บทสัมภาษณ์ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส MD เอสซีจี กับแนวคิด พอเพียง เพื่อสังคม

“ น้ำคือ ชีวิต”  คือพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่นๆ

เป็นเวลาเกือบศตวรรษ ที่เอสซีจี ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำมาเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  ภายใต้โครงการ “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ บรรเทาภาวะโลกร้อน คืนคุณภาพชีวิตที่ดี และความสุขสู่สังคมอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำ มาตั้งแต่ปี 2550  และมีเป้าหมายที่จะสร้างฝายชะลอน้ำให้ครบ 70,000 ฝายในปี 2559

สืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559  ที่ผ่านมา เอสซีจีได้สืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลัง เครือข่ายเอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคตทั่วประเทศ  โดยมีพื้นที่หลักของการจัดงาน ณ ชุมชนบ้านโฮมพุเตย อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  พร้อมๆกับอีก5 จังหวัดที่โรงงานของเอสซีจีตั้งอยู่ คือจังหวัด ลำปาง ขอนแก่น  นครศรีธรรมราช สระบุรี และระยอง

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี กล่าวว่าโครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10ปีก่อนโดยได้นำชุมชนรอบโรงงานปูนซิเมนต์ลำปางไปศึกษาการฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ   และกลับมาร่วมกับชุมชนในการสร้างฝายชะลอน้ำจากวัสดุ ธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ อาทิ ไม้ไผ่ ดิน หิน และทราย เพื่อกั้นชะลอการไหลของน้ำ และทำให้น้ำสามารถซึมลงสู่พื้นดินมากขึ้น กลายเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นของป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปางนับเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของเอสซีจี ที่ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และทำหน้าที่ของตนเองในการดูแลรักษาน้ำในแต่ละพื้นที่ให้ดีที่สุด

“SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต”  จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำได้เกินเป้าหมายในแต่ละปี  แต่ยังสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน สร้างจิตสำนึกให้เกิดกับผู้มีจิตอาสาที่เข้าไปร่วมสร้างฝายซึ่งมีตั้งแต่พนักงาน คู่ค้า นักเรียนนักศึกษา สื่อมวลชน รวมไปถึงอาสาสมัครอื่น ๆ กว่า 35,000 คน อีกด้วย

งานยังไม่เสร็จ ไม่ได้จบแค่  70,000 ฝาย

70,000 ฝายเป็นเป้าหมายของปีนี้  แต่เรื่องของ “ฝาย” และการ”รักษ์น้ำ”ยังไม่จบ  เอสซีจียังคงมุ่งมั่นในเรื่องการบริหารจัดการน้ำต่อไปอย่างต่อเนื่อง

“ ตอนนี้เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขว่าปีหน้าจะทำอีกกี่ฝาย  เพราะอยู่ในระหว่างการสำรวจเพื่อหาข้อมูลว่าพื้นที่ไหนมีปัญหา และจะระดมเครือข่ายของเราลงไปช่วยได้อย่างไร    ที่สำคัญต้องให้ทุกคนลงมาช่วยกันทำ  เอสซีจีมาจากภาคธุรกิจ เราก็หวังว่าการที่พนักงานของเราเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้มีความเข้าใจสภาพชีวิตของคนในชุมชนมากขึ้น และน้ำสำคัญกับพวกเขาอย่างไร งานเรายังไม่จบ เหมือนกับที่ในหลวงท่านตรัสกับ ดร.สุเมธ (ตันติเวชกุล)   นั่นล่ะครับ”

รุ่งโรจน์ย้ำว่าสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจอย่างมากคือการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุดเพราะฝายจะอยู่ได้นาน คนที่ดูแลต้องมีความสามัคคี มีความรัก มีความหวงแหน   และมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ร่วมกัน

ก่อนหน้านี้มีการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้ว 68,000  ฝาย แต่ละฝายอายุใช้งานจะประมาณ 2-3ปี   โดยมีชาวบ้านเป็นกำลังหลักในการดูแล  และการที่เอสซีจีเริ่มต้นทำฝายในจังหวัดที่มีโรงงานตั้งอยู่    เพราะต้องการให้คนของบริษัทคอยเข้าไปดูแลและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงด้วย

“ ยอมรับว่าบางจุดทำไป 3 ปีไม่มีใครเข้าไปดูแล เราก็ต้องเข้าไปเริ่มใหม่ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร เมื่อไหร่ที่ชุมชนมีความรัก มีความหวงแหนในสิ่ง พวกนี้เขาจะกลับมาทำเอง เคยมีนะครับบางฝายในจังหวัดกาญจนบุรีนี่ล่ะทำมาเป็น 10 ปี ไม่ดูแลตอนหลังน้ำแล้ง ก็มาเสียดายว่าเคยทำฝายไว้ ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ตอนหลังกลับมาทำใหม่ ก็เป็นบทเรียนที่ดี”

เดินหน้าต่อ ฝาย สระพวง แก้มลิง 

สระพวงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝน เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ในระยะยาว  เป็นอีกโครงการหนึ่งภายใต้โครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ…เพื่ออนาคต

วิธีการของสระพวง คือแบ่งเป็นการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำ เรียกว่า “สระแม่” ส่งน้ำต่อไปยังสระเล็กๆ ที่เรียกว่า “สระลูก สระหลาน” ใกล้ๆ หมู่บ้าน เชื่อมต่อกันเป็นระบบ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรได้ทั้งหมู่บ้าน

“เป็นโครงการที่คล้ายๆกับแนวความคิดเรื่องแก้มลิงของพระองค์ท่าน แต่แก้มลิงส่วนใหญ่จะใช้กับระบบรับน้ำเมื่อน้ำเยอะเช่นเมื่อช่วงฝนตกมาก เกิดน้ำท่วม ก็กักน้ำไว้ใช้ ทำการเกษตรในหน้าแล้ง แต่ สระพวง ต้องทำในหน้าแล้ง โดยการขุดสระไว้ก่อนเพื่อรอน้ำ ”

ปัจจุบันเรื่องของสระพวงกำลังทำการสำรวจร่วมกับกับมูลนิธิอุทกพัฒน์  เพราะเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่ดีทั่วทั้งประเทศ  รู้ว่าชุมชนไหนต้องการและมีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วม คาดว่าอีกไม่นานแผนงานเรื่องสระพวง คงมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น

ส่วนเรื่องแก้มลิง ปัญหาคือต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เอสซีจี มีคน มีเครือข่ายและมีองค์ความรู้ระดับหนึ่ง  แต่ไม่มีที่ดินดังนั้นจำเป็นต้องหาแนวร่วมจากภาครัฐในการทำงาน

“ฝาย สระพวง แก้มลิง เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญและจะทำไปพร้อมๆกัน   ฝาย เป็นการชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ป่า  สระพวงเก็บกักน้ำเพื่อเอาไว้ใช้งาน และแก้มลิง เป็นการป้องกันน้ำท่วมเก็บน้ำที่เหลือไว้ใช้ในยามน้ำขาดแคลนรับผิดชอบชัดเจน”

ทั้ง 3 เรื่องเป็นสิ่งที่เอสซีจีจะทำไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะร่วมกับชุมชนและเครือข่ายต่างๆทั่วประเทศ และเชื่อว่าความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกัน จะนำไปสู่การบริการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

“ ผมเชื่อว่าทุกคนทุกองค์กรรักในหลวงรัชกาลที่ 9  อยากจะสานต่อโครงการที่พ่อทำเหมือนที่เราทำ ผมจึงต้องการเชิญชวนทุกองค์กร มาร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ  ซึ่งเป็นโครงการเพื่อคนไทยทุก ๆคน  และเอสซีจีได้ทำต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี จึงมั่นใจว่ามีองค์ความรู้ระดับหนึ่งที่จะแบ่งปันกันได้”

เอสซีจี องค์กรแสนล้าน “พอเพียง”อย่างไร     

สุดท้าย  เมื่อ Marketeer ถามว่า ได้น้อมนำพระราโชวาท มาเป็นแนวคิดในเรื่องส่วนตัวและชีวิตการทำงานอย่างไร   ผู้บริหารสูงสุดของเอสซีจีตอบว่า

“  คิดว่าในเรื่องความพอเพียงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผม เพราะบางครั้งเราก็ไปเน้นในเรื่องของการทำมาหากิน หารายได้อะไรต่างๆ เมื่อได้เงินมาก็อาจจะใช้แบบไม่ระวัง  แต่คำสอนของท่านทำให้เรา รู้จักใช้ของที่ได้มาอย่างมีคุณค่า ใช้อย่างมีเหตุมีผล และคิดก่อนใช้”

นอกจากนั้นรุ่งโรจน์ยังกล่าวว่าได้นำเอาเรื่องความพอเพียงนี้เป็นแนวทางสำคัญในการทำธุรกิจด้วย

หลายคนอาจจะมองว่า เอสซีจี กับการดำเนินธุรกิจตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่อง ยาก เพราะองค์กธุรกิจต้อง มุ่งหวังกำไรสูงสุดเป็นหลัก

“ น้องๆหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิด คิดว่าความพอเพียง คือการเอากำไรนิดหน่อยก็พอแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่เลย  แต่เป็นเรื่องที่ต้องหาจุดสมดุลในการทำงาน  เป้าหมายของการทำธุรกิจคือต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ทำประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนร่วม  ซึ่งเรื่องนี้เราต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ต้องดูว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดความโลภขึ้น หรือทำเกินตัว  จนไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เราเอง หรือหลายๆบริษัทเคยผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้ว ดังนั้นการที่ได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในมิติที่หลากหลาย จะทำให้องค์กร แข็งแรงมั่นคงขึ้น”

“ความพอเพียง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ เอสซีจีกำลังให้ความสำคัญและหาแนวทางปลูกฝังเรื่องนี้ในใจของพนักงานรุ่นใหม่ๆทุกคน”   ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร 101 ปี กล่าวอย่างมุ่งมั่น

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online