ผู้ผลิตบะหมี่ซอง 5 บริษัท แถลงข่าวร่วมกันขอขึ้นราคาสินค้าเป็น 8 บาท ต่อซอง หากไม่สามารถปรับราคาได้ อาจต้องลดการขายภายในประเทศ เน้นส่งออกตลาดต่างประเทศแทน

ในวันที่ 15 ส.ค. 65 ณ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารจาก 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด, บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด, บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และบริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด  ได้จัดแถลงข่าวร่วมกัน ขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขายในราคา 6 บาทต่อซอง เป็น 8 บาทต่อซอง

จากซ้ายไปขวา 1.นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด 2.นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด 3.นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) 4.นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด 5.มร.ฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด

บะหมี่กึ่งฯ จัดเป็นสินค้าควบคุมที่เมื่อจะขึ้นราคาต้องแจ้งขออนุญาตปรับขึ้นกับทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาบะหมี่กึ่งฯยืนราคาขายที่ 6 บาท/ซอง มาร่วม 13 ปี แต่ด้วยภาวะสงครามในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น ทั้งแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม จนผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายเจ้าประสบภาวะขาดทุน

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในชื่อแบรนด์ มาม่า ยำยำ ไวไว นิชชิน และซื่อสัตย์ จึงร่วมกันขอขึ้นราคาเป็น 8 บาทต่อซอง หลังจากที่ผ่านมาพยายามขอปรับราคาตามที่คำนวณตามต้นทุนจริงหลายครั้ง แต่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือยืนราคาไว้ที่ 6 บาทในช่วงสถานการณ์โควิด19 แต่ปัจจุบันราคาวัตถุดิบยังคงไม่มีวี่แววดีขึ้น ทำให้ผู้ผลิตขาดทุน และไม่สามารถขายราคา 6 บาทต่อซองต่อไปได้

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว แป้งสาลีจากเดิมเคยซื้อที่200บาท ปรับขึ้นมาถึง 500 บาท ยังไม่รวมต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆที่พุ่งขึ้น 8-35%  โดยเฉลี่ยต้นทุนเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1บาทกว่าต่อซอง ยังไม่รวมค่าแรงที่มีกระแสข่าวจะปรับขึ้นอีก หากไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ อาจต้องแก้ด้วยการบาลานซ์ต้นทุนกับราคาขาย ส่งออกขายขยายพอร์ตต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมสัดส่วนส่งออกขายในต่างประเทศอยู่ที่ 30% พยายามปรับเพิ่มเป็น 40-50%

ด้านของแบรนด์ไวไว นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวว่า จากการปรับราคาของวัตถุดิบ โดยเฉพาะแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบะหมี่กึ่งฯ แม้บริษัทจะปรับลดในส่วนของโปรโมชั่นแล้ว แต่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้ ทำให้สินค้าบางรายการประสบภาวะขาดทุน เช่นเดียวกับนายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด กล่าวเสริมว่า บะหมี่กึ่งฯซื่อสัตย์ก็ขาดทุนแบบติดตัวแดงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการขอขึ้นราคาครั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพราะบะหมี่กึ่งฯคือสินค้าที่ควบคุมราคาโดยรัฐ ต่างจากต่างประเทศที่สามารถแข่งขันได้เสรี

โดยทางมาม่าเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสินค้าในต่างประเทศของมาม่าขอปรับราคาไปแล้ว 2-3 ครั้ง เช่นเดียวกับยำยำที่ได้ปรับราคาสินค้าในต่างประเทศไปแล้ว 2 ครั้ง และปรับเพิ่มด้วยสัดส่วนร้อยละสองหลัก ด้านนิชชินเสริมว่า โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น นิชชินได้แจ้งขอปรับราคาจากเดิมที่ปรับเป็น 5% เพิ่มเป็นอีก 12% เช่นกัน เนื่องจากตลาดต่างประเทศนั้นสามารถปรับราคาตามต้นทุนจริงได้

ก่อนหน้านี้แบรนด์ต่างๆจะมีสัดส่วนการขายในประเทศมากกว่า เพราะจำกัดไว้ให้ตลาดในประเทศก่อน โดยมาม่าและไวไวมีสัดส่วนขายในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30% ส่วนยำยำขายในประเทศที่ 75%ต่างประเทศ 25% ซื่อสัตย์ในประเทศและต่างประเทศครึ่งต่อครึ่ง 25%

ส่วนสินค้าที่มีราคาขาย 6 บาท คิดเป็นสินค้าสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของทุกแบรนด์  มาม่ามีสัดส่วนบะหมี่กึ่งฯราคา 6 บาท อยู่ที่ 70-80%  ไวไว ยำยำ และซื่อสัตย์70%  ส่วนนิชชิน 30%

หากกรมการค้าภายในไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา แบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นเห็นตรงกันว่า อาจต้องลดการปริมาณการขายในประเทศลง โดยลดการขายแบบเอาสินค้าบางรายการออกไปจากเชลฟ์แทนการลดแบบTotal แล้วส่งออกขายในตลาดต่างประเทศในปริมาณที่มากขึ้นแทน เนื่องจากสามารถขายได้ในราคาที่คำนวณตามต้นทุนจริงได้

สำหรับการขอขึ้นราคา ทางบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นตัวแทนยื่นหนังสือเร่งรัดขอขึ้นราคากับทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในเช้าวันที่ 16 ส.ค. (พรุ่งนี้)

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online