จากแผนของเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บมจ. คาราบาวกรุ๊ป ขยายพอร์ตไปยังธุรกิจเบียร์ ด้วยงบลงทุน 4,000 ล้านบาท พร้อมเปิดตัวสู่ตลาดในไตรมาส 4 ปีนี้ อย่างน้อย 2-3 รสชาติ เพื่อทดลองตลาดก่อนพัฒนาไปยังรสชาติใหม่ ๆ มากขึ้น
เหตุผลการเข้าสู่ตลาดเบียร์ของคาราบาวกรุ๊ป เหมือนเป็นไฟต์บังคับสร้างการเติบโตจากเหล้าสู่เบียร์
จากธุรกิจเหล้ามีโอกาสในการขยายตัวค่อนข้างยาก
และเมื่ออ้างอิงกับรายได้เก็บภาษีเหล้าของกรมสรรพสามิต พบว่า
รายได้จากภาษีเหล้าลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในปี 2563 มีรายได้จากภาษีเหล้า 61,820.45 ล้านบาท
ปี 2564 59,602.79 ล้านบาท
ปี 2565 59,260.11 ล้านบาท
ส่วนรายได้จากภาษีเบียร์กลับเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน
ปี 2563 80,026.83 ล้านบาท
ปี 2564 81,039.91 ล้านบาท
ปี 2565 85,035.20 ล้านบาท
และเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่คาราบาวกรุ๊ปอยู่ในธุรกิจมาก่อนหน้านั้น จากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ที่เปิดมากว่า 20 ปี
แม้ในตลาดเบียร์จะมีผู้เล่นที่ครองตลาดหลักอย่างค่ายสิงห์ และค่ายช้าง ที่ห้ำหั่นอยู่ในตลาดทุกเซกเมนต์ จากผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์
แต่ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมูลค่า 200,000 ล้านบาท วันนี้เริ่มเปิดกว้างจากการเข้ามาสร้างตลาดของแบรนด์ใหญ่ของโลก และแบรนด์เบียร์รายย่อย โดยเฉพาะคราฟเบียร์ต่าง ๆ ที่เข้ามาบุกตลาดอยู่เต็มเชลฟ์ สร้างทางเลือกให้กับนักดื่ม
และแม้แบรนด์เบียร์ต่าง ๆ จะออกมาโฆษณาในรูปแบบแมสไม่ได้ แต่ก็สร้างการเติบโตจากนักดื่มที่มองหารสชาติที่ชื่นชอบและแตกต่างจากรสชาติเดิม ๆ ที่คุ้นเคย
ตลอดจนการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังจับจ่ายมากขึ้น
และอาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคาราบาวกรุ๊ปในธุรกิจเบียร์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะเสถียรโฟกัสไปยังตลาดที่ไม่ใช่เบียร์อีโคโนมี และโรงงานที่ก่อตั้งมีกำลังการผลิตมากถึง 400 ล้านลิตรต่อปี
การส่งออกไปกระจายขายทั่วประเทศ จากต้นทุนสายส่งที่มีอยู่จึงเป็นไปไม่ได้ยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาราบาวกรุ๊ป มีร้านขายปลีกของตัวเองอย่างถูกดีมีมาตรฐานกว่า 5,000 สาขา และร้าน CJ กว่า 1,000 สาขา ในปัจจุบัน
และจะขยายสาขาร้านถูกดีมีมาตรฐานเพิ่มเป็น 8,000 สาขา และ CJ เพิ่มอีก 250 สาขาในสิ้นปี
แต่รสชาติที่จะออกมาเปิดตลาดเป็นอย่างไร ผู้ดื่มคือคนตัดสิน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



