เปิดธุรกิจใหม่ ในปี 2023 ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร โดย รวิศ หาญอุตสาหะ

หลังจากเกิดปัญหาการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงสองสามปีหลัง ผู้ประกอบการบางคนจึงตัดสินใจล้มเลิกการเปิดตัวธุรกิจใหม่ไป เพราะคาดว่าเมื่อเปิดตัวธุรกิจไปก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน

แม้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่าปี 2023 ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะสงครามหรือสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูน่าเป็นห่วง แต่ผมเชื่อว่าหากเราเริ่มต้นธุรกิจด้วยขั้นตอนที่เหมาะสม พร้อมกับรากฐานที่แข็งแรง ก็จะช่วยให้เราสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม

ไม่นานมานี้ผมก็ไปเจอบทความ 9 Things To Do Before Launching Your Business In 2023 ของ Forbes ที่รู้สึกว่าเหมาะกับผู้ประกอบการหน้าใหม่และน่าจะเป็นประโยชน์มาก ๆ กับใครหลายคน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 9 สิ่งที่ผู้ประกอบการ “ต้องทำ” ก่อนเปิดตัวธุรกิจใหม่ พร้อมปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการควรจับตามองในปี 2023

 

9 สิ่งที่ ต้องทำก่อนเปิดตัวธุรกิจ

1. ทำการบ้านและศึกษาตลาดอย่างรอบคอบ

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “การทำการบ้าน” ก่อนที่จะตัดสินใจขายสินค้าหรือบริการใด ๆ ก็ตาม เราควรจะต้องรู้ก่อนว่าตลาดของเราคืออะไรและกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็นใคร หลังจากนั้นให้ถามคำถามตัวเองว่า เราเชื่อในแนวคิดธุรกิจของตัวเองหรือไม่? คำตอบของเราจะต้องเป็นคำว่า “ใช่” ถึงจะเดินทางไปสู่ขั้นตอนต่อไปได้ เพราะถ้าเราไม่เชื่อในธุรกิจของตัวเองแล้วใครจะเชื่อใช่ไหมล่ะครับ

 

2. จัดทำแผนธุรกิจ

“แผนธุรกิจ” เปรียบเสมือนไกด์ไลน์ที่ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังจะนำพาธุรกิจไปในเส้นทางไหน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการดึงดูดนักลงทุนได้อีกด้วย หากผู้ประกอบการมีแผนธุรกิจที่ดีก็จะเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจไปอีกขั้น

โดยแผนธุรกิจที่ดีควรประกอบไปด้วย 7 สิ่งต่อไปนี้

1) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

2) รายละเอียดบริษัท

3) บทวิเคราะห์การตลาด

4) คำอธิบายบริการและผลิตภัณฑ์ที่ธุรกิจนำเสนอ

5) การของบสนับสนุน

6) ประมาณการทางการเงิน

7) เอกสารสำหรับการวิจัย

 

3. เลือกรูปแบบโครงสร้างธุรกิจ

โครงสร้างธุรกิจมีความสำคัญต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาษีไปจนถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงต้องใช้ความคิดในการเลือกอย่างรอบคอบและเหมาะสม ตัวอย่างโครงสร้างธุรกิจที่สามารถเลือกได้ เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด เป็นต้น

 

4. เลือกชื่อธุรกิจ

ชื่อธุรกิจเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้าจะรู้จักเกี่ยวกับธุรกิจของเรา ดังนั้นจึงเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญ โดยชื่อธุรกิจไม่จำเป็นต้องซับซ้อน แค่เลือกชื่อที่สื่อถึงสิ่งที่จะนำเสนอให้กับลูกค้า เมื่อตัดสินใจเลือกชื่อได้แล้ว ให้ไปยื่นจดทะเบียนธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

5. ยื่นขอหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

เมื่อเปิดธุรกิจแล้วเราต้องจ้างพนักงานและต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมีหมายเลขประจำตัวนายจ้าง เพราะหากไม่มีเลขประจำตัวนายจ้างก็จะไม่สามารถจ่ายเงินให้กับพนักงาน ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารของธุรกิจ และไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องได้

 

6. ยื่นขอใบอนุญาต

ธุรกิจบางประเภทจะต้องมีการยื่นขอใบอนุญาตก่อน เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล ผู้ประกอบการจะต้องค้นหาข้อมูลให้ดีก่อนว่าธุรกิจของตัวเองจะต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องมี เราต้องขออนุญาตกับหน่วยงานใดบ้าง

 

7. เปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท

เมื่อจดทะเบียนธุรกิจและยื่นขอหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รวมถึงใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือ การเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท เพื่อช่วยแยกเงินส่วนตัวและเงินของบริษัทออกจากกัน ทำให้ง่ายต่อการติดตามการใช้เงินในการดำเนินธุรกิจ

 

8. สร้างเว็บไซต์ธุรกิจ

ปัจจุบันเว็บไซต์ธุรกิจมีความสำคัญไม่แพ้หน้าร้าน เพราะเป็นวิธีที่ลูกค้าสามารถเข้ามาทำความรู้จักและติดต่อเข้ามาได้ง่ายที่สุด ซึ่งเว็บไซต์จะต้องดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

สิ่งที่ควรมีบนเว็บไซต์ ได้แก่ ชื่อธุรกิจ สินค้าและบริการ เวลาทำการ ที่อยู่และแผนที่ ข้อมูลติดต่อ นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าสำคัญต่อธุรกิจได้ เช่น รูปภาพสินค้า และรีวิวจากลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าธุรกิจของเรานั้นมีอยู่จริง

 

9. จ้างที่ปรึกษาที่ไว้วางใจ

ผู้ประกอบการบางคนอาจมั่นใจว่าสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง แต่การมีที่ปรึกษาเข้ามาจะช่วยให้เตรียมพร้อมธุรกิจได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าเราแต่ละคนก็ไม่ได้มีความรู้ลึกในทุก ๆ เรื่อง เช่น กฎหมายและการทำบัญชี เพราะฉะนั้นหากผู้ประกอบการอยากเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้กับธุรกิจ จะต้องจ้างที่ปรึกษาที่ไว้วางใจได้ ไม่ว่าจะเป็นทนายความ นักบัญชี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี

 

ปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการควรจับตามองในปี 2023

นอกจากการเตรียมรากฐานธุรกิจแล้ว อีกส่วนที่ธุรกิจควรต้องเตรียมตัวคือเรื่องของ “ความท้าทายทางธุรกิจ” ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปีที่จะถึงนี้

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2019 เราจะเห็นปัญหามากมายที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การต้องปิดร้านเพราะโควิด ยอดขายที่ลดลงเมื่อต้องกลับมาเปิดร้าน การขาดแคลนแรงงาน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้น

เราไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถเรียนรู้จากปัญหาในอดีตได้ และเมื่อนึกถึงอดีตแล้ว ในปีต่อไปผู้ประกอบการควรจับตามองเรื่องต่อไปนี้

 

1. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่า 44% ของหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อบริษัทต่าง ๆ คาดว่าปัญหานี้จะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2023 ทำให้อาจกระทบกับห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการที่จะเปิดตัวธุรกิจใหม่ในปีหน้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเข้าไปพูดคุยและทำความเข้าใจถึงปัญหานี้กับซัปพลายเออร์ของบริษัทโดยตรง เพื่อดูว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถลดปัญหาห่วงโซ่อุปทานในอนาคตได้ด้วยการซื้อสินค้าจากหลาย ๆ ซัปพลายเออร์เพื่อกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่ซัปพลายเออร์เจ้าหนึ่งโดนผลกระทบจากเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ธุรกิจก็ยังมีตัวเลือกแหล่งอื่น ๆ ที่ยังคงทำให้กระบวนการซื้อขายต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้อยู่

 

2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น

หลายคนอาจคิดว่าความเสี่ยงทางไซเบอร์มักจะพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่รู้ไหมว่ากว่า 43% ของการละเมิดข้อมูลนั้นพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กต้องทำความเข้าใจว่าความเสี่ยงทางไซเบอร์คือ “ความเสี่ยงทางธุรกิจ” เพราะการโจมตีทางไซเบอร์นั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ความเสียหายทางข้อมูล ความเสียหายทางชื่อเสียง ไปจนถึงความเสียหายทางการเงิน

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรสร้างทรัพยากรทางไซเบอร์และเครื่องมือต่าง ๆ ไว้ปิดช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้พนักงาน และการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

3. สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว

อย่างที่เรารู้กันดีว่าในหลายปีที่ผ่านมา โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากกิจกรรมจำนวนมากของ “มนุษย์” และ “ภาคธุรกิจ” จนทำให้ในปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกได้สะสมมาเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุทอร์นาโด และพายุเฮอริเคน เป็นต้น โดยปัญหานี้เริ่มเกิดบ่อยขึ้นในปี 2022 และอาจเกิดบ่อยขึ้นในปีต่อไป สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำคือ การเตรียมตัวรับมือต่อปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน หรือการหาฐานผลิตที่มีความเสี่ยงน้อย เป็นต้น

 

4. ความผันผวนของราคาน้ำมัน

อีกปัญหาหนึ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ “ราคาน้ำมัน” เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นหรือจะลดลง ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นราคาต้นทุนก็สูงขึ้นตาม แม้ว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถลดค่าน้ำมันเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ด้วยการกลับมาวางแผนดูว่า การขนส่งตรงส่วนใดสามารถลดลงได้ หรือนำมารวมกันได้ หรือลองมาประเมินว่าบริษัทสามารถที่จะเปลี่ยนจากการใช้รถสันดาปมาเป็นรถไฟฟ้าได้หรือไม่

แม้การ เปิดธุรกิจใหม่ ในช่วงนี้อาจจะดูมีความเสี่ยงไปบ้าง แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และความผันผวนของราคาน้ำมัน

สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ประกอบการทุกคนว่า อย่าลืมที่จะเรียนรู้จากอดีต และนำบทเรียนที่ได้มาปรับใช้กับปัจจุบัน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง

– 9 Things To Do Before Launching Your Business In 2023 : Mike Kappel, Forbes – https://bit.ly/3WzBqYu

– 9 ways your small business can save on fuel costs: Gas rewards programs, online meetings, more : Rhonda Abrams, USA Today – https://bit.ly/3UkpPdE

– Extreme weather: BBC – https://bbc.in/3NBazXN

– How businesses can protect against rising fuel prices: Currencies Direct – https://bit.ly/3UqTlyE

– How To Protect Your Small Business From Cyber Threats: YEC, Forbes – https://bit.ly/3DZrj7J

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online