26 พฤษภาคม 2566 นี้ ขันเงินไทยเทเนี่ยม จะกลายเป็นเจ้าของ บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยสมบูรณ์แบบ ด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมดที่ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ถืออยู่
และขันเงินจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นหลักใน บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ด้วยสัดส่วน 92.46% ของหุ้นทั้งหมด
พร้อมเปลี่ยนสัดส่วนชื่อผู้ถือหุ้นหลัก 5 อันดับแรกเป็น
ขันเงิน เนื้อนวล 92.46%
พรนภัส องค์วาสิฏฐ์ 1.45%
วรุต ตันติพิภพ 0.90%
ศุภิสรา ฉัตรกุล ณ อยุธยา 0.61%
ชยพล ปุลิเวคินทร์ 0.59%
ก่อนที่ขันเงินจะกลายเป็นเจ้าของ บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีผลประกอบการในปีที่ผ่านมา 292.55 ล้านบาท กำไร 24.87 ล้านบาท
เป็นรายได้ที่มาจาก
ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ 159.81 ล้านบาท
จำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ 119.28 ล้านบาท
และรายได้อื่น ๆ 13.46 ล้านบาท
ส่วนไตรมาส 1/66
มีรายได้ 30.48 ล้านบาท กำไร 2.87 ล้านบาท
รายได้ทั้งหมดนี้มาจากธุรกิจของ บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และบริษัทย่อย
ซึ่ง บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะทำหน้าที่เป็นบริษัทลงทุนในธุรกิจจัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และลงทุนในธุรกิจสื่อโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ และธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทยผ่านบริษัทย่อยในเครือ และบริษัทร่วมทุน รวมถึงกิจการร่วมค้าในภาพยนตร์ต่าง ๆ ในสัดส่วนการถือหุ้น 20.00-99.99% แตกต่างกันไปแต่ละบริษัท
บริษัทย่อยในเครือจะประกอบด้วย 4 บริษัท ซึ่ง 2 บริษัทในเครือ อ้างอิงข้อมูลจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ในรายงานประจำปี 2565 พบว่าบริษัทนี้ได้หยุดดำเนินการแล้ว
ได้แก่
เอ็ม พิคเจอร์ส เป็นบริษัทที่ทำรายได้หลักให้กับ บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
ทำหน้าที่จัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เพื่อฉายผ่านโรงภาพยนตร์และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ
และผลิตภาพยนตร์ไทย
เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ ผลิตภาพยนตร์ไทย
และ 2 บริษัทที่หยุดดำเนินการ ได้แก่
เอ็ม วี ดี
จัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ จัดทำในรูปแบบ วีซีดี, ดีวีดี และบลูเรย์
และ
เอ็ม ทาเลนต์ ผลิตภาพยนตร์ไทย และละครซีรีส์
บริษัทร่วมทุน ได้แก่
ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ร่วมทุนกับ กลุ่มทรู, แบ็งคอค ฟิล์มสตูดิโอ และแม็ทชิ่ง สตูดิโอ พลัส เพื่อผลิตภาพยนตร์ไทย
เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง ร่วมทุนกับ กันตนา กรุ๊ป ทำธุรกิจเคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียมผ่านเคเบิลทีวี ช่อง M Channel
ลาสต์ ไอดอล (ไทยแลนด์) ร่วมทุนกับที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล, เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และดราคอนิค ทำธุรกิจความบันเทิงและการแสดงต่าง ๆ ที่เป็นภาพและเสียง ผ่านรายการ Last Idol Thailand
สกายบ็อกซ์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ร่วมทุนกับเวิร์คพอยท์ ทำหน้าที่บริหารศิลปินและนักแสดง ผลิตและบริหารลิขสิทธิ์รายการและงานดนตรี
เอ็มพีวี เอ็ม พิคเจอร์ส ฟิล์ม ดิสทริบิวชั่น (ลาว)
จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ
เอ็ม.พี.ไอ.ซี (กัมพูชา) ดิสทริบิวชั่น
จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชา ที่ฉายผ่านโรงภาพยนตร์และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ
แม้ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จะขายหุ้นเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ทั้งหมด
แต่ไม่ใช่ว่า บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จะเลิกขาดจากธุรกิจผลิตและลงทุนในภาพยนตร์ อ้างอิงจากรายงานประจำปี 2565 บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ยังมีบริษัทในเครือที่ผลิตภาพยนตร์ ได้แก่
บจ. ไท เมเจอร์ ทำธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทย ในปี 2564 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ไท เมเจอร์ มีรายได้รวม 13.61 ล้านบาท ขาดทุน 27.70 ล้านบาท
บจ. เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม ประกอบกิจการลงทุนในสื่อภาพยนตร์ ปี 2564 มีรายได้รวม 32.30 ล้านบาท ขาดทุน 14.42 ล้านบาท
ส่วนปี 2565 ยังไม่มีรายงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังคงเป็นเครือจีดีเอช จากปีที่ผ่านมาจินา โอสถศิลป์ ประธานบริหาร GDH ให้ข้อมูลว่า
มีรายได้รวม 504.9 ล้านบาท และคาดการณ์ปีนี้จะมีรายได้ 510 ล้านบาท
ส่วนตลาดภาพยนตร์ในประเทศไทย ในปี 2565 มีรายได้ 2,114 ล้านบาท มาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ 1,700 ล้านบาท ภาพยนตร์ไทย 414 ล้านบาท
เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2564 มีรายได้ 1,100 ล้านบาท จากภาพยนตร์ต่างประเทศ 900 ล้านบาท ภาพยนตร์ไทย 200 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ทิศทางตลาดภาพยนตร์ในประเทศไทยคาดการณ์เติบโตกว่าเดิมแน่นอน จากภาพยนตร์ต่างประเทศและไทย ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนทิศทางของเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะเป็นอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับขันเงิน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนใหม่
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



