Evergreen ทำความรู้จักยักษ์โลจิสติกส์ไต้หวัน กำไรล้นเปย์โบนัสไม่อั้น

แม้สถานะของ ไต้หวัน บนเวทีโลกยังไม่ชัดเจน ต้องว่ากันเป็นกรณีๆไป เป็นที่ถกเถียง และเกิดปัญหาทุกครั้งเมื่อมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะถ้าไปกระทบกับจีน และมีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่เกาะขนาดไม่ใหญ่ และประชากรเพียงราว 24 ล้านคนแห่งนี้ ก็เปี่ยมศักยภาพทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ เพราะ มีบริษัทไต้หวัน หลายแห่งสามารถขึ้นเป็นระดับท็อปๆ ของโลกได้

ยืนยันได้จาก HTC และ Asus ก็เป็นที่รู้จักพอสมควร ในอุตสาหกรรมพิวเตอร์

ส่วน Foxconn กับ TSMC ถือเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหรรมรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมชิปตามลำดับ

อีกธุรกิจที่บริษัทไต้หวันอยู่ระดับท็อปๆ เช่นกัน คือการลำเลียงสินค้า (Logistics) โดยเฉพาะขนส่งทางเรือ หลักฐานคือการที่Evergreenพัฒนาจนกลายเป็นเบอร์ต้นๆ ของสายการเดินเรือสินค้า ทั้งด้วยจำนวนเรือสินค้าลำยักษ์มากมาย และท่าเรือหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วโลก

Evergreenก่อตั้งเมื่อปี 1968 ด้วยเรือสินค้ามือสองลำเดียวที่ ฉาง หยุน-ฟา ชาวเมืองท่าซูอ้าว ที่ไต่เต้าจากลูกเรือขนส่งสินค้าระดับล่างจนได้เป็นกัปตัน เช่ามา

ฉาง หยุน-ฟา

เรือตั้งต้นธุรกิจของEvergreenลำนี้พร้อมไปทุกที่หมายแล้วแต่ลูกค้าจะว่าจ้าง โดยต่อมา Evergreen ก็ได้ขยับขยาย ทั้งจำนวนเรือ ที่หมายในการขนส่ง และเส้นทางเดินที่เพิ่มขึ้น

จนปี 1974 สามารถเปิดสาขาในสหรัฐ และยังก้าวหน้าต่อเนื่องจนปี 1981 สามารถขยายเส้นทางลำเลียงสินค้าไปทั่วโลก

ถัดจากนั้นก็มีการแตกบริษัทลูก เช่น สายการบิน EVA Air ในปี 1991 จนทำให้ขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่สุดของไต้หวัน

และบริษัทลำเลียงสินค้าทางเรือใหญ่อันดับ 6 ของโลกด้วยจำนวนเรือ 204 ลำ และตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต (TEU) ที่ใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดศักยภาพการลำเลียงสินค้า มากถึง 1.5 ล้านตู้

ทว่าปี 2021 Evergreenก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแบบไม่ตั้งใจ หลังเรือลำเลียงสินค้าลำยักษ์ Ever Given ที่เช่าบริษัทญี่ปุ่นมาไปเกยตื้นขวางคลองสุเอซ อยู่ 6 วัน

ปิดทางเดินเรือสินค้าทั่วโลก สร้างความเสียหายมหาศาลให้ธุรกิจการเดินเรือทั้งระบบ

การเกยตื้นของเรือ Ever Given กลายเป็นเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกของปี 2021 และเปิดโอกาสให้คนที่ติดตามข่าวนี้ได้ทราบถึงความซับซ้อนของธุรกิจการเดินเรือ โดยนอกจาก ญี่ปุ่นที่ต่อ และเป็นเจ้าของเรือ ส่วนEvergreenบริษัทไต้หวันเช่าเรือมาทำธุรกิจแล้ว

ปานามา เยอรมนี อังกฤษ และอียิปต์ ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ในฐานะ ประเทศที่เรือไปจดทะเบียน ประเทศที่ตั้งของบริษัทดูแลด้านเทคนิค ประเทศต้นทางของบริษัทประกัน และเจ้าของคลองสุเอซ ตามลำดับ ขณะที่ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย

ปลายปี 2021 สถานการณ์ในธุรกิจเดินเรือทั่วโลกก็กลับมาดีขึ้น เพราะวิกฤตโควิดผ่านพ้น และการขนส่งสินค้าทางเรือกลับสู่ภาวะปกติ ปลายปีนั้น Evergreen จึงฟื้นกลับมาทำกำไรได้ก้อนใหญ่ จนเรียกเสียงฮือฮา ด้วยการแจกโบนัสพนักงานมากถึง 40 เดือน

และปี 2022 สถานการณ์ก็ดีขึ้นอีก โดยปิดงบการเงินปีนั้นด้วยตัวเลขกำไรสูงถึง 14,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 502,000 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2021 ถึงเกือบ 40% และประกาศแจกโบนัสพนักงานรอบใหม่อีก 10 หรือ 11 เดือน

สื่อในเอเชียรายงานว่า โบนัสรอบนี้ทำให้พนักงานของEvergreenเหมือนได้เงินเดือนล่วงหน้าไปแล้ว 5 ปี

ส่วนสื่อในไต้หวันรายงานว่า ตอนนี้ Evergreen กลายเป็นบริษัทที่ชาวไต้หวันอยากไปทำงานด้วยมากสุด ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากโบนัสมากมายนั่นเอง

แม้นักวิชาการด้านแรงงานไต้หวันเป็นห่วงว่า นี่จะทำให้Evergreenใช้เป็นข้ออ้างไม่ขึ้นเงินเดือนได้หลายปี

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำไรล้นบริษัทและการแจกโบนัสก้อนใหญ่ครั้งล่าสุด ก็ถือเป็นหลักฐานว่าEvergreenประสบความสำเร็จมหาศาล

และก้าวมาไกลมากเหลือเกิน จากบริษัทของอดีตกัปตันเรือสินค้าที่เริ่มจากเรือมือสองเมื่อ 55 ปีก่อน / nikkei , asiasone 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน