GARAGE LIFE & BUSINESS
พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา คือ ทายาทเจน 2 แห่ง ‘บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)’ บิ๊กคอมพานีแห่ง วงการยานยนต์ เมืองไทย ทำทั้งสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์จนก้าวเข้าสู่ยุคออนไลน์ รวมถึงอีเวนต์มหกรรมแสดงรถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์
… บ่ายแก่ๆ ก่อนที่งาน มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 กำลังจะคิกออฟในอีกไม่กี่วันที่จะมาถึง Marketeer มีนัดกับคุณพีระพงศ์ พร้อมกับเปิดการาจส่วนตัวภายในบ้านย่านเมืองทองเพื่อชวนเราไปนั่งคุยกับเรื่องราว ความท้าทายในการทำสื่อ ‘ยานยนต์’ ในยุคนี้ และ การยกระดับ ‘มอเตอร์โชว์’ ให้เป็นเฟสติวัลที่คนรักรถเฝ้ารอได้อย่างไร …
นักสร้างสรรค์ธุรกิจ และนักแสวงหาโอกาสใหม่
ตำแหน่งบนนามบัตรของเขาคือ Chief Growth Officer
“จริง ๆ ผมเหมือนเป็นเจ้าภาพร่วมของแต่ละ Business Unit ทั้งบริษัท” ทำหน้าที่ดูแลในภาพรวมเรื่องพัฒนาธุรกิจทั้งในฝั่งของสื่อในเครือทั้งหมด ธุรกิจงานอีเวนต์ ธุรกิจงานพิมพ์ รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราจะต้องพยายามมองหาโอกาสและลงทุน
และเป้าหมายคือ สร้าง Growth ทั้งเรื่องรายได้และในเรื่องของกลุ่มลูกค้าเพื่อสร้างความยั่งยืนให้บริษัทในอนาคต
“คุณเองก็รู้ว่าสื่อโดน Disrupt เยอะมากในช่วงที่ผ่านมา” คุณพีระพงศ์ตั้งคำถามกลับมาในฐานะคนที่เป็นสื่อเหมือนกัน
ในปัจจุบันสื่อเกี่ยวกับยานยนต์ภายใต้ร่มของ กรังด์ปรีซ์ ประกอบไปด้วย 6 สื่อหลัก ประกอบไปด้วย
– Grand Prix นำเสนอเกี่ยวกับข่าวสารรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ทั้งในไทย-ต่างประเทศ รีวิวรถใหม่
– XO Autosport นำเสนอเกี่ยวกับรถและไลฟ์ไตล์ รถแต่ง รถวัยรุ่น รถแต่งต่าง ๆ
– ยวดยาน เป็นหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับยานยนต์
– Garage Life นิตยสารเล่มเดียวที่แปลเนื้อหาจากหัวนอก คอนเทนต์เกี่ยวกับการาจ โรงรถสวย ๆ และฮอบบี้น่าสนใจ
– นิตยสารมอเตอร์ไซค์ โฟกัสไปที่เนื้อหาเกี่ยวมอเตอร์ไซค์ และการแต่งรถมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ
– Off Road Magazine รวมทุกเรื่องวงการออฟโรด
ถ้าให้ตัวอย่างสื่อที่เปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จสูงสุดคงเป็น XO Autosport ที่เราเริ่มเปลี่ยนก่อน ทำให้มีฐานกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ที่เขาย้ายมาทางออนไลน์ค่อนข้างเยอะ โดยในปัจจุบันเพจ XO Autosport มีคนติดตามกว่า 1.6 ล้านคน และบน YouTube อีกเกือบ 1 ล้าน Subscribers เช่นกัน
หนังสือ XO เริ่มต้นอย่างไร
“จริง ๆ เริ่มจากสมัยที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเอแบค ในตอนนั้นทั้งเราและก็เพื่อนในทีมก็เริ่มแต่งรถ มีรถสวย ๆ ผมอยากนำเสนออะไรที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น จึงเกิดเป็นคอลัมน์ในนิตยสาร Grand Prix ที่เราทำอยู่แล้วชื่อว่า Style up ก็มีทั้งเราและทีมงานช่วย ๆ กันทำจนมันโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายกลายเป็นแยกออกมาเป็น XO Autosport”

อนาคตของฝั่งสื่อ ต้องเดินไปทางไหน
เขายืนยันว่า คอนเทนต์ที่ต้องการทำเสนอ อย่างไรก็ยังคงเป็นคอร์หลัก แต่การขยับขยายไปยังช่องทางใหม่ ๆ ก็เหมือนกับเวลาที่เราแต่งรถเสริมนี่เติมนั่นเพื่อให้เข้ากับสมัยนิยมไปเรื่อย ๆ และที่สำคัญคือการกำหนด “เป้าหมาย” ว่าเราจะแต่งสไตล์ไหน แต่งไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ไดเรกชันต้องชัดเจน
“ผมต้องกลับมาทบทวนใหม่ เดิมแต่ละหัวแต่ละสื่อที่อยู่ในมือแยกกันทำงานอย่างชัดเจน ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสีย แต่พอมาถึงจุดหนึ่งกลับกลายเป็นว่าเราไม่ช่วยเหลือกันเอง งานบางอย่าง หรือคอนเทนต์ที่ออกก็มาซ้ำซ้อนกันเอง
วันนี้เราก็พยายามเปลี่ยนเอาทุกส่วนมารวมกัน แล้วก็จัดองค์กรใหม่ให้แต่ละหน่วยงานให้สามารถเชื่อมโยงทำงานร่วมกันได้มากขึ้น ถ้าถามว่าการเปลี่ยนแปลงยากมั้ย ก็ยาก
เพราะต้องทำงานแบบมีการวางแผนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะสั่งใครเมื่อไหร่ก็ได้ มันก็ต้องมีการประสานงานแบบมีระบบ แต่เราก็คิดว่าการที่มารวมกันทำให้เราไม่ต้องไปเสียเวลาในบางเรื่องที่มันทำซ้ำกัน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
และปัจจุบันแต่ละ BU ก็ไม่ใช่แค่ทำสื่ออย่างเดียวแล้ว จะต้องทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อย่างงานอีเวนต์ อย่างงานใหญ่ประจำปีของ XO ก็จะมีงาน Souped Up ค้นหารถที่เร็วที่สุดในประเทศไทย มีงาน Carfeine เป็นงาน Car Meeting ที่จัดอยู่”
ถึงเวลาอีเวนต์
กรังด์ปรีซ์ ยังมีอีกขาหนึ่งของธุรกิจคือเป็นผู้รับจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ก้าวข้ามแค่คำว่างานรถยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์ ไปแล้ว เพราะด้วยประสบการณ์และทีมงานที่มี อย่างที่ผ่านมาเคยได้จัดทั้งงานไตรกีฬา AMAZING RACE FESTIVAL & TRIATHLON โดยการท่องเที่ยว จ.กาญจนบุรี มีคนเข้ามาร่วมประมาณ 3,000 คน
ไปจนถึงงาน Entertainment ต่าง ๆ อย่างงานที่กำลังจะจัดขึ้น ปิดรอยัล พารากอนฮอลล์ จัด Fan Meeting จีชางอุค นักแสดงชายชื่อดังจากเกาหลีที่มีค่าตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ในช่วงเดือนเมษายนนี้
“ที่จริงเราต้องมองอีเวนต์ที่สามารถ Scale up ได้ต่อ หรืองานอะไรที่เข้าถึงคนมาก ๆ ได้ คำตอบก็คงเป็น กีฬา กับ ความบันเทิง เรามั่นใจสกิลการจัดงานของทีมเราและพาร์ตเนอร์ของเรา ต่อจากนี้จะได้เห็นงานอีเวนต์ทั้งที่เกี่ยวกับรถ และไม่เกี่ยวกับรถของกรังด์ปรีซ์ออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน”
GRAND PRIX
ในปีนี้ งาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 และนับเป็นปีที่ 2 หลังจากวิกฤตโควิด-19 จบ ซึ่งในปีก่อน มอเตอร์โชว์ สามารถคัมแบ็กกลับมาได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ด้วยยอดผู้เข้างานกว่า 1.58 ล้านคน 36 แบรนด์ยานยนต์ที่เข้าร่วม รวมถึงยอดขายรวมรถยนต์กว่า 31,896 คัน
และในปีนี้ยังคงปักหมุดที่ Challenger เมืองทองธานี ยิงยาว 12 วันเต็ม ตั้งแต่ 22 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2566
“สำหรับไฮไลท์ในปีนี้คงหนีไม่พ้นกระแสของรถยนต์ EV และกำลังเป็นจังหวะที่ดีที่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละค่ายเริ่มวิ่งบนถนนเยอะขึ้น หลังจากปีก่อนมีทั้งปัญหาโควิด ไปจนถึงชิปขาดแคลน
รวมถึงค่ายรถไฟฟ้าจากจีนหลาย ๆ ค่ายที่เข้ามาทำตลาดในไทยจนเป็นกระแสแรงมาก อย่างปีนี้มี BYD มี NETA หรืออย่างที่เป็นกระแสมาตั้งแต่ปีก่อนอย่าง Great Wall Motor ปีนี้ก็จัดเต็ม”
วางเป้าหมายเรื่องคน และแบรนด์ ต้องเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน?
“ผมว่าล้านกว่าคนต่องานแบบนี้กำลังดี…เพราะเราเคยมีประสบการณ์แล้ว สมัยแรก ๆ ที่จัดที่สวนอัมพร พื้นที่เล็ก พอคนมาเยอะมาก ๆ คนมางานไม่มีความสุข ได้แต่เดินดูเบียดกัน ลองจับลองนั่งอะไรก็ไม่สะดวก
เป้าหมายจริง ๆ ของผมคือคนประมาณเท่านี้กำลังพอดี แต่เราโฟกัสในเรื่องที่ว่า ทำยังไงให้คนจำนวนนี้อยากมางานเราทุกปี เป็นเหมือนเฟสติวัลประจำปี ที่เขาได้มาเดินดูรถสวย ๆ มาอัปเดตเทคโนโลยี ได้ความทรงจำดี ๆ กลับไป
รวมถึงในส่วนลูกค้าแบรนด์เองว่าเราสามารถให้อะไรเขากลับไปได้บ้าง และผมเชื่อว่าแบรนด์ที่มางานก็ไม่หวังเพียงแค่ยอดจองรถเท่านั้น แต่การที่เขามาร่วมงาน มาออกบูธมันมีความหมายมากกว่านั้น”
เสน่ห์ของ มอเตอร์โชว์ อยู่ตรงไหน
“ตอนโควิดเราเคยศึกษาและทดลองทำ Virtual Event ต้องพูดตามตรงเลยว่า ไม่เวิร์ค เพราะใช้เวลามากในการเตรียมงาน เวลาในการสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้คนรู้สึกเหมือนเดินมางาน
มันอาจจะทดแทนบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด…
สุดท้ายการเลือกรถยนต์จะต้องลองซึมซับประสบการณ์ ลองนั่ง ลองจับวัสดุ ลองขับ ด้วยความที่รถเป็นของที่มีราคา จะซื้อวันนี้ ใช้แล้วไม่ชอบ เดี๋ยวเดือนหน้าเปลี่ยนใหม่ มันก็ทำแบบนั้นไม่ได้ทุกคน
เราจึงได้จัดสนามทดสอบให้ลองขับได้ด้วย คนที่อยากจองจริง ๆ ก็จะสามารถลองขับได้ก่อน ผมว่าคนต้องการประสบการณ์ในการที่ลองตรงนั้นมากกว่าแค่เพียงเห็นภาพ หรือฟังคนอื่นรีวิวแล้วซื้อทันที
ในฝั่งแบรนด์เองเวลาออกงานก็ทุ่มเต็มที่ คนที่จะมาให้ข้อมูลรถ หรือเจ้าหน้าที่เซลล์ที่มายืนอยู่ตามแต่ละแบรนด์ แน่นอนว่าต้องถูกเทรน ถูกคัดมาพิเศษจากแต่ละดีลเลอร์เพื่องานเราโดยเฉพาะ
ทำให้สิ่งที่ต้องโฟกัสอีกอย่างหนึ่งคือเราจะจัดงานอย่างไรให้คนที่มาชมงานที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจอยากจะซื้อรถมาจากบ้าน แค่อยากมาเดินเล่นก็มีความสุข มาเดินแล้วอยากจะซื้อรถ ด้วยบรรยากาศงาน รวมถึงข้อเสนอ สิทธิพิเศษ และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นี่คือความสำเร็จของเรา”
GARAGE LIFE
ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ร่วมชั่วโมง หนึ่งสิ่งที่เรียกร้องให้คนคอ JDM อย่างผู้สัมภาษณ์เองต้องแอบละสายตาไปมองอยู่บ่อยครั้ง ก็คือ MAZDA RX-7 สีแดงคันงาม ที่จอดอยู่หลังพีระพงศ์ จึงไม่รอช้าถามคำถามสุดท้ายก่อนจากลากันในวันนั้นว่า
“รถคันไหนคือแบรนด์หรือรุ่นที่เขาชอบมากที่สุด?”
คำถามนี้ทำให้เขาต้องคิดคำตอบอยู่นาน…
ก่อนจะเฉลยคำตอบว่าคือ Mitsubishi Lancer Evolution 6.5 รุ่น Tommi Makinen
“มันดูเป็นรถยนต์ 4 ประตูเหมือนรถบ้าน แต่ก็มีความพิเศษตรงที่มันก็มีชุดแต่ง ทั้งภายนอกและภายใน ที่ทำให้ดูไม่ธรรมดาจนเกินไป แต่สมรรถนะการขับขี่ดีมาก มีความแรงที่สู้กับพวกรถสปอร์ตในยุคเดียวกันได้ เป็นรถที่อาจจะดูธรรมดา แต่ก็ไม่ธรรมดาแล้วก็พร้อมที่จะลุยได้ แข่งกับใครก็ได้ สมรรถนะดี เลี้ยวเข้าโค้งอะไรก็ดี ถ้าเราอยากจะใช้ไปไหน มีคนไปด้วยก็ยังนั่งไปกันได้หลายคน รถสปอร์ตหรูหรามันไปบางที่ไม่ได้นะ”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



