บริษัท มันนิกซ์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบนแอป “ฟินนิกซ์” 2.5 หมื่นล้าน เร่งสร้างกำไร เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2568
สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลทั่วไป ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือหลักประกัน เป็นระบบปล่อยเงินกู้ถูกกฎหมาย
แม้ในช่วงก่อนโควิดจะประสบปัญหา จากการที่ผู้เล่นรายใหญ่หลายเจ้ายุติการให้สินเชื่อใหม่ จากภาวะความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ดีมานด์ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูง ตลาดนาโนไฟแนนซ์ขยายตัว
นางสาวถิรนันท์ อุรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เผยว่า ภาพรวมของตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สามไตรมาสของปีเติบโตขึ้น มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 3.1 หมื่นล้าน มีอัตราการเติบโต 50% ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 13% เทียบจากปีที่แล้ว อ้างอิงจากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัจจัยการขยายตัวของตลาดในปีนี้ยังคงเป็นผลกระทบจากโควิด ประกอบกับการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล ทำให้แอปพลิเคชันเงินกู้ถูกกฎหมาย ก้าวมาเป็นที่สนใจของกลุ่มที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสารรายได้ประจำ หรือกลุ่มคนประกอบอาชีพอิสระ
ส่งผลให้ภาพรวมของแอปฟินนิกซ์ในปีนี้ มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน รวม 650,000 ราย ยอดสินเชื่อรวม 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 117% และยอดดาวน์โหลด 8 ล้านครั้ง
ฐานลูกค้ายังเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน และต่อไปฟินนิกซ์จะขยายฐานลูกค้าอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น แบ่งสัดส่วนลูกค้าประมาณ 60% คือมนุษย์เงินเดือน และอีก 40% เป็นกลุ่มพ่อค้าเเม่ขาย
สำหรับภาพรวมตลาดนาโนไฟแนนซ์ ที่เเม้มูลค้าตลาดจะอยู่ในระดับแสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ส่วนที่ถูกกฎหมายมีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด
คุณถิรนันท์จึงมองว่า คู่เเข่งในตลาดนี้ ไม่ใช่ผู้เล่นในเเวดวงใกล้เคียงกันนี้ เเต่คู่เเข่งคือ กลุ่มปล่อยเงินกู้นอกระบบ จะเห็นว่ากลุ่มถูกกฎหมายมีมูลค่าตลาดน้อยกว่ากลุ่มให้กู้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย การดึงให้ประชาชนตระหนักรู้ และหันมากู้เงินในระบบ คือโจทย์ที่บริษัทต้องเเข่งขันด้วยมากกว่า
และการจะเติบโตในตลาดนี้ไปได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องพยายามรักษา NPL ให้อยู่ในระดับต่ำ
ซึ่งแอปฟินนิกซ์ ใช้ตัวช่วยรักษาอัตราหนี้เสียด้วย “เกมล่าดาว” บนแอปพลิเคชัน เป็นเกมที่เข้ามาช่วยให้ลูกค้ารักษาเครดิต และพบว่าผู้ที่เล่นเกมนี้สามารถรักษาเครดิตได้ดีกว่ากว่าลูกค้าทั่วไปถึงสามเท่า
ปัจจุบันฟินนิกซ์ มีส่วนแบ่งในตลาดนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 20-25% และหลังจากนี้ในอีกสามปีข้างหน้า วางแผนขับเคลื่อนแอปพลิเคชัน เพื่อขึ้นเป็น Top1 ของตลาด เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2568 ผ่านการโฟกัสไปที่กลยุทธ์สร้าง ‘Eco system F.I.R.E’ ดังนี้
1.F-Finance พัฒนาสินเชื่อนาโนและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ยังคงยึดนาโนไฟแนนซ์ที่บริษัทมองว่าสอดรับกับความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นหลัก นอกจากนั้นได้วางแผนรุกต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่ 70% เป็นผู้ใช้ในกรุงเทพฯทั้งหมด
ซึ่งในปีหน้าที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิก 1 ล้านคน ในจำนวนนี้จะเป็นลูกค้ากรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง
2.I-Intel ใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อรายงานสภาพทางการเงินจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า เสริมสร้างวินัยทางการเงินในระยะยาวให้ผู้ใช้งาน
3.R-Reward ใช้เกมแจกรางวัลกระตุ้นความสนใจลูกค้า ให้ตระหนักเรื่องการรักษาเครดิต โดยมอบของขวัญ วงเงินเพิ่ม หรือสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
4.E-Empowerment ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรจากสายธุรกิจอื่น เพื่อช่วยสร้างโอกาสเสริมอาชีพให้ลูกค้า ให้มีรายได้ เกิดสภาพคล่องทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการชำระหนี้
สำหรับเป้าหมายในปีหน้า ฟินนิกซ์คาดการณ์ยอดดาวน์โหลดเพิ่มจาก 8 ล้าน เป็น 12 ล้าน จำนวนลูกค้าจาก 650,000 เพิ่มเป็น 1 ล้านราย ยอดสินเชื่อรวมเเตะ 25,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีหน้าบริษัทเล็งกระตุ้นสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น เเต่ยังคงยึดนาโนไฟเเนซ์เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าสอดรับกับคนในประเทศมากกว่า เพราะในประชากร 70 ล้านกว่าคน มี 36 ล้านคนที่เป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท และในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ล้านคน สามารถใช้งานแอปพลิเคชันกู้เงินในระบบได้ เผยให้เห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มคนฐานราก
ส่วนแผนในสามปีข้างหน้าที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขยายขนาดธุรกิจและพัฒนาโปรดักซ์อื่นๆเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากเงินกู้ โดยปกติบริษัทจะต้องรักษากำไรให้ได้ 2-3 ปีติดกันก่อนเข้าตลาด เเละสถานการณ์ของมันนิกซ์สามารถทำกำไรมาได้หลายปีเเล้ว คุณถิรนันท์ กล่าวสรุป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



