สถานการณ์ด้านราคาอาหารในเกาหลีใต้นอกจากไม่ดีขึ้นแล้ว ซ้ำร้ายยังแย่ลงจนกระทบให้มื้อต่าง ๆ ช่วงนี้ของทั้งคนในประเทศและนักท่องเที่ยวไม่อร่อยครบเครื่องเหมือนเคย

ร้านอาหารในเกาหลีใต้จำเป็นต้องลดเครื่องเคียง โดยเฉพาะผักต่าง ๆ ลงไป หลังราคาผักที่นำมาทำเครื่องเคียงเสิร์ฟให้ลูกค้า แพงขึ้นอย่างมาก

เช่นเมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา ราคาหัวหอมปริมาณ 5 กิโลกรัม อยู่ที่ 27,640 วอน (ราว 724 บาท) ขึ้นมาจาก 8,808 วอน (ราว 230 บาท) หรือแพงขึ้น 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2021  

ส่วนราคาขายส่งของแคร์รอตปริมาณ 20 กิโลกรัม เมื่อต้นมีนาคม อยู่ที่ 58,040 วอน (ราว 1,520 บาท) แล้ว ขึ้นจาก 23,904 วอน (ราว 626 บาท) หรือแพงขึ้นมา 143% จากช่วงเดียวกันของปี 2021   

เจ้าของร้านอาหารในเมืองกยองกี เผยว่า ตอนนี้เสิร์ฟเครื่องเคียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ลดลงจาก 3 หรือ 4 อย่างก่อนหน้านี้ ส่วนร้านอีกแห่งในจังหวัดเดียวกัน ยอมรับว่า ผักสลัดก็ต้องลดลง เพราะสู้ราคาที่แพงขึ้นไม่ไหว

ราคาอาหารและวัตถุดิบโดยเฉพาะผักที่แพงขึ้นอย่างของเกาหลีใต้ เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งภัยแล้ง ความผิดเพี้ยนของสภาพอากาศและราคาน้ำมัน ยิ่งเป็นการซ้ำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

เพราะปัจจุบันกิมจิเครื่องเคียงหลักที่สร้างชื่อให้อาหารเกาหลีไปทั่วโลก ก็ราคาแพงขึ้นเช่นกัน สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และสภาพอากาศแปรปรวน จนจำเป็นต้องนำเข้ากิมจิจากจีนที่ราคาถูกกว่า แม้รู้อยู่แก่ใจว่าทำให้ประเทศขาดดุลกิมจิก็ตาม/koreatimes



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online