ประเด็นต้นทุนการศึกษากำลังเป็นที่การถกเถียงกันเป็นวงกว้างบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ที่ประเทศไทยมีการผุดแฮชแท็ก #ยกเลิกหนี้ กยศ. ขึ้นมา โดยการรณรงค์แคมเปญดังกล่าวเกิดการถกเถียงกันระหว่างคน 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งที่ดูจะเป็นผู้เสียประโยชน์ อย่างคนที่เคยชำระหนี้ กยศ. ไปแล้วจนครบ รวมไปถึงคนที่กำลังอยู่ระหว่างการชำระหนี้และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย ก็มองว่าเกมนี้ไม่แฟร์สำหรับพวกเขาที่มองว่า “เป็นหนี้ก็ต้องใช้”
ส่วนอีกฟากฝั่งที่มองในมุมกลับว่า “ทำไมการศึกษาถึงไม่ฟรี และทำไมไม่ทำให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นใด” พวกเขามองว่าลำพังรายได้ก็ไม่เพียงพอที่จะซัปพอร์ตค่าครองชีพและทำให้คุณภาพชีวิตดีได้อยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเป็นหนี้การศึกษาไปอีกหลายสิบปี อันจะเป็นภาระที่ติดตัวพวกเขาไปอีกแสนนาน จนถึงขั้นอาจลืมตาอ้าปากไม่ได้เลย
ประเด็นนี้อาจมีข้อสรุปกลาย ๆ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่แก้ไขเนื้อหาไม่เก็บดอกเบี้ยและไม่คิดค่าปรับ แถมไม่ต้องมีคนค้ำประกันหนี้ ซึ่งจะมีผลย้อนหลังแก่ผู้กู้ยืม-คนค้ำประกันทุกรายทันที
ประเด็นนี้ไม่เพียงแต่เป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ทางฝั่งอเมริกาเองก็เริ่มหันมาพิจารณาเรื่องภาระทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเข้าถึงการศึกษาให้เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน
………………………………………….
ทำไมไบเดนต้องออกนโยบายยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศผ่านบัญชี Twitter ทางการ ว่าจะยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (คล้าย ๆ กับ กยศ. ของบ้านเรา) มูลค่า 10,000 ดอลลาร์ต่อคน โดยมีเงื่อนไขว่า คนคนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 125,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือน้อยกว่านั้น โดยต้องมีรายได้รวมทั้งครอบครัวไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อปีหรือน้อยกว่า
ไบเดนทวิตว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับคำมั่นในการรณรงค์หาเสียงของผม ฝ่ายบริหารกำลังประกาศแผนการที่จะทำให้คนทำงานและครอบครัวของชนชั้นกลางพอมีเวลาหายใจหายคอได้อีกสักพัก ก่อนที่จะกลับมาชำระเงินกู้เพื่อการศึกษาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2023”
การที่รัฐบาลของนายไบเดนใช้มาตรการนี้ช่วยเหลือประชาชนที่เคยกู้ยืมมาเล่าเรียนนั้นสะท้อนและสอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 8.3% ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ การที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นขนาดนี้ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมไบเดนจึงต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่การทำแบบนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ไบเดนขยายเวลาการพักชำระหนี้ของเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 เพื่อช่วยคนที่เงื่อนไขไม่ตรงกับการยกเว้นหนี้ หรือคนที่กู้ยืมเรียนที่ยังคงมียอดเงินคงเหลือหลังจากการยกเว้นหนี้แล้ว
แคมเปญนี้สามารถช่วยเหลือผู้กู้ได้มากถึง 43 ล้านราย การยกหนี้จำนวน 10,000 ดอลลาร์ต่อคน สำหรับผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง คิดเป็นยอดรวมค่าใช้จ่ายประมาณ 371,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการยกเว้นหนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด
แล้วมาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาตกอยู่ในความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหรือไม่
ถ้ามาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาทุกคนที่เข้าเงื่อนไขได้รับการช่วยเหลือ มาตรการนี้จะช่วยทำให้ผู้กู้ยืมสามารถประหยัดรายจ่ายคงที่ได้มากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี และจะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ที่อยู่ในระบบนี้ (และเข้าเงื่อนไข) ได้เกือบ 20 ล้านคน
มีตัวเลขออกมาว่าประชากรสหรัฐฯ กว่า 44 ล้านคนเป็นหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาคิดเป็นมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ และการยกเลิกหนี้บางส่วนจะเป็นการเพิ่มภาระด้านภาษีให้กับประชาชนผู้เสียภาษีกว่าพันล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
Antoinette Flores ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ Center for American Progress (CAP) ให้สัมภาษณ์ว่า “การออกนโยบายเช่นนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้กู้จำนวนมากผิดนัดชำระหนี้และเรารู้ว่าผู้กู้ส่วนใหญ่ที่ลงเอยด้วยการผิดนัดชำระหนี้มีหนี้สินต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ทั้งนั้น”
นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันรูสเวลต์ชี้ให้เห็นว่า นโยบายนี้สามารถบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ “ศูนย์ศึกษาเพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา” ที่ก่อนหน้านี้เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกายกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่ประชาชน ก็พูดไปในทำนองเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์ว่า มาตรการดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระดับที่ “น้อยมาก” หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่สามารถช่วยเรื่องเงินเฟ้อได้เลย
เช่นเดียวกัน Mark Zandi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics ประมาณการว่าการปลดหนี้ให้นักเรียนนักศึกษาทั่วอเมริกาจะเป็นการเพิ่มอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.08% โดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นตัวชี้วัด และหลังจากระงับการชำระเงินสิ้นสุดลงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI จะลดลงอยู่ที่ 0.11% เนื่องจากผู้กู้จะต้องเริ่มชำระส่วนที่เหลือของเงินกู้ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมกราคมปี 2023
อดีตเลขาธิการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่าง Lawrence Summers ทวีตข้อความร่ายยาวถึงมาตรการดังกล่าว ในแง่จำนวนเงินที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เซ็นอนุมัติให้การยกเลิกหนี้ (10,000 ดอลลาร์ต่อคน) ว่าไม่สมเหตุสมผล แถมยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อพองโตขึ้นอีก และอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยขึ้นค่าเทอมอีกก็เป็นไปได้ เพราะเห็นว่ายังไงเสียรัฐก็ให้การช่วยเหลือ
“เรากำลังดำเนินแนวทางที่มีความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจให้ต้องคำนึงถึง แน่นอนว่ามาตรการนี้จะเป็นประโยชน์กับคนชนชั้นกลางและครอบครัวที่สมาชิกเป็นชนชั้นแรงงาน การศึกษาจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้มากขึ้น โอเค มันดีแหละ แต่มันแทบจะไม่ช่วยในเรื่องเงินเฟ้อเลยจริง ๆ นะ”
หลายฝ่ายมองว่า กลยุทธ์ที่ไบเดนใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อกำลังนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปสู่ภาวะเผชิญความเสี่ยง ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ว่า มีประชากรอเมริกันที่เรียนจบชั้นปริญญาตรีอยู่เพียงเล็กน้อย 37.9% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนน้อยของอเมริกา และการยกเลิกหนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมากเกินไปสำหรับการช่วยเหลือคนคนหนึ่งให้เรียนจบปริญญา
ไม่เพียงเท่านั้น ความเสี่ยงอีกอย่างที่นายไบเดนต้องเผชิญก็คือ ความไม่พอใจของชาวอเมริกันบางส่วนที่ได้ชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจบไปแล้ว หรือกำลังผ่อนชำระอย่างมีวินัยไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ไม่เข้าเงื่อนไขการยกเลิกหนี้ เรื่องนี้คงจะเป็นการบ้านที่ฝ่ายบริหารของไบเดนจะต้องไปขบคิดวิธีหาทางแก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้
สำหรับรายละเอียดนโยบายดังกล่าวนั้น ผู้ที่กู้ยืมเงินรัฐบาลมาเรียนและยังเรียนไม่จบสามารถที่จะผ่อนชำระได้ โดยผ่อนน้อยลงกว่าเดิมจาก 10% เหลือเพียง 5% ของรายได้ต่อเดือน และใครที่ยืมเงินมาเรียนและเหลือหนี้คงค้างอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์ หรือน้อยกว่านั้นก็จะได้รับการล้างหนี้ให้หลังจากที่ผ่านระยะเวลาไป 10 ปีของการผ่อนชำระหนี้คืน จากเดิมที่จะต้องรอนานถึง 20 ปี ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนี้แทบจะทำให้นักศึกษาที่ยืมเงินมาเรียนนั้นปลอดภาระหนี้แทบจะในทันทีภายในเวลาเพียงแค่ 10 ปี เท่านั้น
อ้างอิง
What Forgiving Student Loan Debt Could Mean for the Economy | Barron’s (barrons.com)
Student loan forgiveness will wipe out debt for one-third of borrowers: BofA (yahoo.com)
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ