ธ.กรุงศรี ปิดปี 2565 สินเชื่อรายใหญ่โต 2% รวมสินเชื่อคงค้างในพอร์ต 4.7 แสนลบ. ตั้งเป้า ปี 2566 โต 5% YoY หรือยอดสินเชื่อคงค้างใหม่ อย่างต่ำ 4.2 หมื่นลบ. ลุยปิด 10 ดีลใหญ่ เข้าพอร์ตวาณิชธนกิจ อาทิ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่จะแล้วเสร็จ ไตรมาส 2/2566
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY บริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เผยว่า ปี 2565 กรุงศรี มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และ วาณิชธนกิจ หรือ ธุรกิจระดมเงินทุน, ซื้อขายหลักทรัพย์, บริหารการควบรวม และซื้อกิจการ โดย สถาบันทางการเงิน
มีอัตราเติบโตของยอดสินเชื่อจากลูกค้าธุรกิจ 2% YoY รวมยอดสินเชื่อคงค้าง กว่า 474,500 ล้านบาท และสนับสนุนการเงินในโครงการธุรกิจเพื่อสังคม และความยั่งยืน (ESG Financing) กว่า 35,000 ล้านบาท
แผนการดำเนินงาน ปี 2566 กรุงศรี จะยังคงเดินหน้าสานต่อเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ตามแผนธุรกิจระยะกลาง ฉบับปัจจุบัน ปี 2564-66
โดยตั้งเป้าสินเชื่อ เติบโต 5% หรือยอดสินเชื่อคงค้างใหม่ อย่างต่ำ 24,000 ล้านบาท ทั้งบรรลุเป้าหมาย การสนับสนุนทางการเงินให้ ESG Financing อยู่ที่ 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
ด้านกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ ยังคงมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ (Trusted Partner) ผ่านการเน้นผนึกกำลังกับ MUFG กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น และในโลก
ที่มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,400 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มศักยภาพ และขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ของกรุงศรี
ด้าน ธุรกิจวาณิชธนกิจ ปี 2566 กรุงศรี จะมีดีลร่วมทุน-ควบรวมกิจการ กว่า 10 ดีล อาทิ ธุรกิจในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ไซส์ขนาดกลาง (1,000-5,000 ล้านบาท)
หรือ การควบรวมบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ อย่าง บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ก็จะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 2/2566
ขณะที่ ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2566 กรุงศรี วิเคราะห์ว่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบอย่าง ปัญหาเงินเฟ้อ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการสิ้นสุดของมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ
ทั้งความน่ากังวลของการกระจุกตัว ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่กระจายไปถึงธุรกิจระดับ SME และ รากหญ้า โดยเชื่อว่าความสำเร็จของการรับมือนักท่องเที่ยวจีน ให้กลับเข้ามาได้อย่างเต็บสูบ และมีประสิทธิภาพ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เหล่าคนตัวเล็กในภาคเศรษฐกิจไทย กลับมาลืมตาอ้าปากกันได้อีกครั้ง
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่จะเป็นโอกาสอันดีของการเติบโตด้านยอดสินเชื่อใหม่ ให้กับสถาบันการเงินทั่วประเทศไทย จะเป็นกลุ่ม โทรคมนาคม, พลังงาน, อาหาร และเครื่องดื่ม ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสฟื้นตัวช้าที่สุด อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



