สถานการณ์โควิดทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตและกิจวัตรประจำวันของคนทั่วโลกในทุก ๆ ด้าน เปลี่ยนไปอย่างมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน
หนึ่งในกิจกรรมที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การทำงานอยู่บ้าน (Work from Home) ซึ่ง Win Win กันฝ่ายพนักงานและบริษัท เพราะงานยังสามารถเดินหน้าต่อไปด้วย โดยที่ทุกคนปลอดภัยจากการระบาด
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสให้ทั้งฝ่ายพนักงานกับบริษัทได้ประจักษ์ถึงประโยชน์ของการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันมีพร้อมให้ติดต่อตามสื่อสารและติดตามงานได้
เมื่อสถานการณ์โควิดทุเลาลงก็ส่งผลสืบเนื่องให้หลายบริษัทปรับไปใช้การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid) ที่อนุญาตให้ยัง Work from Home กันต่อไปและเข้าบริษัทบ้างเป็นครั้งคราว โดยวัดศักยภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคนจากผลงานที่ออกมา
แต่ไม่ว่าโลกการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร หัวหน้าและลูกน้องก็ยังต้องติดต่อสื่อสารกัน เพื่อสอบถามความคืบหน้า ติติงและให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ โดยหากบริษัทไหนมีหัวหน้างานที่สื่อสารกับลูกน้องแต่พอดีและใส่ใจไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบนอกจากเรื่องงานบ้าง
ส่วนฝ่ายลูกน้องสามารถหยอกล้อหัวหน้าได้บ้าง ก็ช่วยความสัมพันธ์ในบริษัทกระชับแน่นแฟ้น และงานออกมาดี
ทว่าหากเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม หัวหน้าจ้องแต่จะถามแต่เรื่องงาน และเรียกมาดุด่าเสมอหากงานไม่ได้ดั่งใจหรือไม่ปล่อยผ่านปัญหาเล็ก ๆน้อย ๆ บ้าง โดยเมื่อโลกการทำงานปรับสู่โหมด Hybrid หัวหน้าแบบหลังก็ถึงคราวอัปเวล
Helicopter boss คือหัวหน้าจอมจู้จี้เวอร์ชันอัปเกรดพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมการทำงานยุคนี้ โดยจุดที่พวกเขาเหมือนกันคือ ไล่ตามงานผ่านทุกช่องทางการสื่อสารที่มี ทั้ง Email Line หรือแอปข้อความ และถ้าเป็นเพื่อนกับลูกน้องใน Social Media ด้วยก็จะสอดส่องความเคลื่อนไหวเพื่อตามงานอีก
ขณะเดียวกันหัวหน้าประเภทนี้ที่ชื่อเรียกได้มาจากพฤติกรรมวนเวียนไม่ไปไหน และส่งสัญญาณให้รู้ว่าเฝ้าติดตามอยู่ ไม่ต่างจากการบินวนพร้อมเสียงใบพัดที่ดังหึ่ง ๆ ไม่ขาดสายของ Helicopter ก็มักเรียกประชุมผ่าน Zoom อยู่บ่อย ๆ ทั้งที่บางครั้งก็ไม่จำเป็น
ผลเสียที่ตามมาหากบริษัทไหนมี Helicopter boss อยู่หลายคนคือ พนักงานจะทำงานนอกออฟฟิศ หรือ Work from Home กันแบบไม่เป็นสุข เพราะสมาธิแตกซ่าน ไม่ได้พักหรือไม่มีโอกาสได้พักไปทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้างตามสมควร จนที่สุดประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยลงไป และผลงานที่ออกมาก็จะไม่ดีเหมือนเก่า
หากยังจำเป็นที่จะต้องทำงานกับบริษัทต่อไปหรือเพื่อลดความเครียด พนักงานบางคนถึงขั้นหาเทคโนโลยีมาหลอกระบบ ให้เหมือนว่ายังทำงานอยู่หน้าจอเลยก็มี
ปัญหา Helicopter boss ยืนยันได้ด้วยตัวเลขจากผลสำรวจมากมาย เช่น กลุ่มตัวอย่างพนักงาน 1 ใน 5 ของบริษัท 24 ประเทศที่การสำรวจเมื่อปี 2020 ยอมรับว่า ไม่ชอบที่ถูกหัวหน้าเฝ้าสอดส่องการทำงานผ่านช่องทางต่าง ๆ และ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างนี้ เผยว่าความมั่นใจในการทำงานลดลงไป
ผลสำรวจเดียวกันยังระบุด้วยว่า หัวหน้างานกว่า 1 ใน 3 ไม่เชื่อว่าลูกน้องจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเวลาทำงานอยู่บ้าน
ขณะที่ผลสำรวจผ่านกลุ่มตัวอย่างบริษัทในสหรัฐฯ ปีนี้พบว่า หัวหน้าส่วนใหญ่ใช้แอปหรือเทคโนโลยีสอดส่องความเคลื่อนไหวของลูกน้อง โดยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องลดลง และบรรดา Helicopter boss 90% ยอมรับเคยไล่ลูกน้องที่ไม่ค่อยได้เจอหน้ากันเหล่านี้ออกไปแล้ว
ปัญหา Helicopter boss มองได้หลายด้าน โดยในมุมของฝ่ายหัวหน้าเกิดจากความต้องการให้งานยังเดินหน้าต่อไปได้และผลงานยังออกมาดี แต่เมื่อไม่สามารถเจอหน้ากันแบบปกติจึงจำเป็นต้องสอบถามความคืบหน้าผ่านทุกช่องทางการสื่อสารที่มี และแสดงให้ลูกน้องเห็นว่าตนก็ทำงานอยู่เช่นกัน
ส่วนฝ่ายพนักงานหรือลูกน้องมองว่า การที่หัวหน้ารัวเมลถามงานมากเกินไปและเรียกประชุมผ่าน Zoom บ่อย ๆ เป็นการไม่ไว้ใจกัน จนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้เกิดความเครียดสะสมตามมาและต้องออกจากบริษัทไป ไม่ว่าขอลาออกเองหรือถูกไล่ออกก็ตาม
ทางออกของปัญหา Helicopter boss คือหัวหน้ากับลูกน้องต้องไว้เนื้อเชื่อใจกัน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติตามกฎที่วางไว้ เช่น ส่งงานตามกำหนด และเข้าร่วมประชุมออนไลน์ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ควรบ่อยเกินไปจนกระทบต่อเวลาทำงาน
ส่วนฝ่ายหัวหน้าก็ต้องยืดหยุ่น ยอมรับกับเทรนด์ในการทำงานที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันก็ควรกำหนดเวลาการเข้าบริษัทเพื่อให้ได้พบหน้าค่าตาทีมงาน และรักษาสายสัมพันธ์ในบริษัทเอาไว้
ถ้าไม่ทำแบบนี้ พฤติกรรมการบินวนคุมงานลูกน้องก็จะยิ่งหนักข้อ และ Helicopter boss อาจลืมตัวยิงขีปนาวุธคำพูดทำร้ายใจลูกน้องถี่ขึ้น จนที่สุดเสถียรภาพและอนาคตของบริษัทได้รับการผลกระทบจากไล่ออกหรือลาออกที่เกิดขึ้นบ่อยโดยไม่จำเป็น/bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



