การเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษครั้งสุดท้ายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรค เมื่อ 20 กรกฎาคม ปรากฏว่า Penny Mordaunt รัฐมนตรีกระทรวงการค้าเป็นคนล่าสุดที่ถูกคัดออก หลังได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ส่งผลให้ต่อไปจะเป็นการขับเคี่ยวกันของสองคนสุดท้ายที่ได้คะแนนมากที่สุด ระหว่าง Rishi Sunak กับ Liz Truss
และหากจากนี้ใครที่ได้คะแนนจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมกว่า 200,000 คน ทั่วประเทศมากสุดก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป เพราะพรรคอนุรักษนิยมครองเสียงมากสุดในสภาสามัญชนหรือสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
นายกฯ Boris Johnson
การเมืองอังกฤษมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อ 7 กรกฎาคม หลังคณะรัฐมนตรีพากันลาออก เพราะทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี Boris Johnson ต่อไปไม่ไหว โดยคนแรก ๆ ที่ลาออกคือ Rishi Sunak รัฐมนตรีคลังหนุ่มเชื้อสายอินเดียวัย 42 ปี
จากนั้นนายกรัฐมนตรี Boris Johnson ก็ทนกระแสกดดันไม่ไหวต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ขอต่อรองว่าจะอยู่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่ากระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคจะเสร็จสิ้น
จากนั้นพรรคอนุรักษนิยมก็ให้ ส.ส. ทั้ง 357 คนของพรรค ได้เลือกหัวหน้าพรรค โดยปรากฏว่าตลอด 5 ครั้งที่ผ่านมา Rishi Sunak มีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ตลอด และแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ที่เสนอตัวเข้ามาและได้คะแนนเสียงอันดับท้าย ๆ ก็ทยอยถูกตัดออกไป จนที่สุดเป็น Liz Truss รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงวัย 46 ปี ที่ได้คะแนนในอันดับ 2
ดังนั้น Rishi Sunak กับ Liz Truss จึงเป็น 2 คนสุดท้ายที่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยม 200,000 คน ทั่วประเทศ จะได้มาออกเสียงชี้ขาดว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
จากนี้ทางพรรคพรรคอนุรักษนิยมจะได้รับบัตรลงคะแนนส่งไปถึงบ้านต้นสิงหาคมนี้ และส่งกลับมายังที่ทำการพรรคก่อน 2 กันยายน จากนั้นจะมีการประกาศผู้ชนะให้ได้ทราบกันในวันที่ 5 กันยายน
ในอีกราว 6 สัปดาห์จากนี้ Rishi Sunak กับ Liz Truss จะได้โต้วาทีประชันวิสัยทัศน์และนโยบายกันหลายรอบผ่านโทรทัศน์ โดยรอบแรกจะมีขึ้นจันทร์ที่ 25 กรกฎาคมนี้
ท่ามกลางการคาดว่าการโจมตีกันที่เคยดุเดือดก่อนหน้านี้จะลดความรุนแรงลง เพราะไม่ว่าใครจะชนะและได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่ 78 ก็ต้องทำงานร่วมกับอีกฝ่ายอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องฟื้นฟูคะแนนนิยมของพรรคในหมู่ประชาชนให้คืนมาอีกด้วย
สำหรับ Rishi Sunak เป็นนักการเมืองเชื้อสายอินเดีย มีโครงการเงินเยียวยาช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ต้องถูกพักงานหรือทำงานอยู่บ้านช่วงประเทศเผชิญวิกฤตโควิดรอบแรก เป็นผลงานสำคัญ และยังเป็นผู้สนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)
Rishi Sunak
แต่ Rishi Sunak ก็มีจุดอ่อนเรื่องการหนีภาษีของ Akshata Murty ภรรยาซึ่งเป็นลูกสาวของ N.R. Narayana Murthy มหาเศรษฐีชาวอินเดียผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Infosys บริษัท IT ยักษ์ใหญ่
ส่วนถ้า Rishi Sunak ชนะเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เขาจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรกในตำแหน่ง
Liz Truss
ฝ่าย Liz Truss ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเธอเคยผ่านงานมาแล้วหลายกระทรวง ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม หรือแม้กระทั่งกระทรวงการคลัง
Liz Truss ถือว่าโดดเด่นในเวทียุโรปและเวทีโลกเมื่อขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเธอมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการช่วยเหลือยูเครนและยังช่วยเหลือชาวอังกฤษที่ถูกควบคุมตัวในต่างประเทศให้ได้กลับบ้านอีกด้วย
Margaret Thatcher
แต่ Liz Truss ก็มีจุดอ่อน โดยเธอคัดค้าน Brexit และยังเคยอยู่พรรคเสรีประชาธิปไตยมาก่อนอีกด้วย โดยถ้าเธอชนะเลือกตั้ง จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ ถัดจาก Margaret Thatcher และ Theresa May ซึ่งต่างก็มาจากพรรคอนุรักษนิยม/the guardian, wikipedia, reuters, japantoday
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ