Loop Mission สตาร์ทอัปใหม่ที่ผลิตเครื่องดื่มจาก Food Waste

รู้หรือไม่ ปัจจุบันขยะอาหาร (FOOD WASTE) เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีมีอาหารมากกว่า 1,300 ล้านตันหรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกถูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง 8%

ซึ่งขยะอาหารนั้นมาจากเศษอาหาร หรืออาหารเหลือทิ้งจากการบริโภค หรือจากอาหารส่วนเกิน ซึ่งเป็นอาหารที่สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่มีลักษณะภายนอกไม่สวยหรือไม่ได้มาตรฐานของร้าน

ด้วยปัญหานี้ ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจจึงตระหนักถึงและร่วมรณรงค์ลดขยะอาหารเพื่อช่วยโลก แต่มีธุรกิจหนึ่งที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยนำขยะอาหารมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งธุรกิจนี้มีชื่อว่าLoop Mission (ลูปมิชชัน)

Loop Mission สตาร์ตอัปที่ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากขยะอาหาร

Loop Missionเป็นแบรนด์สตาร์ตอัปของแคนาดาที่เกิดจากความต้องการที่จะนำขยะอาหารมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าได้ โดยจุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้มาจาก Julie Poitras-Saulnier (จูเลีย ปัวตรา-โซลิเยร์) และ David Côté (เดวิด โคเต้) คู่รักเจ้าของร้านอาหารมังสวิรัติ และธุรกิจ Kombucha (คอมบูชะ)

ทั้งคู่เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้น ซึ่งในแคนาดาขยะอาหารมีประมาณ 50% ของอาหารทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการจัดการสต๊อก และอาหารที่ไม่ผ่านมาตรฐานของร้าน

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงร่วมมือกันก่อตั้งแบรนด์Loop Missionขึ้นมาในปี 2016 เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เกิดขึ้นน้อยลง โดยเงินทุนของธุรกิจนี้มาจากการขายบ้านของ Julie Poitras-Saulnier และการขายธุรกิจของ David Côté นั่นเอง

Loop Missionจึงไม่ได้เป็นเพียงบริษัทขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งลดขยะอาหารให้น้อยลง ทำให้ผลิตภัณฑ์แรกของแบรนด์นี้คือ น้ำผักผลไม้สกัดเย็น ซึ่งจำหน่ายในราคาประมาณ 130 บาทเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่งจากในท้องตลาด

แน่นอนว่าวัตถุดิบทั้งหมดของน้ำผักผลไม้สกัดเย็นนี้มาจากผักและผลไม้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะอาหารเนื่องจากขายไม่หมด หรือรูปร่างไม่สวยงามตามมาตรฐาน อย่างสีไม่สวย รูปทรงเบี้ยว ขนาดเล็กหรือใหญ่จนเกินไปนั่นเอง

แม้ว่าลักษณะเหล่านี้อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ แต่กลับส่งผลต่อการขาย เพราะทำให้ลูกค้าบางคนไม่ชอบ จนบรรดาร้านค้าและผู้ผลิตจำเป็นต้องทิ้งวัตถุดิบเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์

ทำไม Loop Mission ถึงใช้วัตถุดิบจากผักผลไม้เป็นหลัก

เพราะพวกผักผลไม้เป็นจำนวนขยะอาหารส่วนมากของขยะอาหารทั้งหมดทั่วโลก Loop Missionจึงมีการใช้ผลผลิตจากผักผลไม้อยู่ในทุกสินค้าของแบรนด์ โดยLoop Missionได้ซื้อวัตถุดิบเหล่านี้มาจากบรรดาร้านค้าต่าง ๆ แทนที่จะขอรับบริจาคมาแบบฟรี ๆ เพราะพวกวัตถุดิบเหล่านี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอาหาร

เนื่องจากLoop Missionต้องการให้ร้านค้าเหล่านี้มาเข้าร่วมเป็นแหล่งวัตถุดิบการผลิต และLoop Missionยังต้องการให้มูลค่ากับวัตถุดิบเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ผู้คนมองว่าตัวเองกำลังบริโภคของเหลือใช้หรืออาหารจากขยะอยู่นั้นเอง

และถึงแม้ว่าLoop Missionจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบที่กำลังจะหมดอายุก็ตาม แต่ราคาสินค้าของLoop Missionก็ยังถูกกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ขายในท้องตลาด เพราะทางแบรนด์ต้องการดึงดูดให้กลุ่มลูกค้าซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการประหยัดเงิน และมองหาสินค้าทางเลือกใหม่ที่ดีต่อโลกอีกด้วย

ขยายธุรกิจ Loop Mission ให้เป็นมากกว่าบริษัทน้ำผลไม้

หลังจากLoop Missionจำหน่ายน้ำผลไม้สกัดเย็นไปได้ไม่นาน Julie Poitras-Saulnier และ David Côté ก็เริ่มได้รับการติดต่อจากเกษตรกรไปจนถึงโรงงานผลิตอาหารให้ทั้งคู่ช่วยกำจัดขยะอาหารเหล่านี้

Loop Missionเลยได้ขยายธุรกิจ ผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เบียร์ที่หมักด้วยขนมปังที่ใกล้หมดอายุมาผสมกับผลไม้ เหล้ายินที่กลั่นโดยใช้มันฝรั่งที่หั่นเป็นชิ้นจากโรงงานมันฝรั่งทอด และสบู่ทำมือที่ทำด้วยน้ำมันใช้แล้วก่อนนำมาทำความสะอาดและผสมกับผลไม้ เป็นต้น

ด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้Loop Missionได้เติบโตเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และLoop Missionยังถือว่าเป็นแบรนด์ที่เติบโตขึ้นอย่างทวีคูณในช่วง 3 ปีแรก จากยอดขายประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ในปีแรกเป็น 5 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งเป็นการเติบโตมากกว่า 3 ปีก่อนโดยเฉลี่ยถึง 124%

นอกจากนี้Loop Missionยังได้ต่อยอดแผนธุรกิจ Loop Synergies ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบ B2B โดยเป็นการบริการให้คำปรึกษากับบรรดาร้านค้าและผู้ผลิตต่าง ๆ ที่ต้องการหาวิธีลดขยะอาหารที่เกิดจากธุรกิจของตัวเอง เพื่อนำผลผลิตต่าง ๆ กลับมาสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง

ซึ่งLoop Missionจะเข้าไปช่วยหาวิธีในการยืดอายุของขยะอาหารให้กลายเป็นสินค้าแปรรูป เช่น ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ หรือปูเร่ (Purée) ซึ่งเป็นการนำอาหารปรุงสุกจากผักผลไม้มาบดให้อยู่ในรูปครีมก่อนนำไปแช่แข็ง เพื่อสามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกนาน เป็นต้น

Loop Mission แบรนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ในเดือนเมษายน 2022 Loop Missionยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาเป็นจำนวนเงิน 4.7 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ และทำการขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกา

ด้วยความช่วยเหลือนี้ทำให้Loop Missionสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 5 เท่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น โดยไม่กระทบต่อรสชาติหรือคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าพร้อมสำหรับการจัดส่งทั้งในและต่างประเทศ

เนื่องจากรัฐบาลแคนาดาต้องการส่งเสริมธุรกิจที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกไปด้วยกัน จึงให้การสนับสนุนLoop Missionที่เป็นธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

บทสรุป

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของLoop Missionมีวางจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็กไปจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง Sobeys ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา หรือ Whole Foods Market ห้างสรรพสินค้าที่เน้นขายสินค้าเพื่อคนรักสุขภาพ

ในอนาคตLoop Missionยังวางแผนที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นผลิตน้ำผลไม้ในลอสแองเจลิสก่อนขยายธุรกิจไปยังระดับสากล

ที่มา:

https://www.foodserviceandhospitality.com/green-entrepreneurs-loop-mission/?cn-reloaded=1

https://loopmission.com/

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-02-15/food-startup-loop-mission-turns-surplus-produce-into-juice-snacks-and-booze?leadSource=uverify%20wall

https://www.forbes.com/sites/annefield/2019/08/31/reusable-packaging-startup-loop-makes-headway-on-store-shelves/?sh=3cf3240b209a

https://www.canada.ca/en/economic-development-quebec-regions/news/2022/04/ottawa-and-quebec-grant-47m-to-loopmission-to-help-optimize-its-production.html

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online