ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่าที่ 606,000–618,000 ล้านบาท เติบโต 4-6% จากปีที่ผ่านมา เป็นมูลค่าการเติบโตที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย
ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี
การเติบโตที่ลดลงของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้ใช้บริการเริ่มอิ่มตัวจากการเข้ามาใช้บริการในช่วงโควิด-19 จำนวนมาก ในปีนี้จึงเกิดผู้ใช้รายใหม่ลดลง ประกอบกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่จำกัดเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตที่มากขึ้น
แต่ในปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังมีโอกาสที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และการเลือกตั้งนี้ทำให้เกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทยจำนวนมาก ที่ช่วยขับเคลื่อนกำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วนให้กลับมาได้
เมื่อมองกลับไปที่การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส ในปัจจุบัน ตลาดนี้มีการแข่งขันหลักจากผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ช้อปปี้ และลาซาด้า
ทั้งสองรายนี้มีการขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงลูกค้า ผ่านกลยุทธ์ และแคมเปญการตลาดต่างๆ ที่ได้เห็นกันตลอดในช่วงที่ผ่านมา
เพราะยิ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากเท่าไร โอกาสในการสร้างรายได้ก็มีมากขึ้นตามมา
รวมถึงยังเป็นหนึ่งในแรงจูงใจให้ร้านค้าเลือกทำแคมเปญโปรโมชัน หรือเลือกเปิดร้านค้าในอีมาร์เก็ตเพลสนั้น ๆ เพิ่มขึ้น
เมื่อการแข่งขันยังคงร้อนระอุบนอัตราการเติบโตที่ลดลง ช้อปปี้สร้างกลยุทธ์การตลาด บนแนวทางที่น่าสนใจ 3 ประการ ประกอบด้วย
1. สร้างนิสัยให้ผู้บริโภคเข้ามาเป็นประจำ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช้อปปี้ได้ปลูกฝังนิสัยผู้บริโภคให้เข้ามาในแอปอย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญประจำวันต่าง ๆ เช่นแคมเปญโค้ดพิเศษส่งฟรีทุกวันจันทร์
นอกเหนือจากแคมเปญใหญ่ ๆ 3 แคมเปญต่อเดือน ได้แก่ ดับเบิ้ลเดย์ แคมเปญ Mid Month Sale ทุกวันที่ 15 และ Pay Day ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน
การจัดแคมเปญที่ได้กล่าวมาเป็นหนึ่งในกุศโลบายที่สร้างความเคยชินและนิสัยให้กับผู้บริโภคจดจำให้เข้ามาดูสินค้าในแอป เพื่อรับส่วนลดต่าง ๆ ที่ช้อปปี้มอบให้
ซึ่งการเข้ามาในแอปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช้อปปี้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม และเพิ่มโอกาสที่ผู้บริโภคคิดถึงช้อปปี้เป็นแพลตฟอร์มแรกเมื่อคิดจะซื้อสินค้าต่าง ๆ จากความคุ้นเคยดังกล่าว
ซึ่งแคมเปญโปรโมชันต่าง ๆ ในช้อปปี้จากรายงาน Shopee Serves Building Resilience with Technology พบว่านักช้อปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถประหยัดเงินได้ถึง 58,000 ล้านบาท หรือ 1,700 ล้านบาท เมื่อซื้อสินค้าประเภทของใช้ที่จำเป็นและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแคมเปญโปรโมชันประจำเดือนทั้งหมดรวมกันในประเทศที่ช้อปปี้เปิดให้บริการ
ส่วนประเทศไทยช้อปปี้ไม่เปิดเผยตัวเลขตลอดทั้งปี แต่ในแคมเปญ 12.12 ปีที่ผ่านมา นักช้อปชาวไทยสามารถประหยัดมากขึ้นกว่า 600 ล้านบาทผ่านโปรโมชันที่เกิดขึ้นในแคมเปญนี้ของช้อปปี้
2. ต่อยอดอีเวนต์ออฟไลน์สู่การขายออนไลน์
ช้อปปี้ได้อาศัยอีเวนต์ต่าง ๆ ที่จัดบนโลกออนไลน์ ต่อยอดเป็นแคมเปญการตลาดในแพลตฟอร์ม เช่น ในช่วงงานมหกรรมหนังสือ ได้จัดแคมเปญมหกรรมหนังสือในแพลตฟอร์มเพื่อดึงผู้บริโภคที่ไม่ต้องการหรือไม่สะดวกเดินทางสัปดาห์หนังสือให้เข้ามาช้อปในแพลตฟอร์ม
ลองจัดแคมเปญมอเตอร์โชว์ในแพลตฟอร์ม หลังจากที่งานมอเตอร์โชว์ปี 2023 ได้จบลง เพื่อต่อยอดกำลังซื้อของลูกค้าจากอีเวนต์มอเตอร์โชว์ให้เข้ามาซื้ออุปกรณ์เสริมสำหรับรถ เป็นต้น
3. ขยายฐานลูกค้าในกลุ่มต่างจังหวัด
จากรายงาน Shopee Serves Building Resilience with Technology พบว่าในปีที่ผ่านมาช้อปปี้มีลูกค้าใหม่ในแพลตฟอร์มมากกว่าหลายสิบล้านคน และ 85% เป็นลูกค้าต่างจังหวัดที่อยู่นอกหัวเมืองและเมืองใหญ่
ตัวเลขนี้ทำให้ช้อปปี้เห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าไปต่างจังหวัดมากขึ้นในปีนี้
โดยกลยุทธ์ที่ช้อปปี้ใช้ขยายฐานลูกค้าเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ในต่างจังหวัดจะเน้นเรื่องความง่าย ส่วนลดโปรโมชัน เพื่อความคุ้มค่า และความปลอดภัยผ่านช้อปปี้การันตี เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาลองซื้อสินค้าเป็นออเดอร์แรกก่อนที่จะสร้างความคุ้นเคยผ่านกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ ดึงดูดให้เป็นลูกค้าประจำ
ซึ่งกลยุทธ์ที่ช้อปปี้ใช้เข้าถึงลูกค้าต่างจังหวัด เป็น Top3 ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มช้อปปี้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ช้อปปี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลายดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์มในความถี่ที่เพิ่มขึ้น ผ่านบริการช้อปปี้ฟู้ด
รวมถึงสร้างอีโคซิสเต็มในการชำระเงินผ่านช้อปปี้เพย์ ที่ในปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการทำธุรกรรมผ่านช้อปปี้เพย์ครั้งแรก 25 ล้านราย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



