ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ปี 2565 โอกาสและความท้าทาย

ความงามไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น

ในวันนี้เราได้เห็นกระแสชายไทยหันมาเสริมงามให้กับตัวเอง ดูแลตัวเองมากขึ้น

เห็นได้จากในปี 2563 ช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 ในไทย เกิดกระแสการค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายมากถึง 60%

กระแสการค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางในปี 2563 เกิดจากที่ชายไทยอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด และทำให้พวกเขาเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตัวเองมากกว่าที่ผ่านมาจากการเห็นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวในโลกออนไลน์ ประกอบกับเทรนด์ต่างประเทศที่ผู้ชายหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น

ส่วนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากลุ่มผู้ชายค้นหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายถึง 30% ข้อมูลทั้งหมดนี้อ้างอิงจากวัตสัน

แม้การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่ม Men’s Beauty หรือบางคนเรียกว่า Men’s Grooming (เราขอใช้คำว่า Men’s Beauty เรียกแทนกลุ่มนี้ทั้งหมด) ในส่วนของผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ดูแลผิว กลับติดลบในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากที่วัตสันอ้างอิงนีลเส็นพบว่า ตลาด Men’s Beauty ในปีที่ผ่านมาติดลบ 3.81%

จากมูลค่า 7,064 ล้านบาท ในปี 2563 เหลือเพียง 6,795 ล้านบาทในปี 2564

เหตุผลที่มูลค่าตลาดลดลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลงตามมา

แม้ตลาดนี้จะยังติดลบแต่นวลพรรณ ชัยนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วัตสัน ประเทศไทย มองว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโต ที่น่าสนใจ จากพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคชายไทยได้เปลี่ยนไป มองว่าการดูแลผิวไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเพศหญิง แต่เพศชายก็สามารถดูแลผิวที่ลงลึกได้

และมีการขยับขั้นตอนดูแลตัวเองจากล้างหน้า และทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ กันแดด เป็นการดูแลที่ซับซ้อนขึ้น

เช่น ใช้เอสเซ้นส์ น้ำตบ ใช้ลิปทาปาก ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะจุด หรือแม้แต่การใช้เครื่องสำอางลดความมันบนใบหน้า

แต่การดูแลผิวของผู้ชายต่างจากผู้หญิง เพราะผู้ชายไม่ชอบขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องการผลลัพธ์ที่ไว

ส่วนการใช้เครื่องสำอาง จะเป็นการใช้เพียงให้ตัวเองดูดีขึ้น และให้ความรู้สึกเหมือนไม่แต่งหน้า

โดยเฉพาะในกลุ่มเจนมิลเลนเนียลอายุ 20-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ และหน้าตา ที่ต้องการให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ

คนกลุ่มเจนมิลเลนเนียลมีขนาดใหญ่มากถึง 9,650,000 คนในไทย

ที่ผ่านมาอุปสรรคของผู้ชายไทยที่ต้องการดูแลตัวเองคือ สกินแคร์และคอสเมติกสำหรับผู้ชายในตลาดประเทศไทยยังมีตัวเลือกไม่มากนัก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มล้างหน้า ความสะอาดผิว และครีมทาผิวกลุ่มมอยส์เจอร์ไรเซอร์ กันแดดเป็นหลัก

ทำให้ผู้ชายกลุ่มนี้ต้องใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง หรือต้องยอมจ่ายมากขึ้นใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายในกลุ่มเคาน์เตอร์แบรนด์เป็นหลัก

สิ่งเหล่านี้เองทำให้วัตสันมองว่าตลาดนี้มีโอกาสในตลาดสกินแคร์และเครื่องสำอางของผู้ชาย

เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา วัตสันเริ่มนำผลิตภัณฑ์สกินแคร์สำหรับผู้ชายเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกภายใต้แบรนด์ Dermaction Plus by Watsons ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น เซรั่ม โฟมล้างหน้า เอสเซนส์

และต่อยอดเปิดตัวเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ได้แก่ แป้งควบคุมมันและลิป ทำตลาดเมื่อเดือนที่ผ่านมา

การเข้าตลาด Men’s Beauty ของวัตสัน จะเจาะกลุ่ม พรีเมียมแมส จากการมองเห็นช่องว่างในตลาด ที่ตลาดแมสยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้สนองความต้องการผู้บริโภคมากนัก

และเซกเมนต์พรีเมียมแมสยังมีราคาจำหน่ายถูกกว่าเคาน์เตอร์แบรนด์

ในปัจจุบันตลาดของ Men’s Beauty จะประกอบด้วย 3 ตลาดหลัก ได้แก่

ตลาดแมส แบรนด์ที่เน้นผลิตภัณฑ์ล้างหน้า เบสิกครีม เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ กันแดด

พรีเมียมแมส แบรนด์ที่เน้นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ซับซ้อนขึ้น

และเคาน์เตอร์แบรนด์ ที่มีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ซับซ้อน และราคาที่สูง

การเข้าลงเล่นในตลาดพรีเมียมแมสของวัตสันสามารถสร้างการเติบโตใน ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย มากถึง 70% ในปีที่ผ่านมา

และเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายในกลุ่ม Dermaction Plus by Watsons for Men ในปีที่ 2564 มีการเติบโต 136%

โดยการเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าหลักอย่างกลุ่มมอยส์เจอไรเซอร์ โดยเฉพาะ ไวท์เทนนิ่งและไบร์ทเทนนิ่ง

ส่วนยอดจำหน่ายของแป้งและลิปที่วัตสันเพิ่งเปิดตัวไปมียอดจำหน่ายรวมกันมากกว่า 1 ล้านยูนิต

และนอกจากนี้ วัตสันยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชายไทย

ผู้บริหารวัตสันอ้างอิงข้อมูลจาก Research กับเราว่ามีการสำรวจชายไทยเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางพบว่า

ชายไทยมีการใช้

อายไลเนอร์ มากถึง 70%

แป้ง 60%

ดินสอเขียนคิ้ว 50%

 

และเป้าหมายของวัตสันคือต้องการเป็นแบรนด์สำหรับผู้ชาย Top 5 ในตลาดอีก 3 ปีต่อจากนี้ ก่อนที่ตลาดนี้จะกลายเป็นเรดโอเชียนในอีก 5 ปีข้างหน้า

การเกิดขึ้นของตลาดเรดโอเชียนในกลุ่ม Men’s Beauty ในประเทศไทยจะมาจากการกลับมาเป็นปกติของเศรษฐกิจ และตลาด Men’s Beauty จะอยู่ในภาวะแข่งขันที่สูงขึ้น จากแบรนด์ต่าง ๆ ที่เข้ามาลงเล่นในตลาด จากการมองเห็นเทรนด์ของตลาดที่มาพร้อมกับกำลังซื้อที่กลับมา

I-

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online