ตลาดแว่นตา ค้าปลีก 7.3 พันล้านบาท ลูกค้ารุ่นสู่รุ่น ผลัดใบถึงรุ่นใหม่ โจทย์ผู้ขาย-หน้าร้าน ปรับตัวให้ทันสมัย

ตลาดแว่นตาค้าปลีก 7.3 พันล้านบาท โตเสถียร เหตุผู้บริโภคยอมทุ่มเพื่อคุณภาพ เพราะมองแว่นตาเป็นโปรดักส์ทางการแพทย์-สร้างความประทับใจแรกพบบนใบหน้า ถึงยุคหน้าร้านเร่งปรับตัวให้ทันสมัย รับเทรนด์ลูกค้ารุ่นสู่รุ่น ผลัดใบถึงคนรุ่นใหม่

ตลาดแว่นตาค้าปลีก 7.3 พันล้านบาท

ลูกค้ารุ่นสู่รุ่น ผลัดใบถึงรุ่นใหม่

โจทย์ผู้ขาย-หน้าร้าน ปรับตัวให้ทันสมัย

มูลค่าตลาดแว่นตาค้าปลีกในไทย ปี 2566/ล้านบาท 7,350
อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 2556-2566 5%
หน้าร้านแว่นตาค้าปลีก/ร้าน 5,000
เงินลงทุนเปิดร้านแว่นตาค้าปลีก/ล้านบาท/ร้าน 8
3 เชนใหญ่ มีสาขาหน้าร้านเยอะสุด
1.​​ Top Charoen (ท็อปเจริญ) 1,750
2. KT OPTIC (เคที ออพติค) 160
3. Better Vision (หอแว่น) 110
ที่มา: อายลิ้งค์ วิชั่น และ เคที ออพติค/พฤษภาคม 2566

 

นายประพันธ์ ผดุงเกียรติสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อายลิ้งค์ วิชั่น จํากัด กล่าวว่า บริษัทในฐานะผู้นำเข้าและขายส่งแว่นตาฟังก์ชันนอล (Functional)  แบรนด์เยอรมนี ic!berlin (ไอซี!เบอร์ลิน) และอีก 20 แบรนด์

พบว่าการเกิดขึ้นของเวิร์กฟรอมโฮม ได้เพิ่มระยะเวลาการทำงานผ่านหน้าจอของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้งานเลนส์ และแว่นตามีมากขึ้น ทั้งการปิดตัวลงของหน้าร้าน ช่วงวิกฤตโรคระบาด ก็ส่งให้ผู้บริโภค เห็นความสำคัญของ แว่นตาสำรอง เผื่อใช้งานฉุกเฉิน ทำให้ ภาพรวมตลาดแว่นตาค้าปลีกในไทย ปี 2565 มีอัตราเติบโตมากขึ้นจากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) 15%

ต้นทุนการผลิตและนำเข้าเพิ่มขึ้น 15% จากวิกฤตยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ต้นทุนทุกอย่างมีราคาปรับขึ้นทั้งหมด เกิดการปรับตัวขึ้นของราคาแว่นตาในปีที่ผ่านมา

แต่เชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้จะทำให้ผู้ขายส่ง-ขายปลีกแว่นตาในไทย สามารถตรึงราคาในปีนี้ไว้ได้ตลอด โดยไม่มีการปรับขึ้นอีก

 

แบรนด์ที่มีอัตราเติบโตในไทยมากสุดปี 2565 ทั้งในกลุ่มแว่นตาฟังก์ชันนอล หรือ แว่นตาที่มีวัสดุ, รูปทรง และเลนส์ ที่ออกแบบมาเพื่อความต้องการใช้งานของลูกค้าแบบเฉพาะคน และ แว่นตาแฟชั่น

ดังนี้ 1. ic!berlin (ไอซี!เบอร์ลิน), 2. Dior (ดิออร์) และ 3. Silhouette (ซิลลูเอท) และ 80% ของภาพรวมตลาดแว่นตาฟังก์ชันนอลในไทย อายลิ้งค์ วิชั่น ครองส่วนแบ่งยอดขายส่งอยู่ถึง 80%

ทั้ง ไทย ยังนับเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับแว่นตาฟังก์ชันนอล เนื่องจากการเข้ามาทำตลาดของผู้นำเข้าแว่นตา ทั้ง อายลิ้งค์ วิชั่น และเจ้าอื่น ๆ ที่เริ่มกันมายาวนานตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว

ส่วน แว่นตาแฟชั่น Rayban (เรย์แบน) ยังนับเป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในไทย ในปัจจุบัน

ความท้าทายของผู้นำเข้าแว่นตามาขายส่งในประเทศไทย มีความน่ากังวลอย่างเดียว คือการเข้ามาทำตลาดเองจากเจ้าของแบรนด์ หลังผู้นำเข้าเดิมสร้างการรับรู้แบรนด์นั้น ๆ ให้เป็นที่รู้จักดีพอแล้ว ซึ่งการสร้างแบรนด์ของตัวเองนับเป็นทางเลือกสำรองที่ผู้นำเข้าทุกรายต้องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้

อนึ่ง การทำงานในส่วนของ อายลิ้งค์ วิชั่น ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตแว่นตารวม 20 แบรนด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก สัดส่วน ครึ่ง/ครึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงซบเซาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

1. แว่นตาแฟชั่น อาทิ Dior (ดิออร์), Givenchy (จีวองชี่), Silhouette (ซิลลูเอท) และ Kenzo (เคนโซ่)

2. แว่นตาฟังก์ชันนอล อาทิ ic!berlin (ไอซี!เบอร์ลิน) และแบรนด์ล่าสุดที่เตรียมนำเข้ามาในไทย ปี 2566 Off White (ออฟไวท์), Palm Angels (ปาล์ม แองเจิล) และ Porsche Design (พอร์ช ดีไซน์)

ยอดขายปี 2565 อยู่ที่ 350 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 อยู่ที่ 400 ล้านบาท โดยรายได้ 45% ของ อายลิ้งค์ วิชั่น มาจากแบรนด์ ic!berlin

 

ปี 2566 บริษัทตั้งงบการตลาด 50 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 50% เริ่มจากการเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ของแบรนด์ ic!berlin อย่าง Silk Pure 2023 (ซิลค์ เพียว 2023)

แว่นตาฟังก์ชันนอล ดีไซน์โฉบเฉี่ยว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยระบบบานพับที่บางเบา แต่แข็งแรง เพิ่มลูกเล่นด้วยกรอบและขาแว่นสีสันสดใส

ตัวแว่นผลิตจากวัสดุสแตนเลสสตีลพรีเมียม เกรดเครื่องมือแพทย์ ผสานนวัตกรรมบานพับไร้สกรู ลิขสิทธิ์เฉพาะของ ic!berlin คอลฯ มีทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ Teo, Mea, Lio, Sia และ Lev แต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกัน

 

และเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ แอลลี่-อชิรญา นิติพน ทั้งต่อสัญญาแบรนด์แอมบาสเดอร์ ปีที่ 2 กับ หมาก-ปริญ สุภารัตน์ ที่จะเข้ามาทำกิจกรรมการตลาดให้แบรนด์ ic!berlin และคอลฯ ใหม่อื่น ๆ ตลอดปีนี้

มุ่งเน้นการโปรโมตไปที่สื่อออนไลน์เป็นหลัก เพื่อสร้างการเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งร่วมมือกับดีลเลอร์และตัวแทนจำหน่าย เปลี่ยนตู้โชว์แว่นตาแบรนด์ ic!berlin ให้มองเห็นสินค้าได้เด่นชัดขึ้น จัดโปรโมชั่นเพื่อจับกลุ่มลูกค้ารายได้สูง, คนทำงาน และวัยรุ่นที่ตามเทรนด์แฟชั่นอยู่เสมอ

 

นายชัชวาลย์ วณิชไพสิฐ กรรมการบริหาร บริษัท กรุงไทย ออพติค จํากัด หรือ KT OPTIC กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดจำหน่ายแว่นตาค้าปลีก ที่เป็นดีลเลอร์อันดับ 1 ของ อายลิ้งค์ วิชั่น ซึ่งเป็นคู่ค้ากันมากว่า 30 ปี

ทำให้ปีนี้ KT OPTIC จะร่วมทำตลาดกับอายลิ้งค์ วิชั่น ผ่านหน้าร้านในเครืออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โปรโมตคอลฯ ใหม่ของ ic!berlin ดึงเซเลบริตี้ และอินฟลูเอนเซอร์ มาทำโปรดักส์ รีวิวในร้าน เป็นต้น

การดำเนินงานในภาพใหญ่ KT OPTIC มียอดขาย ปี 2565 อยู่ที่ 850 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 อยู่ที่ 900 ล้านบาท

ปัจจุบัน KT OPTIC ครองแชร์หน้าร้านแว่นตาค้าปลีกในไทย อยู่ในอันดับ 2 ของตลาด และยังคงมีการเติบโตที่เสถียรด้วยความที่อยู่ในตลาดมายาวนานตั้งแต่ปี 2507

จนปัจจุบันก็ประมาณ 59 ปี ทำให้มีฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ค่อนข้างแข็งแรง และมียอดจ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า

ปี 2566 KT OPTIC ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ เพิ่ม 6-8 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เน้นจับตลาดกลางขึ้นไปบน และจะทยอยรีโนเวตสาขาที่มีศักยภาพในการซื้อสูง

ภาพรวมหน้าร้านแว่นตาค้าปลีกในไทย ยังมีการเปิดใหม่ต่อเนื่อง และมีมูลค่าการลงทุนต่อร้านค่อนข้างสูง เพราะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไปแล้วจบ

แต่เป็นการทำหน้าร้านที่ผสานระหว่างโปรดักส์ทางการแพทย์ โดย เลนส์แว่นตา ต้องได้รับการอนุญาตจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแฟชั่นโปรดักส์

 

ปัจจัยที่ทำให้หน้าร้านแว่นตาค้าปลีกยังมีอัตราเปิดใหม่เพิ่มขึ้น ยังมาจากการเปิดสอนการตัดแว่นตา ที่กว้างขวางของสถาบันการศึกษา

และ 60% ของหน้าร้านแว่นตาค้าปลีกเปิดใหม่ มาจากการผุดขึ้นของร้านที่จับตลาดราคากลางถึงล่าง ที่มีหน้าร้านเป็นล็อกเสริม ขนาด 2-3 ตารางเมตร ตามคอมมูนิตี้มอลล์ แถบชานเมือง เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งของเชนใหญ่ ที่มีสาขาเป็นหลักร้อยขึ้นไปอยู่แล้ว

พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน มีการใช้งานแว่นตา ทั้งฟังก์ชันนอล เพื่อทำงาน และใช้ในชีวิตประจำวันและแฟชั่น สำหรับไปเที่ยว พบปะสังสรรค์กับผู้คน เพื่อแสดงถึงไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

และส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความผูกพันกับหน้าร้านในระยะยาว อาทิ พ่อแม่ที่เคยพาลูกมาตัดแว่นที่ร้านไหน ก็จะใช้บริการแต่ร้านเดิมนั้น เกิดการส่งต่อของการตัดสินใจซื้อ จากรุ่นสู่รุ่น และถึงรอบผลัดใบ ที่คนรุ่นลูกหลาน หรือคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาเป็นกำลังซื้อหลักในตลาดมากขึ้น

 

ทำให้การปรับตัวสำคัญของ ตลาดแว่นตา ค้าปลีกในไทย คือ ต้องมีความทันสมัย และเข้าถึงคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เพราะเป็นกลุ่มที่เข้ามามีกำลังซื้อหลักแทนคนรุ่นเก่า

ทั้งหน้าร้านแว่นตาค้าปลีก เป็นการทำธุรกิจซื้อขาย ที่สามารถต่อรองราคากันได้ ทำให้การสื่อสารของพนักงาน ก็ถือเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ

ด้าน อัตราการเปลี่ยนแว่นตาใหม่ แว่นตาฟังก์ชันนอล 2-3 ปี/ครั้ง (เฉพาะเลนส์สายตา 1 ปี/ครั้ง) และ แว่นตาแฟชั่น 1 ปี/ครั้ง

ทั้งการที่แว่นตา เป็นโปรดักส์ที่ถูกสวมใส่อยู่บนใบหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนของร่างกาย ที่เป็นความประทับใจแรกพบในตัวคนเรา ทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อโปรดักส์ที่มีคุณภาพที่สุด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน