ส่องกลยุทธ์ BYD บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในจีน จากจุดเริ่มต้น สู่ผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก และไทม์ไลน์การเข้ามารุกตลาดไทย อย่างเป็นทางการในปี 2565 หลังเปิดตัว BYD Atto 3 รถยนต์นั่งไฟฟ้า พวงมาลัยขวาในไทยเรียบร้อยในวันนี้ (10 ต.ค.65hgf) เคาะราคา 1,199,900 บาท

จุดเริ่มต้นสู่ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโลก

บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด หรือ บีวายดี (BYD) ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Build Your Dreams ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2538 ในประเทศจีน ภายใต้การนำทัพของ Mr.Wang Chuanfu ประธานและ CEO ของบริษัท โดย BYD นับเป็นองค์กรไฮเทคชั้นนำของโลก มีขอบเขตธุรกิจครอบคลุมทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์, พลังงานใหม่, การขนส่งทางรถไฟ และรถยนต์ 

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของ BYD เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2565 หลังประกาศหยุดผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วน และหันมาเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) แทน

ปัจจุบัน BYD มีเทคโนโลยีหลัก ที่ครอบคลุมห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ระบบมอเตอร์ ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์

Blade Battery นวัตกรรมของ BYD

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค หนีไม้พ้นความปลอดภัยของ แบตเตอรี่ โดย Blade Battery ของ BYD 

นับเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการออกแบบมาได้บาง ตรงตามความหมายของชื่อ Blade – ใบมีด ที่จะช่วยให้สามารถระบายความร้อนได้ดี และกักเก็บพลังงานได้สูงกว่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป

ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของ BYD ที่ทำให้กลายเป็นบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก โดยในเดือนมีนาคม 2563 BYD ได้ปล่อยคลิปวิดีโอ Blade Battery เป็นครั้งแรก 

ซึ่งนำเสนอการทดสอบ Blade Battery ชนิดเอ็กซ์สตรีม ที่เรียกว่า “Nail Penetration Test” และส่งให้ Blade Battery ของ BYD ขึ้นแท่นเป็นแบตเตอรี่ที่ปลอดภัยที่สุดแบรนด์หนึ่ง ในตลาด Blade Battery 

มีข้อได้เปรียบสำคัญ ได้แก่ อายุการใช้งานยาวนาน ระยะการขับขี่ที่ดี และที่สำคัญที่สุด คือมีความปลอดภัยขั้นสูง ช่วยแก้ปัญหา และลดความกังวลด้านความปลอดภัยให้กับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลก

แบรนด์จีนรายแรกที่เข้าสู่ One Million Club

หลัง 27 ปี แห่งการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน BYD ได้ก่อตั้งสวนอุตสาหกรรมไปแล้วกว่า 30 แห่งทั่วโลก และกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมด้าน อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ พลังงานใหม่ และการขนส่งทางราง จากพนักงานเพียง 20 คน สู่ 290,000 คนในปัจจุบัน 

โดยมีวิศวกร R&D มากกว่า 40,000 คน และสถาบันวิจัย 11 แห่ง ทีมออกแบบ in-house ประกอบด้วยนักออกแบบกว่า 400 คน จากกว่า 10 ประเทศ

และในปี 2564 BYD มียอดขายตัวรถยนต์ไฟฟ้า ทะลุ 1 ล้านคัน และกลายเป็นแบรนด์จีนรายแรกที่เข้าสู่ One Million Club ของยานยนต์พลังงานใหม่ 

โดยมีรถยนต์นั่งรุ่นเรือธงของ BYD อย่าง Han EV ที่เริ่มปรากฏให้เห็นในหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

ส่วนการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรก ปี 2565 กลุ่ม BYD ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรจำนวนราว 25,000 ฉบับ จากที่ยื่นขอไปราว 37,000 ฉบับ ทั่วโลก และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซินเจิ้น โดยมีรายได้สูงกว่า 150,000 ล้านหยวน

ทั้งยังทุ่มเทในการมอบโซลูชันพลังงาน ที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Zero-emission energy solution) ตั้งแต่การผลิต จัดเก็บ ไปจนถึงการใช้พลังงาน

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก แตะ 2 ล้านคัน

ในเดือนมิถุนายน 2565 BYD ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 134,036 คันทั่วโลก โดยมีการเติบโตถึง 162.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 

โดยยอดขายรถยนต์โดยสารไฟฟ้ารายเดือน แตะ 133,762 คัน และยังทำผลงานได้ดี ในครึ่งแรก ปี 2565 ด้วยยอดขายรวมกว่า 640,000 คัน

ส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนและทั่วโลก นับตั้งแต่ ปี 2562 – มิถุนายน 2565 รวมทั้งหมด 2,150,859 คัน

ด้านของภาพรวม ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนนั้น เรียกว่ามีการเติบโตอย่างสูงมานับตั้งแต่ปี 2552 จากการสนับสนุนอย่างหนักของรัฐบาลจีน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมงบประมาณที่ลงทุนไปตั้งแต่ปี 2552-2560 ถึงประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์

และมาในปี 2564 จีน มียอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศ กว่า 20 ล้านคัน แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ถึง 3.3 ล้านคัน 

อัตราส่วนเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป มากกว่า 10% และมีส่วนแบ่งถึงประมาณ 50% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก 

โดยแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (City EV) ถึงกว่า 9 แสนคัน คิดเป็น 1 ส่วน 3 ของภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในจีน

ฐานธุรกิจของ BYD

ปัจจุบัน BYD มีฐานการผลิตหลายแห่งในประเทศจีน รวมทั้งเซินเจิ้น ซีอาน เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฉางซา หนิงโป ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีฐานการผลิตในต่างประเทศอีก 6 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น ฮังการี อินเดีย และล่าสุดที่ประเทศไทย รวมแล้วขยายธุรกิจไปกว่า 400 เมือง ในกว่า 70 ประเทศและภูมิภาค ครอบคลุม 6 ทวีป

รุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเต็มสูบ นับตั้งแต่ปี 2565

การเข้ามารุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของ BYD ในไทย ปี 2565 เริ่มเป็นที่จับตา หลังวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ได้ประกาศแต่งตั้ง บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (Rêver Automotive Company Limited) ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (อ่านข่าวฉบับเต็ม : https://marketeeronline.co/archives/274621

โดย บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดย ประธานวงศ์ – ประธานพร พรประภา ทายาทรุ่นที่ 3 ของ กลุ่มสยามกลการ บริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่เก่าแก่ และประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งของไทย 

ปัจจุบัน กลุ่มสยามกลการ ได้ขยายธุรกิจออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์, อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์, อุตสาหกรรมและเครื่องจักรหนัก, การท่องเที่ยวและบริการ, การศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน

ซึ่งตอนนี้ทาง เรเว่ ออโตโมทีฟ ได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อปั้นรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD ให้ติดท็อป 5 ในตลาดยานยนต์ไทย ภายใน 5 ปี หลังจากนี้ 

โดยมีการแบ่งสัดส่วนการลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการสต๊อกรถยนต์ไฟฟ้า BYD Atto 3 โดยได้เปิดตัวในวันนี้ (10 ตุลาคม 2565) เรียบร้อย และแบ่งงบเป็นส่วนของทำการตลาด และระบบไอที (IT) ประมาณ 250 ล้านบาท หลังเซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการรับเงินอุดหนุนภาษี 150,000 บาท และสิทธิลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% กับทางกรมสรรพสามิตเรียบร้อย 

ซึ่ง BYD Atto 3 เคาะราคาอยู่ที่ 1,199,900 บาท (ราคาเข้าร่วมมาตรการสนับสนุน 150,000 บาท จากภาครัฐแล้ว) สเปกเบื้องต้น ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังทั้งหมดไปยังล้อคู่หน้า สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลา 7.2 วินาที

พร้อมแบตเตอรี่แบบ BYD Blade Battery (LFP) ความจุ 60.48 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางสูงสุด 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จแต่ละครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC) มีให้เลือก 5 สี ได้แก่ ขาว Frost, เทา Graphite, ฟ้า Lagoon, เขียว Emerald และ แดง Solar 

พร้อมแพ็กเกจ Rêver Care รวมมูลค่า 180,000 บาท ประกอบด้วย ประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ. นาน 1 ปี บริการบำรุงรักษา ค่าแรง ค่าอะไหล่ 8 ปี โฮมชาร์จเจอร์พร้อมติดตั้ง บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 8 ปี

ทั้งยังมาพร้อมการรับประกันคุณภาพตัวรถ (Warranty) และแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 กม. ดอกเบี้ยพิเศษ 1.68% นาน 48 เดือน

เปิดให้จองวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผ่านทางโชว์รูม 32 แห่งทั่วประเทศไทยเท่านั้น และจะเพิ่มอีก 60 แห่ง ในปี 2566 และเริ่มเปิดให้ทดลองขับได้ในวันเดียวกัน

โดยสามารถส่งมอบรถล็อตแรกได้ทันที รวม 5,000 คัน ภายในปี 2565 นี้ 

ขณะที่ในวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ทาง BYD ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม จาก บริษัท ดับบลิวเอชเอ (WHA) อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บริษัทให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและไฟฟ้า และดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทย (อ่านข่าวฉบับเต็ม : https://marketeeronline.co/archives/279171

เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวา แห่งแรกในอาเซียนของ BYD ซึ่งด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งงบเป็นส่วนของฐานการผลิต ประมาณ 17,300 ล้านบาท และส่วนของการตลาด ประมาณ 2,300 ล้านบาท

คาดว่า BYD จะเริ่มผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ภายในไตรมาส 3/2567 กำลังผลิต 150,000 คันต่อปี เน้นส่งออกประเทศในกลุ่มอาเซียนและยุโรป และแบ่งเป็นการผลิตชดเชยให้ได้ 1 เท่า ของจำนวนรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่ BYD จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทยหลังจากนี้

โดยการรุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยของ BYD ทั้งหมดนี้ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการผลักดันให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) 

ขณะที่ภาพรวมตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ปัจจุบัน บีโอไอ ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน 

และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 1,000,000 คัน และ ภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไทย หรือเฉลี่ย 700,000 คันต่อปี

ด้านฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ของแบรนด์ต่างประเทศ ในปัจจุบัน จะมีอาทิ ฐานการผลิตของ เอ็มจี (MG) ที่นับเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ MG พวงมาลัยขวา 

สำหรับจำหน่ายในประเทศ และส่งออกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งใช้งบลงทุนไปกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด แห่งที่ 2 ในจังหวัดชลบุรี    

หรือจะเป็น เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่เพิ่งฉลองการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบ 10,000 คัน จากฐานการผลิตในไทย ณ โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) จังหวัดระยอง ไปเมื่อไม่นานมานี้

ตลอดจนค่ายไฮเอนด์อื่นๆ อย่าง Mercedes-Benz ที่เตรียมเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่น Mercedes-Benz Eqs 450+ ในไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ช่วงปลายปี 2565

ไทม์ไลน์ BYD 

รุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

เต็มสูบ นับแต่ปี 2565

ไทม์ไลน์ การดำเนินงาน
8 ส.ค.65 และ 10 ต.ค.65 ตั้ง Rêver Automotive เป็นผู้แทนจำหน่าย และ เปิดตัว BYD Atto 3
8 ก.ย.65 ซื้อขายที่ดินกับ WHA ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในไทย
หลังจาก 8 ก.ย.65 เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตด้วยงบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท และ การตลาด 2.3 พันล้านบาท
ไตรมาส 3/2567 เริ่มผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในโรงงานไทย 1.5 แสนคัน/ปี ส่งออกอาเซียนและยุโรป 
ที่มา : Marketeer รวบรวม

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน