Bow Bakery ชื่อที่มาพร้อมสัญลักษณ์ตัวอักษร B ประดับโบ ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาบนขนมครัวซองต์ดังใน 7-Eleven

เเต่หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า ขนมของ SME เจ้าเล็ก ๆ นี้ จะมีรายได้หลัก 500 ล้าน  เเละโรงงานใหญ่โต ที่มีพนักงานกว่า 400 ชีวิตอยู่

อีกทั้งเพิ่งได้รับรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2022” ของเซเว่น ในสาขา SME ดาวรุ่ง หมวดเบเกอรี่ ที่มอบให้แก่ SME ที่มีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด

ทันทีที่เดินเข้าสู่พื้นที่อาคารของบริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จํากัด  สิ่งเเรกที่สะดุดตาทีมงาน Marketeer คือป้ายเขียนตัวอักษร ความว่า

“ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน” ของท่านพุทธทาสภิกขุ

 

(เมื่ออ่านจนจบ จะเข้าใจได้ว่า ทำไมป้ายนี้จึงตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าบริษัท)

โบว์เบเกอรี่ คือ ธุรกิจขนมระดับร้อยล้าน  ที่เริ่มมาจากคำไม่กี่คำ นั่นคือ

ความรัก ความสนุก และความสุข

เเต่กว่าที่ทุกอย่างจะผลิดอกออกผลอย่างงดงาม ต้องผ่านการร้องไห้ ความยากลำบาก เเละทอดถอนใจ มานับครั้งไม่ถ้วน

อะไรที่ทำให้ร้านเบเกอรี่ในคูหาเล็ก ๆ ที่เจออุปสรรคมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง  ถึงผ่านมาได้ทุกด่าน เเละเติบโตมาอย่างสวยงาม  จนกลายเป็นธุรกิจของคนตัวเล็ก เจ้าของรายได้ 500 ล้าน ที่คนหยิบซื้อทุก 5 วินาที

 

วิสิทธิ์ สดแสงเทียน (คุณดำ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จํากัด

ในอดีตคือเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์แรงกล้า เรียนจบสายธุรกิจ  เเต่ไปประกอบอาชีพครูสอนวิชาพุทธศาสนา ช่วงนั้นก็มีทัศนคติไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการทำธุรกิจด้วย เพราะมองว่าคนทำธุรกิจยึดถือเเต่กำไร

ซึ่งก่อนหน้าไปทำงานเป็นครู ภรรยาของเขา (คุณโบว์ รุจา สดเเสงเทียน ประธานกรรมการบริหาร)  ได้ชวนทำธุรกิจเบเกอรี่ก่อนเเล้ว เเต่ด้วยความอยากไปสอนเยาวชน สร้างความรู้ให้เด็กมากกว่า อีกทั้งมองว่าเบเกอรี่เป็นธุรกิจของผู้หญิง จึงได้ปฏิเสธไปในตอนเเรก

ต่อมาก็กลับมาช่วยงานร้านเบเกอรี่ของภรรยาที่บ้านเเทน   จึงนำสินค้าไปฝากขายในร้านกาแฟ ตามตึกอาคารสำนักงาน  อาศัยขับรถขอฝากขายไปเรื่อยๆ ร้านที่รับฝากก็มี เเต่ที่ถูกปฏิเสธก็ไม่น้อย

“โบว์เบเกอรี่”  ชื่อนี้มาจากคุณโบว์ ภรรยาอันเป็นที่รัก

รุจา สดเเสงเทียน (คุณโบว์) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จํากัด  เธอเติบโตมาในครอบครัวคนจีน คุณพ่อเป็นชาวจีนอพยพ ที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีเเม้เเต่เสื่อติดตัวสักผืน เเต่อาศัยความขยันเเละอดทน จนสามารถเลี้ยงลูกสาวให้เติบโตมาเป็นอย่างดี

เธอจบการศึกษาจากคณะบริหารฯ และการเงิน มหาวิทยาลัยเอเเบค เเละปริญญาโท จากประเทศอังกฤษ  รู้จักกับคุณดำตั้งเเต่สมัยมัธยมปลาย เรียนโรงเรียนเดียวกัน จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยคณะเดียวกันอีก

หลังเรียนจบคุณโบว์ทำงานเป็นเลขานุการ ในบริษัทต่างชาติต่อด้วยงานสายธนาคาร ซึ่งเป็นช่วงพิษเศรษฐกิจฟองสบู่พอดี ก่อนโดนเรียกตัวกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน  เป็นผู้ช่วยดูบัญชี

เเต่ด้วยความเป็นคนตั้งใจ ทำอะไรรวดเร็ว ทำให้งานที่รับผิดชอบเสร็จไว  จึงเหลือเวลาว่างพอควร

เธอเลือกใช้เวลาว่างจากงานบัญชี ไปทำเบเกอรี่ขาย  โดยเปิดร้านเล็ก ๆ อย่างไม่เป็นทางการ ในคูหาพาณิชย์ของที่บ้าน  ทำแบบไม่จริงจังนัก เอาเค้กมาวางไว้ข้างหน้า เเล้วทำงานให้คุณพ่อไปด้วย  พอลูกค้ามาถึงจะสั่นกระดิ่งเรียกหน้าร้าน

ซึ่งก็เงียบเหงาพอสมควร ไม่ค่อยมีลูกค้าเเวะเวียนมาเท่าใดนัก ด้วยทำเลที่ไม่ดีด้วย

เมื่อคุณดำเห็นท่าไม่ดี  จึงช่วยออกไอเดียตะลอนหาร้านกาเเฟ  นำขนมที่คุณโบว์ทำไปฝากขายตามร้านละเเวกบ้าน

คุณดำ : เราสองคนเข้ากันโดยธรรมชาติ ผมชอบดูด้าน HR ดีลกับผู้คน ดูเครื่องจักร รวมถึงการตลาด ส่วนคุณโบว์ชอบดูด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ เเละบัญชี ต่างเหมือนจิ๊กซอว์ที่ลงล็อก เเละสนับสนุนซึ่งกันเเละกันพอดี

 

ในช่วงเเรก เริ่มต้นด้วยการตะลอนหอบขนมฝากขายตามร้านกาแฟ ซึ่งช่วง 20 ปีให้หลัง ร้านกาเเฟกระเเสกำลังมา จากฝากขายในร้านกาเเฟทั่วไป ก็ขยับเข้าไปวางในร้านอินทนิล บ้านไร่กาแฟ

เเต่ผ่านไปสามปี เริ่มรู้สึกว่าการฝากขายไปไม่รอดเเน่ เพราะปัญหาคือไม่สามารถกะเกณฑ์ของเหลือได้ ประกอบกับเจ้าของร้านไม่ได้ดูเเลสินค้าให้เท่าที่ควร การจัดวางไม่ดี ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ขายไม่ได้ ของก็เหลือเยอะ ไม่เห็นกำไร  จึงเริ่มไม่ฝากขาย เเละหาหนทางไปต่อใหม่

“การฝากขาย เป็นจุดเริ่มต้นที่ง่าย  แต่อันตรายสำหรับการทำธุรกิจในระยะยาว” คุณดำกล่าว

เริ่มต้นต้องไม่เป็นหนี้ 

คุณดำ : เราทำงานค่อนข้างอนุรักษนิยม จะไม่กู้เงิน  อาศัยเก็บสะสมเอง  ได้กำไรมาที ก็ไปซื้อเตา  ซื้อเครื่องจักร ทยอยลงทุนครั้งละเล็กละน้อย หรือเเม้เเต่สร้างโรงงาน ก็เก็บเงินทำเองทั้งหมด

จนกระทั่งได้มาเจอกับร้านพรชัย เจ้าของขนมปังบางลำภู ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ขายส่งขนมสมัยนั้น  การส่งขายขนมให้ร้านนี้ ถือเป็นก้าวเเรกในการสร้างการเติบโตให้แก่โบว์เบเกอรี่ เพราะจากการวางขายในช่องทางนี้  ทำให้หลายเเบรนด์ติดต่อเข้ามาอย่างท่วมท้น อาทิ อินเตอร์เมซโซ่ อเมซอน สตาร์บัคส์ Kudsan หลังเห็นสินค้าในร้านพรชัย

โดยเฉพาะ Kudsan ที่เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โบว์เบเกอรี่เติบโตมาเช่นทุกวันนี้ ขณะนั้นที่ส่งขายให้ Kudsan ยอดขายกว่า 50% ของโบว์เบเกอรี่มาจาก Kudsan เเละยอดขายของ Kudsan ครึ่งหนึ่งก็มาจากโบว์เบเกอรี่เช่นกัน  เป็นการเติบโตไปพร้อมกันอย่างเเท้จริง

เริ่มได้ขายใน Kudsan ที่ตอนนั้นมีสาขาอยู่เพียง 30 แห่ง  จนปัจจุบันทำงานร่วมกันมาเกือบ 10 ปี ซึ่ง Kudsan เหมือนบ้านหลังย่อยของเซเว่น

คุณโบว์ : หลังได้ทำงานกับ Kudsan เราก็หยุดหาลูกค้า  เพราะอยากจะเติบโตไปกับ Kudsan ทำหน้าที่กับพาร์ตเนอร์คนนี้ให้ดีก่อนดีกว่า  เพื่อเติบโตต่อไปในระยะยาว

พอประสบความสำเร็จ เเละอยู่กับ Kudsan มาจนเป็นเหมือนคู่หูคนสำคัญ  ในที่สุดก็ได้ต่อยอดการเติบโตก้าวใหญ่ ซึ่งก็คือการพาชื่อโบว์เบเกอรี่ไปอยู่ใน 7-Eleven

คุณดำ : จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้โบว์เบเกอรี่เติบโตอย่างก้าวกระโดด  เป็น Turning Point ใหญ่ คือเมื่อปี 2563 สินค้าที่เเปะชื่อ โบว์เบเกอรี่ สามารถเข้าวางขายบนชั้นวาง 7-Eleven ได้สำเร็จ เป็นโชคดีที่เข้ามาช่วยชีวิตในช่วงโควิดพอดี หากไม่ได้เข้าเซเว่น อาจเจ็บหนัก รายได้ลดไม่ต่างจากคนอื่น ๆ

เเต่เเม้ขาข้างหนึ่งจะก้าวเข้าไปใน 7-Eleven เเล้ว  เเต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ  หากเเต่เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ในชีวิตที่ยากจะลืม

 

คุณดำ : สินค้าตัวเเรกที่ได้ขายใน 7-Eleven คือ บันไส้กรอกหมูหยอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่โบว์เบเกอรี่ถนัดเลย

ตอนนั้นเซเว่นเป็นฝ่ายตั้งโจทย์มาให้ ว่าอยากได้สินค้าอย่างไร  เเล้วให้เราทำตามโจทย์ไปนำเสนอ  ซึ่งก็นำเสนอไปแก้ไขไป ไม่ต่ำกว่า 20-30 รอบ

คุณโบว์ :  จริง ๆ ตอนนั้น ทั้งเราทั้งทีมงานมองหน้ากันเเล้วก็ร้องไห้  คุยกับพี่ดำว่า ไม่ทำแล้วได้ไหม เเต่สามีก็บอกว่ามันถึงเวลาเเล้ว ที่เราต้องหาเส้นทางเติบโตใหม่ พาตัวเองเข้า New Ocean

ต้องยอมรับว่าตอนส่งขาย Kudsan รายละเอียดที่ต้องดูก็พอสมควรอยู่  เเต่พอเข้าบ้านใหญ่อย่างเซเว่น รายละเอียดยิบย่อยมากกว่าเดิมอีก ทำให้ต้องปรับตัว เเละเรียนรู้กันครั้งใหญ่

ตัวอย่างเเค่ลำดับการบีบซอส ก็มีเเพทเทิร์นการขีดที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด   ไปจนถึงการจัดวางวัตถุดิบในขนมปังชิ้นหนึ่ง ที่ต้องมีลำดับกำหนดชัดเจนว่าจะวางอะไรก่อนหลัง  เพราะเเค่ลำดับการใส่วัตถุดิบเปลี่ยน รสชาติของอาหารก็เปลี่ยนได้เลย

เเต่จากที่เล่าด้วยน้ำเสียงที่ผู้ฟังรับรู้ได้ถึงความยากลำบาก  คุณโบว์ก็เปลี่ยนสีหน้าเป็นยิ้มเเย้มเเล้วกล่าวต่อว่า “เราเหมือนเป็นเด็กที่เพิ่งเข้าอนุบาล แต่ความรู้ที่เขาสอนคือมหาวิทยาลัย ปาดเหงื่อมาก เเต่พอได้พัฒนาไปในหมวดหมู่อื่น ๆ ต่อ  บทเรียนที่ได้รับจากตรงจุดนั้น ก็ทำให้เราไปได้ไว เรียนรู้ได้เร็ว ถ้าเราผ่านบททดสอบที่ยากที่สุดมาได้ อะไรที่เข้ามานับจากนี้ก็ง่ายขึ้นทั้งนั้น  ไม่ว่าอะไรก็รับมือได้เเล้ว” เธอคลี่ยิ้มก่อนจะหัวเราะเบา ๆ

คุณดำ : ยากเเค่ไหนก็ไม่ยอมเเพ้ เพราะยึดมั่นว่า อะไรที่เรารับปากเเล้วว่าทำได้  ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำให้ได้ ทำจนได้ ถึงมีช่วงเวลาที่ท้อใจกับความยากที่ต้องเเก้ไขกันหลายรอบก็ตามที

ใช้คำว่า ‘ท้อใจ’ เเต่ไม่ใช่ ‘ถอดใจ’

 

หลังจากเข้าเซเว่นได้ พอเริ่มอยู่ตัวเเละหาที่ยืนให้ตัวเองได้เเล้ว โบว์เบเกอรี่ก็เฉิดฉายด้วยตัวเลขยอดขายที่กระโดดขึ้นกว่า 30% ในทันทีหลังการเข้าเซเว่น

ยอดการผลิตขนมก็พุ่งกระฉูด มากกว่า  30 ล้านชิ้นต่อปี เเละขายดีจนกล่าวได้ว่าในทุก ๆ 5 วินาที จะมีคนซื้อครัวซองต์ของโบว์เบเกอรี่หนึ่งชิ้น ส่งผลให้ปีหนึ่งครัวซองต์ขายได้ 7-8 ล้านชิ้น  เเละเป็นสินค้าเรือธงของโบว์เบเกอรี่ไปโดยปริยาย

คุณดำ : ตอนนั้นเราต้องผลิตส่ง 3,000 สาขา สาขาละประมาณ 3 ชิ้น เท่ากับ 39,000 ชิ้น เป็นออเดอร์ที่บริษัทไม่เคยเจอมาก่อน  มากสุดที่ผ่านมาก็เเค่หลักพัน จนปัจจุบัน 7-Eleven มีสาขารวมเเล้วกว่า 13,000 แห่ง เเละ Kudsan อีก 4,000-5,000 พันสาขา ผลิตส่งกันไม่หวาดไม่ไหว

เคล็ด (ไม่) ลับ  เบื้องหลังความสำเร็จของสินค้าทุกตัว

ไม่ว่าจะออกสินค้าตัวไหนมา บริษัทมักจะประสบความสำเร็จ ถูกอกถูกใจผู้บริโภคอยู่เสมอ ทำให้ชื่อของโบว์เบเกอรี่เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ไม่ยาก

คุณโบว์ :  การออกสินค้าตัวหนึ่ง บริษัทวางเเผนการขายข้ามปี   โดยจะดูก่อนว่าจุดขายเราคืออะไร ความโดดเด่นอยู่ตรงไหน ตามด้วยดูตลาด ว่าเขากำลังนิยมชมชอบอะไร  สุดท้ายดูคู่เเข่ง จะเอาอะไรไปสู้  ประกอบกันเป็นเบื้องหลังกระบวนการตัดสินใจในสินค้าตัวหนึ่ง

ยกตัวอย่าง ครัวซองต์ สินค้าที่ประสบความสำเร็จของโบว์เบเกอรี่ ช่วงที่สร้างผลิตภัณฑ์นี้ ตลาดกำลังฮิต  ในเซเว่นก็มีคนทำขายอยู่เเล้ว แต่ครัวซองต์โฮมเมด สอดไส้ ตกเเต่งโรยหน้า ที่ไม่ใช่ทำด้วยเครื่องจักร ยังไม่มีเจ้าไหนทำ

“พี่มีความสุข ชอบกิน ชอบทำขนม  เรามีความสุขเวลาทำให้ใครกินเเล้วเขาอร่อย  เป้าหมายแรกของการทำธุรกิจจึงไม่ใช่เพื่อสร้างโรงงานใหญ่ เป็นเจ้านายของลูกน้องเยอะ ๆ  เเต่เป็น ‘สุนทรียภาพ’ ในการรับประทานต่างหาก กัดเข้าไปต้องได้รสชาติเเห่งความสุข”

ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน

อย่างไรก็ตาม ผลผลิต ปลายน้ำที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ  ย่อมมาจากต้นน้ำที่ดี ขนมจะอร่อยถูกปาก ก็ต่อเมื่อคนทำมีความสุข

คุณดำเล่าให้ Marketeerฟัง ด้วยท่าทีตื่นเต้นว่า  “เราให้ความสำคัญกับสุขภาพ โดยยึดหลักว่า ‘ถ้าสุขภาพดี เดี๋ยวอย่างอื่นจะตามมา’  บริษัทจึงมีนโยบายเเจกข้าวกล้อง นม เเละผลไม้ ให้พนักงานฟรี  ไปจนถึงลงทุนสร้างศูนย์ภาวนา สำหรับพักผ่อนตามอัธยาศัย ออกกำลังกาย เเละปฏิบัติธรรม ให้พนักงานโดยเฉพาะ  เพื่อดูเเลสุขภาพกายสุขภาพจิตของทุกคน”

ถ้าพนักงานสนุกกับงาน งานทุกอย่างจะออกมาดี ขนมก็จะอร่อย ทุกอย่างก็ได้คุณภาพ

อย่างไรก็ตาม จากที่ฟังมาทั้งหมด เหมือนทั้งสองคนได้ทลายกำเเพงของคำที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า  ห้ามคนรักทำธุรกิจด้วยกัน

เเต่สำหรับคุณดำเเละคุณโบว์นั้น กลับมองว่าการทำธุรกิจกับคนรักนี่เเหละ ดีที่สุดเเล้ว. . .

คุณดำ : ช่วงเเรกก็มีปัญหาเหมือนกัน เเต่ก็พยายามเรียนรู้กันไป หลัก ๆ คือต้องเปิดกว้าง เเบ่งงานให้ชัดเจน ขอบเขตการตัดสินใจ ไว้ใจซึ่งกันเเละกัน  โดยธรรมชาติผู้หญิงผู้ชายมีความเเตกต่างกัน อย่างการทำธุรกิจผู้ชายมักจะใจร้อน เน้นขยายให้ไว เเต่ผู้หญิงจะมีความอนุรักษนิยม ช้า ๆ เเต่ชัวร์

ต้องเรียนรู้ความเเตกต่างของเพศในตัวคนรักของเรา ทำความเข้าใจซึ่งกันเเละกัน เเล้วพยายามปรับจูนให้เดินก้าวไปพร้อมกัน

“การทำงานกับคนรักของเรา หากผ่านจุดหนึ่งไปได้ จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ

เพราะ ‘คนรัก’ คือหุ้นส่วนที่ดีที่สุด”

จากนี้ เป้าหมายต่อไปในอนาคต ขอเเค่ 2 อย่าง

คุณดำ : ลำดับต่อไป อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะคิดว่าองค์กรมันต้องเเข็งเเรงขึ้นไปอีก ต่อสู้กับคู่เเข่งภายนอกได้  ไม่อยากอยู่ในเซฟโซนของตัวเองมากเกินไป เเต่อย่างไรก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

เเต่อีกความฝันอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การพาขนมหรูหราที่ขายอยู่ในโรงเเรมใหญ่  มาทำขายในราคาที่จับต้องได้ ให้คนทั่วไปได้ลิ้มลองรสชาติของขนมชั้นดี ที่ราคาไม่เเพง ไม่ต้องการกำไรมากมาย เเต่คนทานต้องมีความสุข ตามที่ยึดถือมาตลอดว่า “ความอร่อย คือ ความสุข”

คุณโบว์ : ไม่ว่าจะทำอะไร อย่างน้อยที่สุดเราต้องชอบก่อน เพราะเมื่อเราชอบ เราภูมิใจที่จะนำเสนอ

 

เติบโตมาแบบไม่คาดหวัง เเค่ทำให้ดีที่สุดมาตลอด

ปี 66 คาดการณ์รายได้เเตะ 500 ล้านบาท คาดหวังโต 20% ในทุกปี เเต่เป็นการตั้งเป้าเพียงเท่านั้น ไม่กดดันพนักงาน เพราะยังคงยึดความสนุกเเละความสุขในการทำงานเป็นหลัก

คุณโบว์ :  อันที่จริง เราไม่คิดว่าจะโตมาได้ขนาดนี้ Vision บริษัทก็เพิ่งตั้งไป  เพราะโดยธรรมชาติของตัวโบว์ เราเป็นคนไม่มีความฝัน  รู้เเค่ว่าหน้าที่ตรงนี้ของเราคืออะไร เเล้วก็ทำให้ดีที่สุด เเค่นั้น

เเต่ก็ยอมรับว่าทุกวันนี้มันมาไกลกว่าที่เราคิดไว้  เคยมีจินตนาการไว้ว่า ชีวิตนี้อยากมีพนักงาน 100 คนพอ เเต่สุดท้ายโรงงานใหญ่ขึ้นก็เพิ่มมาเป็น 2-3 ร้อยคน เกินที่คาดหวังไว้ตั้งเเต่ตอนเเรกไปมาก

Day 1 เราเริ่มจากมีพนักงานอยู่คนหนึ่ง กับเตาเก่า ๆ หนึ่งตัว หลายปีต่อมามีพนักงานเพิ่มเป็น 10 คน 100 คน 300 คน เรื่อยมาจนทุกวันนี้มีพนักงานอยู่ประมาณ 400 คน  เคยคำนวณกันเล่น ๆ ว่า พนักงานหนึ่งคน สร้างรายได้ให้บริษัท 1 ล้านบาทต่อคน

 

จากวันเเรก จนมาถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ที่เรื่องราวของความรักในเบเกอรี่ถูกจุดประกายขึ้น

จนวันที่ทุกอย่างผลิดอกออกผล กลายเป็นเบเกอรี่ประสบความสำเร็จระดับห้าร้อยล้าน  Key Success หนีไม่พ้นความเเตกต่างอันโดดเด่นที่ทุกคนยอมรับ คือการผลิตแบบโฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรม ใช้คนทำ เบเกอรี่จึงมีเสน่ห์ความเป็นโฮมเมด ทิ้งรสชาติของความรักเเละใส่ใจในรายละเอียดไว้ได้ดีกว่าการผลิตจากเครื่องจักรกล

กลิ่นอายของเบเกอรี่กรุ่น ๆ ไม่จางหายไป  กลายเป็นเสน่ห์ของสินค้า ที่ลูกค้าลืมไม่ลง

 

เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จของ Bow Bakery . . . เริ่มมาตั้งเเต่องค์กร

เริ่มตั้งเเต่เจ้าของกิจการที่รักในการทานขนม  พร้อมคู่ชีวิตที่คอยซัปพอร์ตเเละรักในการขาย  พนักงานที่สนุกกับการทำงาน  คู่ค้าที่ไว้วางใจซึ่งกันเเละกัน  สินค้าที่เสิร์ฟด้วยรสชาติอร่อยที่สุด ก่อร่างเป็นความสุขของผู้บริโภคในภาพรวม

ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา มีบทเรียนเกิดขึ้นมากมาย เเต่สิ่งหนึ่งที่คุณโบว์อยากเเชร์ให้ฟังมากที่สุด

เธอครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า “โบว์ยึดถือมาตลอดว่า ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ มันสามารถใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต กับธุรกิจก็เช่นกัน มันเป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเรา เช่นว่า เมื่อลูกค้าเข้ามาหาเราเเล้ว ต่อให้เรารู้ว่าจะได้ไปต่อกันหรือไม่  อย่างไรก็ต้อง Treat เขาให้ดีที่สุดก่อน อย่าทำอะไรที่จะส่งผลกระทบในอนาคต  ในชีวิตจึงมีน้อยครั้งมาก ที่เรากลับไปคิดเเล้วรู้สึกเสียใจ

ความท้าทาย ที่เป็นเรื่องธรรมดา เเละธรรมชาติของสังคม

ความท้าทายของทุกธุรกิจในทุกวันนี้ คือ การเปลี่ยนเเปลง

คุณดำ : ผู้บริโภคเบื่อง่าย เปลี่ยนไปในทุกวัน บางครั้งเปลี่ยนในชั่วข้ามคืน จากที่ฮิตมาก ก็สามารถเงียบหายได้ในคืนเดียว ส่งผลให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นเเต่ละวัน  เเละการเปลี่ยนเเปลงนั้น เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย มีเเต่ต้องตามเทรนด์ให้ทัน

 

เเต่การลงทุนที่ดีที่สุด คือ ลงทุนกับคน  อย่าหมดเเรงที่จะพัฒนาคน ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารเเละพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่เสมอ

คุณดำ : ผมบอกกับลูกน้องเสมอว่า ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนเเปลงเป็นธรรมดาอยู่เเล้ว  เเต่ไม่ต้องกลัวว่าจะหล่นหายจากขบวน ตราบใดที่คนยังเป็นจุดขายของเราอยู่  ไม่ต้องกลัวนวัตกรรมใด ๆ

“ถ้าเราเก่ง ทำงานเต็มที่ ยังไงก็อยู่ได้เเน่นอน ยั่งยืนแน่ เพราะ  Sustainable ต้องเกิดจาก คน

คุณโบว์ : ตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้นตลอดทางที่เดินมาอยู่เเล้ว ในวันที่ถูกปฏิเสธซ้ำเเล้วซ้ำเล่า ก็ทั้งเหนื่อยเเละท้อ  เเต่เรายังรักที่จะทำ เพราะเราชอบ ชอบเวลาที่กินอะไรอร่อยๆ เเล้วมันมีความสุข เราก็อยากเห็นความสุขของคนอื่นผ่านขนมเราเหมือนกัน พอเจอวันที่ลำบาก เลยผ่านมาได้

“ต่อให้คืนนี้ท้อ เเต่พอเช้าวันใหม่มาถึง เเรงฮึดสู้ก็กลับมา

เพราะมันคือความสุขของเรา  มันเป็นตัวตนของเราจริง ๆ”

 

เพราะแก่นเเท้ของเส้นทางที่ โบว์เบเกอรี่ กำลังจะเติบโตไป  คือ “เส้นทางแห่งความสุข”

ที่ยึดมั่นใน 3 คีย์เวิร์ดสำคัญ ซึ่งก็คือ

ความรัก รักในสิ่งที่ทำ จะพาเราผ่านทุกอุปสรรค

ความสนุก  ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน

เเละ ความสุข ให้สุขทุกครั้งที่ได้ลิ้มรส รับรู้ความรักในทุกคำที่ได้ลิ้มลอง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online