ในวันนี้เราได้เห็นคอนเทนต์ต่าง ๆ มากมาย คลาคล่ำอยู่บนโซเชียลมีเดีย ทั้งคอนเทนต์จากเพื่อน จากเพจที่ติดตาม จากการจ่ายเงินโฆษณา และอื่น ๆ อีกมากมาย

เมื่อโซเชียลมีแต่คอนเทนต์เต็มไปหมด แบรนด์จะปั้นคอนเทนต์อย่างไรให้โดนใจ

ในงาน Power of ONE, Power of Future โดย ปับลิซีส กรุ๊ป สมิหรา ทันต์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ และมิณฑารา บัวทอง Senior Strategic Planner ดิจิทาซ ประเทศไทย ในเครือปับลิซีส กรุ๊ป เปิดเผยเทรนด์การทำคอนเทนต์ให้โดนใจผู้บริโภค 4 เทรนด์ได้แก่

 

1. Recommendation Media ไม่ต้องฟอลโลว์เดี๋ยวคอนเทนต์โชว์เอง

เคยสังเกตไหมว่า เมื่อเราเข้าโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก จะเห็นคอนเทนต์จากเพจที่เราไม่เคยติดตามปรากฏอยู่บนหน้าฟีดอยู่เสมอ พร้อมข้อความที่ขึ้นว่า Suggested for you แนะนำสำหรับคุณ จากการปรับ Algorithm ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ให้ Audience ได้เห็นคอนเทนต์และ Channel ใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Recommendation Media ที่ช่วยให้คอนเทนต์ไปปรากฏอยู่บนหน้าฟีดของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการในรูปแบบ Organic Reach ได้มากขึ้น

โดยคอนเทนต์ที่แบรนด์ควรทำต้องเป็นคอนเทนต์ที่หาความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่แบรนด์สื่อสารกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คอนเทนต์สามารถแสดงผลในกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจในแบรนด์

นอกจากนี้ ปัจจุบันแพลตฟอร์มที่กำลังถูกปรับ Algorithm จะเป็นฟอร์แมตในรูปแบบ Short VDO ทั้ง Facebook Reels, IG Story, Youtube shorts มีความเป็นวิดีโอแนวตั้งเหมือน TikTok ทั้งหมด

ข้อดีคือสามารถทำคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มจากการทำคอนเทนต์ลงบน TikTok และสามารถปรับลงไปในหลาย ๆ แพลตฟอร์มได้ ในรูปแบบ Cross Platform เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

แต่การนำคอนเทนต์ Short VDO ไปลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องดูว่าถูกจริตกับคนในแพลตฟอร์มนั้นด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดัน Algorithm ไปสู่กลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

 

2. Realtime Trends โหนอย่างไรไม่ให้เด๋อ

คอนเทนต์ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารต้องหาจุดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่แบรนด์ต้องการบอก และส่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการรู้

การหาจุดเชื่อมโยงแบรนด์กับความสนใจสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วคือการโหน เกาะอยู่ในกระแสความสนใจในรูปแบบ Realtime Trends

Realtime Trends นี้เป็นสิ่งที่แบรนด์คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแบรนด์ต่าง ๆ จะรีบโหนกระแสไปกับเทรนด์นั้น ๆ

ในมุมคนรับสาร หรือคนอ่านในช่วงแรก ๆ ของเทรนด์อาจจะมีความสนุกว่ามีเทรนด์อะไรเกิดขึ้น และแบรนด์จะเล่นมุกไหนกับเทรนด์ดังกล่าว แต่เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกเบื่อ และรู้สึกว่าแบรนด์บางแบรนด์ตามกระแสเทรนด์มาทีหลัง

แบรนด์จะรู้ได้อย่างไรว่าจุดที่ถูกต้องที่จะกระโดดไปเล่นกับเทรนด์นั้น ๆ

เพราะการเกิดไวรัลเทรนด์ต่าง ๆ มีวงจรชีวิตของไวรัลนั้น ๆ

ซึ่งประกอบด้วย

เกิดเหตุการณ์

V

ระยะตกใจ

V

ระยะวิเคราะห์ดราม่า

V

ระยะแมส ที่ทุกคนพูดถึงท็อปปิกนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่เทรนด์ที่เกิดขึ้นมีหลายประเภท

อย่างเช่น

-Meme ภาพหรือข้อความขำขัน ซึ่งมีอายุของเทรนด์ที่สั้น ไม่ถึง 3 วัน ซึ่งต้องเล่นให้เร็ว ถ้าเล่นช้าผู้บริโภคจะเบื่อ ส่วนใหญ่แล้วการเกาะกระแส Meme จะเน้นไปยังข้อความที่โพสต์ลงสเตตัสเป็นหลัก เพราะมีความเร็ว

-เพลง และวลีฮิต มีอายุอยู่ได้นาน 60 วัน ส่วนหนึ่งมาตามกระแสการโปรโมตของเพลงหรือวลีนั้น ๆ ด้วย

ข้อดีของการเกาะกระแส เพลง และวลี คือ Marketer สามารถคิดงานครีเอทีฟให้กลุ่มเป้าหมายสนุกกับตัวตนของแบรนด์มากขึ้น และผู้บริโภคไม่รู้สึกกับการยัดเยียดโฆษณาจนเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต้องหาความเชื่อมโยงให้ได้ว่าแบรนด์ได้ประโยชน์ตรงไหนกับการเกาะกระแสเทรนด์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเทรนด์ไหนไม่เหมาะควรปล่อยไป เพราะเทรนด์เกิดขึ้นบ่อย ๆ

และต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่ติดตามแบรนด์ในโซเชียลด้วยว่าเป็นผู้บริโภครูปแบบไหน ถ้าเป็น Early Adopter (ผู้นำกระแส) ควรเล่นให้ไว ให้เร็ว เพื่อสร้างอิมเมจให้กับแบรนด์ว่าอยู่ในกระแส ตามเทรนด์

แต่ถ้าเป็น Late Majority (ผู้ตามกระแส) บางครั้งเกาะกระแสเร็วเกินไป ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะยังไม่เข้าใจกับมุกหรือเทรนด์ที่นำเสนอ

 

3. How to Utilize Influencers ตีฟู อินฟลู ให้งานฟูล

Influencer เป็นเหมือนทางลัดอีกทางหนึ่งที่ช่วยจุดกระแสให้กับแบรนด์

แต่ความท้าทายของการใช้ Influencer ตัวท็อป หรือ Mega Influencer คือทำอย่างไรให้แตกต่าง

ซึ่งการใช้ Mega Influencer ในโลกโซเชียลยังคงช่วยให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในแง่ของพลังที่ช่วยให้แคมเปญหรือส่งที่แบรนด์ต้องการนำเสนอดังขึ้นไปอีก

ในอดีตแบรนด์ใช้ Mega Influencer จุดกระแส และใช้ Micro Influencer ช่วยเติมเต็มถึงความหลากหลายของความแตกต่างของสินค้า ไลฟ์สไตล์ Pain Point ผ่านโปรดักต์รีวิว ให้การสื่อสารครอบลูปยิ่งขึ้น

แต่ในปัจจุบันดิจิทาซ ประเทศไทยมองว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใช้ Micro Influencer ใหม่ เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่ความแตกต่าง ไลฟ์สไตล์ Pain Point เพราะผู้บริโภคมีสิ่งที่เรียกว่า Micro Interest สนใจอ่านโปรดักต์ต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงและลงลึกขึ้น เช่น ขวดทำมาจากรีไซเคิลไหม ผลิตภัณฑ์มีฮาลาลหรือไม่ เป็นต้น

ซึ่ง Micro Influencer จะไม่ใช่แค่การสร้างคอนเทนต์รีวิว แต่สามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมจาก Micro Interest ของผู้บริโภคจะทำให้เกิด Micro Culture ที่จะกลายมาเป็น Community รวมผู้ที่มี Micro Interest เหมือนกันมารวมตัวกัน

 

4. Multisensory Content คอนเทนต์จิตสัมผัส มากกว่าตาดู หูฟัง

การสื่อสารถึงผู้บริโภคทำให้การเสพคอนเทนต์แบบเดิม ๆ ที่ใช้ตาดู หูฟัง ได้เต็มอรรถรสมากขึ้น ผ่านการนำประสบการณ์ที่ผู้บริโภครู้จักมาเป็นจุดตั้งต้นให้ผู้บริโภคคิดถึงอะไรบางอย่าง

รวมถึงการนำเทคนิค ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) ใช้ Sensory Technique ใหม่ ๆ มาใช้สื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคดื่มด่ำไปกับคอนเทนต์มากขึ้น

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน