ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนบทความเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตว่าจะมีแต่รถ EV วิ่งเต็มท้องถนนไปหมด ความน่ากลัวของการแข่งขันที่ดุเดือด เจ้าสมรภูมิเดิมอย่างค่ายรถจากยุโรปและอเมริกากำลังถูกท้าทายจากผู้ผลิตรถสัญชาติจีน ที่ดีไซน์รถออกมาได้น่าซื้อยิ่งนัก
อีกทั้งคุณภาพยานยนต์ของพวกเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าบรรดาผู้ผลิตจากซีกโลกตะวันตกเท่าไร แต่จากบทความนั้นเราอาจจะลืมนึกถึงผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการยานยนต์มาตลอดหลายทศวรรษ นั่นก็คือ “ญี่ปุ่น” ที่มีผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังระดับโลกทั้ง Honda Toyota Nissan Mazda Suzuki Mitsubishi แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ข่าวคราวเกี่ยวกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากลับแทบไม่มีเล็ดลอดออกมาให้ได้รับรู้เลย หรือว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเขากำลังค่อย ๆ พ่ายแพ้ให้กับสงครามที่พวกเขามองว่ายิ่งแข่งก็ยิ่งแพ้
สัญญาณไม่ดีจากผู้นำแห่งวงการ
ถ้านับจนถึงตอนนี้ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นยังตามหลังคู่แข่งด้านการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่หลายขุม ซึ่งต้องบอกว่ารถยนต์ EV เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในปี 2022 รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) มีสัดส่วนยอดขายประมาณ 13% ของรถยนต์ทั้งหมดที่จำหน่ายอยู่ทั่วโลก ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2019 ที่อยู่ที่ระดับ 2.6%
สำหรับตลาดรถยนต์ในจีน รถยนต์ไฟฟ้ามีมาร์เก็ตแชร์มากถึง 20% แต่ในญี่ปุ่นกลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 2% เท่านั้น ถ้าเรามองไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเราจะเห็นผู้นำตลาดแค่เพียงไม่กี่เจ้า ซึ่งชื่อที่หลาย ๆ คนนึกถึงถ้าพูดถึงรถ EV ก็จะมี Tesla ของอเมริกา BYD ของจีน และยักษ์ใหญ่ของเยอรมันอย่าง Volkswagen
จะสังเกตว่าเราแทบไม่ได้ยินชื่อผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มผู้นำการแข่งขันเหล่านี้เลย และไม่มีบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายไหนติดอยู่ใน 20 อันดับแรกสำหรับยอดขายรวม EV ทั่วโลกเลย แม้ว่า Nissan และ Mitsubishi จะเปิดตัวรถ EV รุ่นแรกของโลกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วก่อนเพื่อนก็ตาม (Nissan Leaf และ i‑MiEV อ่านว่า EYE‑meev) นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นโดดเด่นในด้านรถยนต์ไฟฟ้าในทุกวันนี้เลย
ขนาด Toyota ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่ 24,000 คันจากยอดขายทั้งหมด 10.5 ล้านคันในปี 2022 (ส่วน Tesla ขายได้ 1.3 ล้านคัน) โดยก่อนหน้านี้ยอดขายของ SUV ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของ Toyota อย่าง bz4x ก็จำเป็นต้องหยุดการจำหน่ายชั่วคราวเนื่องจากข้อบกพร่องทางเทคนิค ซึ่งนักวิเคราะห์กังวลว่าการหยุดจำหน่ายรถ EV ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันของญี่ปุ่นอาจทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติผู้ผลิตรถยนต์ต้องออกจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวมเนื่องจากความไม่พร้อม
นักวิจารณ์บางคนถึงกับให้ความเห็นไปในเชิงคล้ายคลึงกับเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอดีตเคยเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีส่วนครองตลาดสูงมาก แต่ในตอนหลังพวกเขาก็หลุดออกจากการแข่งขันไปด้วยเหตุผลที่ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายกีดกันการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐฯ กลับกันสหรัฐฯ ก็ต้องการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังญี่ปุ่นมากขึ้นมาโดยตลอด พอญี่ปุ่นปล่อยให้สหรัฐฯ เข้าครอบงำตลาด ก็ทำให้พวกเขาสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดนี้ไป และในท้ายที่สุดก็แพ้ให้กับคู่แข่งที่คล่องตัวกว่าอย่างสหรัฐฯ และไต้หวัน
ซึ่งการที่นักวิเคราะห์มองเห็นภาพการลดลงของตัวเลขการขายรถยนต์ไฟฟ้าในทำนองเดียวกันนี้ ก็ทำให้ผู้สันทัดกรณีอดคิดไม่ได้ว่าหรือญี่ปุ่นที่อดีตเคยเป็นเจ้าแห่งการผลิตรถยนต์จะถึงคราวต้องอวสาน เพราะสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสูงถึง 20% ของการส่งออกทั้งหมด และงานในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ก็คิดเป็นสัดส่วนถึง 8% ของงานทั้งหมดในญี่ปุ่น ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบมันจะยิ่งส่งผล กระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
ญี่ปุ่นก็มีลูกฮึด
หลังจากที่นาย Akio Toyota อดีต CEO ของโตโยต้าก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และ Toyota ก็ได้มีการแต่งตั้งนาย Sato Koji เป็น CEO คนใหม่ ซึ่งนาย Sato มีส่วนในการผลักดันให้ Toyota ก้าวสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
โดยในการแถลงข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน Toyota ได้ประกาศแผนการที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ 10 รุ่น และต้องการเพิ่มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อปีเป็น 1.5 ล้านคันภายในปี 2026 ข้ามมาที่ฝั่งยักษ์ใหญ่อีกรายอย่าง Honda ก็มีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าถึง 30 รุ่นภายในปี 2030 โดย Honda เพิ่งมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากับ Sony ไปเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ Honda ยังมีแผนที่ปรับโครงสร้างองค์กรภายในเดือนเมษายนนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อนำไปสู่การเร่งการใช้พลังงานไฟฟ้า ทางฝั่ง Nissan เองก็มีความเคลื่อนไหวไม่แพ้ผู้นำในกลุ่ม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ Nissan มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ 19 รุ่นภายในปี 2030 และผู้บริหารของ Nissan เองก็พิจารณาว่าการใช้พลังงานไฟฟ้านั้นเป็น “แกนหลักของกลยุทธ์ของบริษัท”
การเริ่มต้นคิดเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของญี่ปุ่นถือว่าค่อนข้างช้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขายึดติดกับความสำเร็จในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ลังเลที่จะยอมรับเทคโนโลยีใหม่ที่อาจบ่อนทำลายพื้นที่ที่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำ วิศวกรผู้ผลิตรถยนต์ของบริษัทญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในการปรับแต่งรถไฮบริดแบบซับซ้อนมาก่อนก็จะรู้สึกไม่โอเคกับรถ EV เพราะมีกลไกที่เรียบง่ายกว่า
“ในอุตสาหกรรมนี้ ยังมีคนจำนวนมากที่ยังติดอยู่กับความคิดที่ว่ารถยนต์ต้องมีเครื่องยนต์” นาย Sato กล่าว ผู้บริหารกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง EV ในเครือข่ายซัปพลายเออร์ เช่น Jatco เนื่องจากรถ EV ต้องการชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน ผู้ผลิตรถยนต์คาดว่าในที่สุดแล้วการเปลี่ยนไปผลิตรถแบบ EV จะเป็นเรื่องง่ายเหตุผลก็คือ เมื่อถึงเวลาเหมาะสมผู้ผลิตจะสามารถเปลี่ยนจากรถไฮบริดเป็น EV ได้ไม่ยาก
ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า พลังงานจากไฮโดรเจนซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ไม่ปล่อยคาร์บอนของเสีย จะกลายมาเป็นพลังงานหลักของโลก Toyota บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของญี่ปุ่น ถึงกับเคยออกมาเดิมพันกับอนาคตของอุตสาหกรรมว่าการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะกลายเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งโลก จนถึงตอนนี้ที่แทบจะไม่มีใครพูดถึงพลังงานไฮโดรเจนเลย ในอดีตนาย Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็เคยออกมาสนับสนุนนโยบายที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็น “สังคมไฮโดรเจน” มาแล้ว
แม้ว่าไฮโดรเจนจะมีบทบาทสำคัญในการลดคาร์บอนในภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า เช่น การผลิตเหล็กหรือเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถบรรทุกระยะไกล แต่ถ้าจะเอามาใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กก็ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนัก แม้ญี่ปุ่นซึ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้แล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้น Toyota ก็ขาย Mirai ในตลาดบ้านเกิดได้เพียง 7,500 คันเท่านั้น
บางทียี่ห้อก็ไม่ช่วยอะไร
ในขณะที่รัฐบาลจีน ยุโรป และอเมริกาให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสภาพอากาศและอากาศที่สะอาด แต่ญี่ปุ่นกลับลดแรงจูงใจผู้ผลิตรถยนต์ โดยรัฐบาลเรียกร้อง (กึ่งบังคับ) ให้ 100% ของรถยนต์ที่จะออกขายภายในปี 2035 เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่นั่นจะรวมถึงรถยนต์ไฮบริดก็ต้องไม่มีแล้วด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นในตอนนี้ทำตรงข้ามกับรัฐบาลอื่น ๆ อย่างเช่นในเรื่องเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ใช้น้ำมันในญี่ปุ่นยังคงมีขนาดใหญ่กว่าเงินอุดหนุนสำหรับรถ EV กฎระเบียบที่เข้มงวดขัดขวางการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเพิ่มสถานีชาร์จไฟ ในญี่ปุ่นมีสถานีชาร์จ EV สาธารณะเพียงแค่ 1 ใน 4 ของพื้นทั้งหมด ซึ่งญี่ปุ่นมีจำนวนสถานีชาร์จเท่ากับที่เกาหลีใต้ แต่เกาหลีใต้มีพื้นที่เล็กกว่ามาก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นคิดช้าเกินไปที่จะตามทันการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่แข่งขันดุแบบนี้
ถึงแม้ Toyota จะมีประสบการณ์การทำรถยนต์ไฟฟ้า 100% อย่างรุ่น “bz4x” ทั้งการออกแบบและสร้างจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในตลาด EV อย่างที่พวกเขาคิดไว้ เพราะหากเรามองดูกระแสเรื่องรถ EV ทางฝั่ง Tesla และ BYD ดูจะได้ซีนจากเรื่องนี้ไปมากกว่า Toyota
แนวคิดของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างล้าสมัย การสร้างรถ EV ที่ดึงดูดใจผู้บริโภคนั้นจำเป็นต้องเน้นที่ซอฟต์แวร์และฟังก์ชันภายในรถมากกว่า ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องฮาร์ดแวร์เสียมากกว่า
บริษัทวิจัยของอเมริกาอย่าง S&P Global Mobility ชี้ให้เห็นถึงผลการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปว่า บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นกำลังค่อย ๆ สูญเสียลูกค้าแฟนตัวยงไป ค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ที่เคยมัดใจลูกในอเมริกามาเป็นระยะเวลานานก็กำลังค่อย ๆ ถูกลืมไป
งานวิจัยยังชี้อีกว่าผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้รถ EV ในปี 2022 ส่วนใหญ่เปลี่ยนจาก Toyota และ Honda ทั้งนั้น นั่นแปลว่างานของ 2 ค่ายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นยิ่งยากขึ้นไปอีกในการที่จะทำให้ผู้บริโภคหันกลับมานิยมในตัวแบรนด์อีกครั้ง
เมื่อเทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนผู้ที่ตามไม่ทันอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และถึงแม้เราจะยังไม่แน่ใจว่าที่ Toyota หรือ Honda ยังไม่ออกมาขยับมากนักในเรื่องกระแสการเปลี่ยนไปใช้รถ EV อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาซุ่มพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ หรือเพราะพวกเขาไม่รู้จะเอาเหลี่ยมมุมไหนออกมาสู้กันแน่
แต่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงและไม่มีทางปฏิเสธได้ก็คือ ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนกำลังค่อย ๆ หายใจรดต้นคอยักษ์ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าพวกเขาไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่แน่ว่าสักวันพวกเขาอาจจะเหลือแต่ชื่อไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาประวัติศาสตร์ความสำเร็จก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.economist.com/asia/2023/04/16/how-japan-is-losing-the-global-electric-vehicle-race
https://en.wikipedia.org/wiki/Automotive_industry_in_Japan
https://asiatimes.com/2023/01/global-times-mostly-wrong-on-japans-chip-industry/
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



