ติ๊กถูกสีฟ้า รู้จักเกมสร้างรายได้ใหม่ให้กับ Twitter และ Facebook
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของ Twitter และ Facebook ที่ออกมาเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนกับผู้ที่ต้องการ Verified ตัวเอง ด้วยการติดเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้ากำกับไว้บนแอคเคานต์ของตัวเอง
เครื่องหมาย ติ๊กถูกสีฟ้า Twitter เรียกว่า Twitter Blue เริ่มต้นเก็บค่าบริการธันวาคม 2565 ในราคาค่าบริการต่อเดือน 8 USD เมื่อสมัครและจ่ายค่าบริการผ่านเว็บไซต์ และ 11 USD สำหรับสมัครและจ่ายค่าบริการผ่านมือถือ IOS และ Android
ส่วน Facebook เรียกว่า Meta Verified บริการที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเมื่อวานที่ผ่านมา
มีอัตราค่าบริการเดือนละ 11.99 USD เมื่อจ่ายผ่านเว็บไซต์ และ 14.99 USD จ่ายผ่านมือถือ เมื่อสมัครและจ่ายค่าบริการแล้วเครื่องหมายนี้จะใช้ได้ทั้ง Facebook และ IG โดยไม่ต้องสมัครแยก
บริการ Meta Verified นำร่องทดลองตลาดในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็น 2 ประเทศแรก ก่อนที่จะขยายให้บริการอื่น ๆ ทั่วโลก
การเปิดตัวของบริการนี้ เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้กับ Twitter และ Meta อย่างสม่ำเสมอ ในทุก ๆ เดือน
ถ้าบริการนี้ผู้ใช้มองว่ามีความสำคัญมากพอจนตัดสินใจสมัครบริการเป็นครั้งแรก
ซึ่งคำว่าสำคัญมากพอต้องมาจากสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับ นอกเหนือเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า ที่ยืนยันว่าเป็นแอคเคานต์ที่มาจากเจ้าของตัวจริง สร้างค่าทางสังคมเท่านั้น
เพราะเมื่อแอคเคานต์สมัครบริการ Twitter Blue หรือ Meta Verified ได้เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าแล้ว ยากที่จะยกเลิกบริการ
การยกเลิกบริการในสายตาผู้บริโภคอาจจะมองว่าเป็นการลดความน่าเชื่อถือลงไป และไม่มั่นใจว่าแอคเคานต์ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นแอคเคานต์จริงหรือปลอมที่คนอื่นสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกให้เข้าใจผิด
จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ Twitter ประกาศบริการ Twitter Blue อีลอน มัสก์ ได้เพิ่มฟีเจอร์เป็นจุดขายเชิญชวนผู้ใช้เข้ามาสมัครเป็น Twitter Blue อย่างต่อเนื่อง
ทั้งฟีเจอร์อัปโหลดวิดีโอได้ความยาว 60 นาที
Tweet ตัวอักษรได้มากถึง 4,000 ตัวอักษร
เห็นโพสต์โฆษณาน้อยกว่า และจัดอันดับความสำคัญในการสนทนามากกว่าแอคเคานต์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Twitter Blue
รวมถึงยกเลิกบริการยืนยันตัวตน 2 ครั้งในแอคเคานต์ทั่วไป และนำไปให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เป็น Twitter Blue เท่านั้น
เนื่องจากที่ผ่านมา Twitter Blue ยังไปไม่ถึงฝันที่อีลอนได้วางไว้ คือ ยอดสมาชิกต่อเดือน 15 ล้านราย
ส่วน Meta Verified ที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศ ได้ดึงดูดให้ผู้ใช้งานเลือกสมัครใช้บริการผ่านจุดขายเพิ่มการมองเห็นที่มากขึ้น เพราะการมีเครื่องหมายติ๊กถูกจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้พบเห็น และเป็นการป้องกันการแอบอ้างจากเจ้าของแอคเคานต์ปลอมอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ สมาชิก Meta Verified ยังมีความแตกต่างจากสมาชิกทั่วไปในเรื่องเมื่อมีการค้นหาผ่าน Facebook หรือ IG คอนเทนต์ของสมาชิก Meta Verified จะปรากฏเป็นคอนเทนต์แรก และเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ของ Meta จะได้รับสิทธิ Exclusive ได้ทดลองใช้เป็นกลุ่มแรก ๆ
และเมื่อเกิดปัญหาในการใช้งานสมาชิกกลุ่มนี้จะได้รับการบริการจากคน แทนผู้ใช้งาน Facebook อื่น ๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสารผ่าน AI เป็นต้น
อย่างไรก็ดีสำหรับ Twitter Blue และ Meta Verified จะกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้กับ Twitter และ Meta ได้หรือไม่
คงต้องดูกันยาว ๆ เพราะในวันนี้ Twitter Blue ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และ Meta Verified ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
ซึ่งถ้าทำได้จริงเราคงได้เห็นการขาดทุนที่ลดลงของทั้งสองบริษัทที่ในวันนี้ทั้งคู่ประสบกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



