Shake Shack ทำความรู้จักเบเกอร์พรีเมียมที่เริ่มจากรถเข็นขายฮอทดอก เเต่ดันรุ่งเพราะเบอร์เกอร์

ไทยมีต้มยำกุ้ง เกาหลีมีกิมจิ ญี่ปุ่นมีซูชิ  สหรัฐฯ มีเเฮมเบอร์เกอร์

แต่แน่นอนว่า  เมื่อพูดถึงแฮมเบอร์เกอร์แบรนด์ที่น่าจะมีคนรู้จักรวมถึงขายได้มากที่สุด ก็คงเป็นแบรนด์ตัวเอ็มสีเเดง

ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบแฮมเบอร์เกอร์ของเเบรนด์นี้ ทำให้เกิดช่องว่างที่เจ้าเล็กเจ้าใหญ่ต่างตบเท้าเข้ามาเติมสีสันให้ตลาด มีตั้งแต่ร้านเล็ก ๆ ไปจนถึงแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่

เเต่ในเวลานี้ไม่พูดถึงแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังฮอต อย่าง Shake Shack หนึ่งในราชาเบอร์เกอร์ฟาสต์ฟู้ดระดับ Hi-End คงไม่ได้

อ่าน : Shake Shack แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอเมริกันหน้าใหม่ที่อยากจะ “ลองของ” เมืองไทย

ความนิยมของเเบรนด์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างแรงกระเพื่อมในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หลังก่อตั้งมาในเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ

เเม้จะเริ่มจากรถเข็นเล็ก ๆ ที่ขายฮอทดอกเพียงอย่างเดียว เเต่ได้เติบโตเป็นอาณาจักร QSR มูลค่าบริษัท 2,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 84,566 ล้านบาท) ทั้งที่เป็นผู้เล่นอายุน้อยในตลาดนี้

และShake Shackกำลังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะร้านอาหารจานด่วนแบบกูร์เมต์

การเติบโตของShake Shackเหมือนเรื่องราวคลาสสิกทั่วไป ที่เริ่มจากร้านรถเข็นขายฮอทดอกใน Madison Square Park เมืองนิวยอร์ก ปี 2001

กลายมาเป็นร้านอาหารจานด่วน ที่มีสาขามากกว่า 377 แห่งทั่วโลก

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเชฟ Danny Meyer ในวัย 27 ปี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแผงร้านริมถนน  ให้บริการอาหารเเบบง่าย ๆ สำหรับชีวิตอันเร่งรีบ แต่เเตกต่างด้วยการปรุงจากวัตถุดิบระดับพรีเมียม ซึ่งโดนใจผู้บริโภคอย่างมาก

ปัจจุบัน Meyer เป็นเจ้าของภัตตาคารในนิวยอร์ก และ Union Square Hospitality Group เขาเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย ทั้ง Gramercy Tavern, Blue Smoke, Maialino, GreenRiver, Shake Shack ฯลฯ

Danny Meyer ผู้ก่อตั้ง Shake Shack

Shake Shackเป็นผลผลิตของ Meyer ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าของร้านอาหาร Eleven Madison Park ฝั่งตรงข้ามถนน อันเป็นที่จัดแสดงผลงานศิลปะในสวน  ชื่อ “I♥Taxi”

เเต่ปลายปี 2011 Union Square Hospitality group ได้ขายร้าน Eleven Madison Park ให้กับเชฟ Daniel Humm และ Will Guidara

ร้านShake Shackตั้งอยู่ใกล้กับ Credit Suisse และห่างจากอาคาร Flatiron เพียงหนึ่งช่วงตึก จึงมีตัวเลขแทรฟฟิกที่ดี ความนิยมก็พุ่งพรวด ขายได้ไม่นาน คนต่อแถวซื้อทุกวัน จนต้องเซ็นสัญญาใหม่สร้างร้านอาหารแบบถาวร  เกิดเป็นร้านอาหารShake Shackแห่งแรกในปี 2004

เปลี่ยนจากรถเข็นมาเป็นร้านสไตล์คีออสแบบถาวร กลมกลืนกับสวนสาธารณะ ขายแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย มิลค์เชค เมนูที่นอกจากฮอทดอก ภายใต้เครือ Union Square Hospitality Group

ทีนี้คนต่อคิวเยอะมากกว่าเดิม ยาวรอบสวนสาธารณะ บางครั้งต้องรอเกือบสองสามชั่วโมง จนต้องตั้งกล้องเว็บแคม ช่วยเช็กความยาวของแถวก่อนวางเเผนมาซื้อ

เมื่อความนิยมเเพร่หลายอย่างรวดเร็ว ก็ขยายไปทั่วเมืองนิวยอร์ก ออกสู่นอกเมือง เเละกระจายไปทั่วโลก ยิ่งหลังจับมือกับ Grand Central Terminal สนามบินนานาชาติ ช่วยให้ร้านเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากนั้นไม่นานก็ขยับขยายไปต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เเละล่าสุดก็คือ ไทย

Shake Shack แห่งเเรกในไทย ณ Central World

 

เเม้จะขายดีเเบบสุด ๆ เเต่ร้านเบอร์เกอร์ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรได้ในตอนแรก เพราะการเซ็นสัญญาการกุศล ทำให้กำไรทั้งหมดถูกมอบให้กับ Madison Park  จึงไม่ได้กำไรในช่วงสองปีแรก

เเต่เรื่องราวลับ ๆ ที่น่าสนใจมีอยู่ว่า เเผนธุรกิจ Shake Shack ถูก Meyer ร่างไว้บนกระดาษเช็ดปาก ตามคำบอกเล่าของ Garutti  ในนิตยสาร Forbes รายละเอียดในนั้น ประกอบด้วย แนวคิดของร้าน เเละเมนูอาหารคลาสสิก  เช่น เบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอดย่น และคัสตาร์ดแช่แข็ง หลังจาก Meyer มองเห็นแผงขายเบอร์เกอร์ริมถนนที่ดูสมัยใหม่

กระดาษเช็ดปากของ Meyer ที่ร่างแผนธุรกิจร้าน Shake Shack เอาไว้

 

ชื่อที่ดูเหมือนมีอะไร เเถมพูดเเล้วเข้าปาก มาจากไหน?

ภาพยนตร์เรื่อง Grease คือต้นตอเเรงบันดาลใจที่ให้กำเนิดชื่อ Shake Shack มาใช้ โดยเป็นชื่อรถที่ Olivia Newton-John และJohn Travolta ตอนขับร้องเพลง “You’re the One that I Want” ในช่วงท้ายของภาพยนตร์

ฉากในภาพยนตร์เรื่อง Grease

เเละชื่อนี้ก็เป็นที่นิยมไปเสียแล้ว  เเต่บนกระดาษเช็ดปาก ยังเขียนชื่ออื่น ๆ ลงไปด้วย เช่น Dog Run, Custard’s First Stand, Custard Park, Madison Mixer และ Parking Lot ที่แปลกพอ ๆ กัน

รู้หรือไม่?  โลโก้เชย ๆ เเต่จดจำได้ดีของ Shake Shack 

มีคนออกแบบให้ฟรี

ในช่วงฟื้นฟู Madison Square Park  นั้น Conservancy ได้ว่าจ้างสตูดิโอออกแบบ Pentagram เพื่อปรับปรุงโลโก้ของร้านละเเวกนั้นใหม่  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  เเละ Shake Shack ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ จึงได้สิทธิ์สร้างโลโก้และตราสินค้าสำหรับร้านอาหารฟรี

มีเมนูลับ เเต่คนรู้จักกันหมด

ร้านShake Shackจะมีเมนูประจำสาขาที่แตกต่างกันเล็กน้อย  นอกจากนั้น ยังมีเมนูลับที่รู้จักกันดี อาทิ เนยถั่วและเบคอนแชคเบอร์เกอร์ ตามแฮชเเท็ก #HackTheMenu หากต้องการสั่งซื้อ เพียงขอ ShackBurger มาตรฐานและซอสเนยถั่วราดลงบนเบอร์เกอร์

รายการลับยอดนิยมอีกอย่างคือ Quad Burger ไส้เนื้อสี่ชิ้นบีบระหว่างขนมปัง เเละ Shandy (เบียร์ครึ่งแก้ว น้ำมะนาวครึ่งลูก) Shack-cago Burger (ShackBurger ที่มีทอปปิ้งทั้งหมดของ Shack-cago Dog) และ Beer Float (คัสตาร์ดแช่แข็งในเบียร์)

สำหรับร้านShake Shackแห่งเเรกในไทย ณ  เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนำเข้ามาโดย บริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด  เเละShake Shack Thailand ยังวางเเผนขยายสาขาเปิดอีก 15 เเห่ง ภายในสิบปีนับจากนี้

ราคาเมนูหลัก เบอร์เกอร์ ฮอทดอก และเฟรนช์ฟรายด์  เริ่มตั้งเเต่ 150-390 บาทโดยประมาณ

ShackBurger สนนราคาอยู่ที่ 230 บาท / Shroom Burger 320 บาท /SmokeShack 275 บาท / Chicken Shack 210 บาท /Hot Chicken 230 บาท /Shack Stack 395 บาท /Hamburger 185 บาท

ปิดท้ายด้วยเมนู City Shake ซิกเนเจอร์ประจำประเทศไทย  คือ Pandan Sticky Rice Shake มิลค์เชคข้าวเหนียวเจลลีใบเตย ราคา 230 บาท

เเต่นักวิจารณ์ The Times เคยให้คะแนนรีวิว 1 ดาวแก่ร้าน Shake Shack  เพราะไม่ประทับใจกับเทตเตอร์แช่แข็ง ทำให้ร้านต้องไปโฟกัสในสิ่งที่ตนทำได้ดีอย่างเฟรนช์ฟรายส์เเทน

ด้าน Marketing ด้วยความที่เป็นเบอร์เล็ก ช่องทางการทำการตลาดของ Shake Shack จึงเน้นลงทุนสร้างฐานผู้ชมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่า เพราะใช้ต้นทุนต่ำ โดนใจคนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุด

รายได้ย้อนหลัง 3 ปี

ปี รายได้ (ล้านดอลลาร์)
2020 523
2021 740
2022 900

 

ปี 2015 Shake Shack กลายเป็นบริษัทมหาชนที่ผ่านการ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา

รายได้ย้อนหลัง 3 ปี 2020-2022 ตัวเลขเพิ่มขึ้นปีละ 200 ล้านดอลลาร์  ในปี 2021 รายได้รวมของ Shake Shack เพิ่มขึ้นเกือบ 41.5% เป็น 739 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจในกว่า 377 แห่งทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 7,000 คน

Shake Shack ยิ่งใหญ่ระดับไหน เทียบกับ McDonald’s ได้หรือเปล่า

Shake Shackจัดอยู่ในเซกเมนต์เบอร์เกอร์พรีเมียม  ต่างจาก McDonald’s ที่อยู่ในระดับ Mass  หากจะให้เทียบยอดขาย  McDonald’s มากกว่าร้อยเท่าของ Shake Shack ในหมวดเบอร์เกอร์ ของทอด และอาหารฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ

เเต่ในการเปรียบเทียบร้านที่ใกล้เคียงกัน จะมองในกลุ่มกูร์เมต์เบอร์เกอร์ ซึ่งก็ได้แก่  Wahlburgers (ของเชฟ Paul Wahlberg), Five Guys ตั้งแต่ปี 1986 ขายฮอทดอกและอาหารมังสวิรัติด้วย ตลอดจน In-N-Out ที่ก่อตั้งปี 1948

Five Guys/Wahlburgers/In-N-Out

Five Guys ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสาขาเกือบ 1,700 แห่งทั่วโลกและอีก 1,500 แห่งอยู่ระหว่างการพัฒนา  (รายได้ปี 2021 = 1,711 ล้านดอลลาร์)

In-N-Out มีสาขาอยู่ 389 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา เคยมีป๊อปอัปสโตร์ที่สยามด้วย (รายได้ปี 2021 = 1,073 ล้านดอลลาร์)

Wahlburgers มากกว่า 90 แห่ง ในสหรัฐฯ เเคนาดา  ออสเตรเลีย เเละนิวซีเเลนด์ (รายได้ปี 2021 = 105 ล้านดอลลาร์)

เเละShake Shack 377 แห่งทั่วโลก (รายได้ปี 2021 = 740 ล้านดอลลาร์)

เเต่เเม้สาขาของ Shake Shack จะยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลาย ๆแบรนด์ เเต่รายได้ในปีล่าสุดกำลังจะเเตะหลักพันล้านเเล้ว

เเต่อย่าลืมว่าไม่ได้มีแค่ Shake Shack ที่ขยายสาขา คู่แข่งรายอื่นที่น่ากลัวกว่า เงินทุนหนากว่า ก็กำลังขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี disrupt จากบริการเดลิเวอรี่ เท่ากับว่าลูกค้ามีร้านอาหารนับร้อยอยู่ในมือ ไม่ต้องออกจากบ้านก็สั่งของกินได้ แถมบางทีมีโปรด้วย ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ Shake Shack โดยตรง

เพราะต่อไปอาจไม่ใช่ทุกที่ ที่จะมีคนมาต่อคิวยืดยาวอีก

อ้างอิง: shakeshack,Investopedia, pentagram, MASHED, madisonsquarepark, businesswire,EATER, zippia, successstory, macrotrends, fiveguys, jsonline, logos-world

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน