TCP Spirit ปักหมุด จ.ระนอง ณ ชุมชนบ้านหาดทรายดำ ชวนอาสาสมัครรุ่นใหม่ และคนในชุมชนกว่า 200 คน สร้างความเข้าใจ และสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อรักษาอู่ข้าวอู่น้ำทางอาหารทะเลของไทยอีกแห่ง อย่างยั่งยืน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท TCP กลุ่มธุรกิจ ที่หลายคนรู้จักกันในฐานะผู้ผลิตแบรนด์เครื่องดื่ม ที่มีจำหน่ายในไทย และทั่วโลก อาทิ กระทิงแดง (เรดบูล), สปอนเซอร์, เพียวริคุ, ไฮ่!, ซันสแนค และแมนซั่ม เผยว่า ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว 87.8%, ขวดพลาสติก 9.5%, กระป๋องอะลูมิเนียม 2.6% และ พลาสติกบ้างในส่วนที่เหลือ
ซึ่ง TCP ตระหนักดีถึงความสำคัญของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี 2563 ทาง TCP ก็เริ่มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล
จนปัจจุบัน กลุ่มบริษัท มีบรรจุภัณฑ์กว่า 75% ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และตั้งเป้าให้บรรจุภัณฑ์ของ TCP สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2567
TCP ตั้งเป้า
บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% ปี 2567 |
|
ประเภทบรรจุภัณฑ์ของ TCP | % ส่วนแบ่งบรรจุภัณฑ์ |
1.ขวดแก้ว | 87.8% |
2.ขวดพลาสติก | 9.5% |
3.กระป๋องอะลูมิเนียม | 2.6% |
* ปัจจุบันบริษัทมีบรรจุภัณฑ์ที่นำมารีไซเคิลได้ 75% | |
ที่มา : TCP |
อย่างไรก็ตาม การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของ TCP เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล ยังเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย จึงเริ่มมีการทำงานกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ทั้งในไทย และเวียดนาม
เพื่อสร้างต้นแบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะแบบบูรณาการ ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ต่อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังการบริโภค โดยตั้งเป้าจัดเก็บขยะรวม อย่างน้อย 730 ตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบความรับผิดชอบในการจัดการขยะของ TCP
โดยในประเทศไทย TCP และ IUCN ได้เข้าไปสร้างพื้นที่นำร่องเครือข่ายพัฒนาโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการจัดการปัญหาขยะ ณ จังหวัดระนอง ประตูสู่ภาคใต้ความงดงามของชายฝั่งอันดามัน
และเป็นที่มาของปี 2565 ซึ่ง TCP Spirit โครงการสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างยั่งยืน
ได้ขยับมาสู่การทำกิจกรรมด้านการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยชวนอาสาสมัครรุ่นใหม่ และคนในชุมชน กว่า 200 คน ลงภาคใต้ ไปทำภารกิจภายใต้ชื่อ แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ
ชูแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล ตั้งแต่วันที่ 27-29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ณ บ้านหาดทรายดำ จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำนานาชนิด โดยชาวบ้านในชุมชน จะมีรายได้หลัก จากการทำประมงพื้นบ้าน
แต่ในปัจจุบัน มีปัญหาปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะ ที่กำลังเริ่มสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่ TCP จึงชวนอาสาสมัคร TCP Spirit ไปเรียนรู้ปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำที่รถเข้าไม่ถึง
เพื่อทำความเข้าใจบริบทของชุมชนบ้านหาดทรายดำ ข้อจำกัด และความท้าทายของการจัดการขยะ ก่อนส่งต่อความรู้ที่ถูกต้อง เรื่องการจัดการขยะให้แก่ชุมชน
นายไพบูลย์ สวาทนันท์ (โกบูลย์) แพทย์ประจำตำบลหงาว จ.ระนอง ผู้นำชุมชนบ้านหาดทรายดำ เผยว่า ปัจจุบันชุมชนบ้านหาดทรายดำ มีอยู่ 134 หลังคาเรือน แต่มีร้านค้ามากถึง 12 ร้าน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงรายได้ จากอาชีพการทำประมงของคนในชุมชน ที่ดีพอจะเลี้ยงครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ต้องไปทำอาชีพเสริมอื่น ๆ
แต่ปัญหาเรื่องน้ำเสีย และขยะทะเล จะทำให้ทรัพยากรทางทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ของชุมชน เริ่มร่อยหรอลงไป จนอาจทำให้ชุมชน ไปอยู่ในจุดที่หารายได้ไม่ได้
เป็นเหตุให้ทุกคน ต้องร่วมกันหาทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ อาทิ การทำงานกับร้านค้าในชุมชน เรื่องการตัดสินใจเลือกสินค้าเข้ามาขาย เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล
มีการปลูกฝังชุมชนเกี่ยวกับการจัดการขยะ ใช้ระบบการจัดการขยะที่ทุกคนในชุมชน พึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของส่วนกลาง ซึ่งในส่วนนี้ ยังเป็นการช่วยลดงบประมาณไปในตัว เป็นต้น
โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ป้องกันไม่ให้ขยะหลุดรอดลงสู่ท้องทะเล และสามารถรักษาทรัพยากรทางทะเล ที่เป็นแหล่งรายได้ของชุมชน ให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป
สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เข้ามาทำงานกับชุมชนในพื้นที่บ้านหาดทรายดำ เรื่องการจัดการปัญหาขยะ เผยว่า อย่างที่โกบูลย์บอก ว่าคนในชุมชนที่นี่ ไม่จำเป็นต้องมีรายได้เสริมอื่น ๆ อีกแล้ว ขอเพียงรักษาทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้ได้ ก็จะมีความมั่นคงทางอาชีพ ความมั่นคงทางอาหาร
โดยความตั้งใจของ IUCN คือต้องการร่วมทำงานกับคนในชุมชน ให้ทุกคนสามารถจัดการขยะแต่ละประเภท ได้ด้วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นกิจวัตรปกติ ไม่ใช่กิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้เสริม แต่ทำเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน
Marketeer FYI
อ้างอิงข้อมูลสถิติจาก Euronews Green พบว่า ปี 2564 ไทยติดอันดับ 5 ประเทศที่มีขยะพลาสติกล้นทะเลสูงสุด ขณะที่ 10 ประเทศแรก ได้แก่ 1.อินเดีย, 2.จีน, 3.อินโดนีเซีย, 4.บราซิล, 5.ไทย, 6.เม็กซิโก, 7.อียิปต์, 8.สหรัฐอเมริกา, 9.ญี่ปุ่น และ 10.สหราชอาณาจักร
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ