การลงทุนมีความเสี่ยง และเสี่ยงที่จะขาดทุนในช่วงหลายขวบปีแรก

แต่การขาดทุนนั้นคือผลกำไรที่แข็งแกร่งในอนาคต

โดยเฉพาะในธุรกิจสตาร์ตอัป อย่างฟู้ดเดลิเวอรี่และอีมาร์เก็ตเพลส ที่แข่งขันสาดเงินกันขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีกำไรขึ้นมา และเป็นกำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

และกระแสแข่งขันกันสาดเงินเพื่อขาดทุนนี้เองทำให้เราได้เห็นบางแพลตฟอร์มที่เข้ามาสาดเงินร่วมแข่งในตลาดต้องถอนตัวออกไป จากสายป่านที่อาจจะยาวไม่พอ หรือประเมินแล้วว่า ตลาดที่กำลังแข่งขันอยู่ แข่งขันกันรุนแรงจนเกินไป และยังมองไม่เห็นจุดเริ่มต้นของกำไรที่จะเกิดขึ้นจากการแข่งขัน

แต่ก็มีคู่แข่งจำนวนมากกว่าเลือกที่จะสาดเงิน ยอมขาดทุนปีละหลักร้อยหลักพันล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปต่อ จากความหวังที่มีอยู่เต็มเปี่ยมมาก สักวันกำไรต้องเป็นของเรา

เหตุผลที่เหล่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ เลือกที่จะขาดทุนในระยะยาว มาจากความต้องการสร้างฐานลูกค้าให้อยู่ในแพลตฟอร์มมากที่สุด ผ่านแคมเปญ โปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ดึงดูดให้เข้ามาในแพลตฟอร์มตัวเองแทนคู่แข่ง

ไปพร้อม ๆ กับสร้างประสบการณ์ในการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นบริการที่ขาดไม่ได้ หรือถ้าไม่ใช้จะรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบาย

และเมื่อลูกค้าติด โอกาสที่จะสร้างรายได้ และผลกำไรผ่านบริการเดิมที่มีอยู่ หรือบริการใหม่ ๆ ที่เปิดให้บริการก็มีมากขึ้นตามมา

รวมถึงยังได้ดาต้าเบสของลูกค้าที่เข้ามาในแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน ซึ่งดาต้าเบสของลูกค้าถือเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญที่ให้แพลตฟอร์มเรียนรู้ รู้จักลูกค้าในรูปแบบเฉพาะเจาะลง และนำดาต้าเบสเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในด้านอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ที่เราบอกว่าธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่และอีมาร์เก็ตเพลสยังคงขาดทุน แต่การขาดทุนนี้เริ่มมีบางบริษัทเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์จากผลกำไรที่มีให้เห็นในปีที่ผ่านมา

เรามาดูกันว่าฟู้ดเดลิเวอรี่และอีมาร์เก็ตเพลสมีผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีอย่างไร

 

Grab

2562    รายได้รวม 3,193.19 ล้านบาท ขาดทุน 1,650.11 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 7,215.46 ล้านบาท ขาดทุน 284.28 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 11,375.56 ล้านบาท ขาดทุน 325.25 ล้านบาท

 

Food Panda

2562    รายได้รวม 818.16 ล้านบาท ขาดทุน 1,264.50 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 4,375.13 ล้านบาท ขาดทุน 3,595.90 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 6,786.57 ล้านบาท ขาดทุน 4,721.60 ล้านบาท

 

Robinhood

2563    รายได้รวม 0.08  ล้านบาท ขาดทุน 87.83 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 15.79 ล้านบาท ขาดทุน 1,335.37 ล้านบาท

 

Lazada

2562    รายได้รวม 9,413.21 ล้านบาท ขาดทุน 3,707.37 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 10,011.76 ล้านบาท ขาดทุน 3,988.77 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 14,675.29 ล้านบาท กำไร 226.89 ล้านบาท

2565    รายได้รวม 20,675.45 ล้านบาท กำไร 413.08 ล้านบาท

*ปีปฏิทินลาซาด้าไม่ได้เริ่มมกราคม จบธันวาคม เหมือนบริษัทอื่นๆ

 

Shopee

2562    รายได้รวม 1,986.02 ล้านบาท ขาดทุน 4,745.72 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 5,812.79 ล้านบาท ขาดทุน 4,170.17 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 13,322.18 ล้านบาท ขาดทุน 4,972.56 ล้านบาท

 

JD Central

2562    รายได้รวม 1,284.83 ล้านบาท ขาดทุน 1,342.61 ล้านบาท

2563    รายได้รวม 3,491.69 ล้านบาท ขาดทุน 1,375.51 ล้านบาท

2564    รายได้รวม 7,443.36 ล้านบาท ขาดทุน 1,930.44 ล้านบาท



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online