“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ยังคงเป็นคำถามอมตะข้ามยุคสมัย ที่ครูถามเด็ก ๆ ในห้องเรียน และพ่อแม่กับคนในครอบครัวถามลูกหลานอยู่เสมอ โดยแม้เป็นคำถามสั้น ๆ แต่สามารถเปิดบทสนทนากับเด็กได้แบบยาว ๆ และขณะเดียวกันยังเป็นการชี้วัดว่า อาชีพไหนเป็นอาชีพในฝันของเด็กแต่ละยุคอีกด้วย
หมอ ครู ตำรวจ คือคำตอบปกติที่เด็กทุกยุคจะตอบกลับมา เพราะเป็นอาชีพหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัด โดยที่ยังไม่รู้ถึงเงินเดือนและข้อดี-ข้อด้อย ของแต่ละอาชีพเมื่อไปทำงานจริง
ขณะที่นักร้องและนักกีฬาก็อาจเป็นอาชีพในฝันที่แทรกเข้ามาอยู่บ่อย ๆ หากช่วงนั้นเกิดมีนักร้องหรือนักกีฬาคนไหนประสบความสำเร็จระดับที่สร้างชื่อเสียงขึ้นมาระดับประเทศ
ส่วนถ้าถามเด็กยุคนี้ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” มีความเป็นไปได้สูงว่าคำตอบที่ได้รับอาจเป็น Online Influencer แขนงต่าง ๆ เช่น Youtuber Gamestreamer และ TikToker เพราะนอกจากได้แสดงความเป็นตัวตนให้โลกรู้แล้ว ยังมีรายได้จากกิจกรรมดังกล่าว หลังมีโฆษณาเข้ามาอีกด้วย
นอกจากคำตอบดังกล่าวที่เป็นไปในลักษณะเชิงประจักษ์ที่พ่อแม่และเหล่าลุงป้าน้าอารับรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีผลสำรวจในตลาดแรงงานเป็นหลักฐานยืนยัน และตัวเลขคาดการณ์เป็นข้อมูลที่ชี้ว่า Online Influencer และอาชีพในสายงานออนไลน์คงเป็นอาชีพในฝันของเด็ก ๆ ต่อไปอีกหลายปี
อาชีพในฝันอันดับหนึ่งของบัณฑิตชาวจีนเมื่อปี 2022 คือ Steamer และการไลฟ์ขายของ เพราะเห็นว่าเงินดี
ส่วนจากการคาดการณ์ของ Statista เว็บไซต์เก็บรวบรวมสถิติต่าง ๆ ระบุว่า ปีนี้มูลค่าตลาด Online Influencer ทั่วโลกจะอยู่ที่ 17,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 589,000 ล้านบาท) เพิ่มจาก 13,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 467,000 ล้านบาท) ของปี 2021 และจะเพิ่มเป็น 22,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 751,000 ล้านบาท) เมื่อถึงปี 2025
แต่ Online Influencer ก็มีด้านมืดซ่อนอยู่ ไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ แม้อาจไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แบบตำรวจ-ทหาร แต่เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและเตรียมตัวรับเอาไว้
ด้านมืดอย่างแรกที่เห็นชัดสุดเลยคือ ความเหนื่อยจากการสร้างคอนเทนต์อยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างฐานแฟนและเพิ่มยอดผู้ชมผู้ติดตาม จนที่สุดในโฆษณาเข้า
การปั่นและปั้นยอดเหล่านี้จะทำให้เกิดความล้าตามมา เพราะต้องการทั้งปริมาณและความแปลกใหม่ความสร้างสรรค์นั่นเอง
พอติดลมบนและดังขึ้นมา ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการผลิต เช่น การตัดต่อ กราฟิกต่าง ๆ หรือการจ้างทีมงาน ตามมาอีก จนอาจกล่าวได้ว่า Online Influencer ต้องหัวหมุนคิดงานอยู่แทบตลอดเวลา
ด้านมืดอย่างถัดมาของ Online Influencer รายได้ก้อนโตคือ การต้องสู้กับ Algorithm ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ Algorithm จับได้ หรือที่เรียกกันวงการมองเห็น เพราะหาก Algorithm เห็น Online Influencer หรือช่องไหน ก็หมายถึงความดัง ค้นหาง่าย และต่อยอดสู่การขายโฆษณานั่นเอง
ทว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ไม่เผยให้รู้ว่า Algorithm ของตนทำงานอย่างไร และเกณฑ์การมองเห็นของ Algorithm ยังไม่ตายตัวอีกด้วย นี่จึงกล่าวได้ว่าชีวิตของบรรดา Online Influencer ก็ฝากไว้กับ Algorithm แพลตฟอร์มอยู่เหมือนกัน
และแม้มีช่องให้ซื้อเพื่อเพิ่มการมองเห็น ในระยะยาววิธีการดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ซ้ำร้ายยังทำให้ Algorithm จำว่า Online Influencer ช่องนี้หรือเพจนี้ ไม่ได้สร้างคอนเทนต์ขึ้นเองแล้วเพิ่มขึ้นได้ด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า Organic แต่เน้นซื้อมากกว่า ดังนั้น ก็ต้องซื้อเพื่อเพิ่มการมองเห็น ให้เปลืองงบอยู่ร่ำไป
ด้านมืดข้อถัดมาคือเส้นแบ่งระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) จะเสียไป เพราะ Online Influencer ต้องโพสต์คอนเทนต์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในคอนเทนต์ซึ่งเรียกความสนใจได้อยู่เสมอคือ คอนเทนต์ที่มีความสมจริง (Real)
แต่คอนเทนต์เรียล ๆ เหล่านี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะ Online Influencer หรือ Content Creator ต้องเผยชีวิตส่วนตัวให้โลกได้รู้
และการสร้างคอนเทนต์เรียล ๆ เพื่อหวังเรียกยอดไลก์ บางครั้งก็ทำให้ Online Influencer หน้ามืดตามัว ลืมนึกไปว่ามีประเด็นอ่อนไหวซ่อนอยู่หรือไม่เหมาะสมที่จะโพสต์ จนที่สุดกระแสวิจารณ์แบบสาดเสียเทเสียมากกว่าคำชม
ดังที่เห็นได้จากคอนเทนต์แนวแกล้งคน ทำเรื่องพิเรนทร์ หรือแสดงทัศนะแรง ๆ แล้วถูกแบน และรุมต่อว่า จน Online Influencer ต้องออกมาทำโพสต์ขอโทษที่ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง
ด้านมืดอีกอย่างที่ Online Influencer ต้องระวังคือการโพสต์เรื่องอ่อนไหว หรือไปสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายปกครองของประเทศตัวเอง โดยทุกประเทศไม่ว่าอยู่ในระบอบใดก็มีเส้นแดงที่ไม่ควรข้ามไปทั้งสิ้น
เช่น การที่ หลี่ เจี่ยฉี Online Influencer ชายคนดังของจีน เจ้าของฉายา “ราชาลิปสติกจีน” โดนรัฐบาลจีนสั่งแบนนานหลายเดือนเมื่อปี 2022 เพราะนำเค้กรูปร่างคล้ายรถถังขึ้นมากินระหว่างไลฟ์ขายของในช่วงวันครบรอบ 33 ปีเหตุล้อมปราบที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
ด้านมืดอย่างสุดท้ายของการเป็น Online Influencer คือรายได้ไม่คงที่ เพราะขึ้นอยู่กับความดังของแต่ละคน และยังต้องเผชิญการเหยียดเพศและสีผิวอีกด้วย
เช่น จากรายงานของ MLS บริษัทที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์เมื่อปี 2020 ระบุว่า Online Influencer คนผิวขาวจะมีรายได้ดีกว่า Online Influencer คนผิวดำ เพราะแบรนด์จ้างคนผิวขาวมากกว่า/bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



