการอาหาร Plant Based Meat เติบโตโดยเฉลี่ย 30% ต่อปี ในขณะที่ตลาดเอเชียเติบโตอยู่ที่ 20% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและไทย Plant Based Meat มีความต้องการคาดว่าจะสูงถึง 200%  อีกทั้งแนวโน้มทั้งภูมิภาคจะเห็นว่าตลาด Plant Based Meat โตถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% ภายในครึ่งทศวรรษ

Plant Based Food เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และมีบริษัททั้งเจ้าใหญ่เจ้าเล็ก ทยอยแจ้งเกิดในตลาดนี้กันมากมาย โดยมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์

2019

แบรนด์ Meat Avatar เจ้าของเมนู “หมูกรอบจำแลง”

แบรนด์ Let’s Plant Meat : เมนูเบอร์เกอร์เนื้อ และเนื้อจากพืชบด

2020

More Meat : ลาบทอดจากพืช

2021

แบรนด์ VG For Love โดย CPRAM (ซีพีแรม) : ข้าวกะเพราหมูพีบี ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่พีบี และอีก7เมนู

แบรนด์ Harvest Gourmet โดย เนสท์เล่ : เบอร์เกอร์เนื้อ ไส้กรอก นักเก็ต เน้นจำหน่ายให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรม

ส่วนแบรนด์ OMG MEAT โดยไทยยูเนี่ยน : หอยจ๊อปู เนื้อปู ซาลาเปาหมูแดง นักเก็ตไก่

และแบรนด์ MEAT ZERO โดยซีพีเอฟ : อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง

อินโนบิก (เอเซีย) บริษัทย่อยของ ปตท. ร่วมกับ NRF จำหน่ายโปรตีนทางเลือก


อ้างอิง : CredenData /Finansia / Krungthai COMPASS / วารสารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online