BGC เดินหน้าขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์รับเมกะเทรนด์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
หลังประกาศตั้งเป้าสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทภายในปี 2569 บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Total Packaging Solutions) เดินหน้าทำตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด จากผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
โดยที่ผ่านมาเราได้เห็นBGCลุยซื้อกิจการเพื่อต่อยอดและขยายธุรกิจเดิม พร้อมมองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดภายในงาน ProPak Asia 2023 นอกจากจะนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์มาร่วมโชว์เคสแล้ว BGCยังเผยถึงกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างรายได้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “BGCเชื่อว่านวัตกรรมคือส่วนสำคัญที่ช่วยพาโลกก้าวไปข้างหน้า และความยั่งยืนจะช่วยทำให้โลกก้าวไปได้อย่างมั่นคง เราจึงมุ่งมั่นคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่ควบรวมทั้ง 2 อย่างนี้มาไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นตัวแทนส่งมอบคุณค่าไปสู่ลูกค้า ผู้บริโภค และส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่โลกของเรา”
จับมือกับลูกค้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เมกะเทรนด์
ด้วยภาวะโลกร้อนประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์บรรจุภัณฑ์ทั่วโลกมุ่งเน้นไปที่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Packaging) และต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable Packaging) นั่นทำให้ผู้ประกอบการเองต่างต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“ต้องยอมรับว่าเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยมาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลทางตรงกับการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ประกอบกับมีการผลักดันจากหลายหน่วยงานทั่วโลกจนเกิดเป็น “เมกะเทรนด์” ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ
“BGCเองเราวางแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจBCG (Bio Circular Green Economy Model) โดยมุ่งวางเป้าพัฒนาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า และการจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ในการนำของเสีย หรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ในการผลิตใหม่ให้ได้มากที่สุด”
โดยที่ผ่านมาBGCเปิดตัว ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ Technology and Innovation Center (TIC) ที่มีทีมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการใช้งาน ความสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“กลยุทธ์ของเราคือ เน้นวางแผนร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการใช้งาน ความสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง “การคิดเผื่อ” เพื่อตอบโจทย์ Unmet Need ที่สำคัญคือสามารถดึงความเป็นเอกลักษณ์ของลูกค้าแสดงออกมาในตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย”
ยกตัวอย่าง บรรจุภัณฑ์ที่BGCพัฒนาขึ้นมา เช่น นวัตกรรมขวดน้ำหนักเบา (Lightweight Bottle) ที่ช่วยลดการใช้วัตถุดิบและลดค่าขนส่ง แต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน, นวัตกรรมกล่องพัสดุ MIDLOCK ที่ช่วยลดการใช้เทปพลาสติก แต่ยังสามารถรับน้ำหนักได้ดี และนวัตกรรมฟิล์มเรืองแสง ที่สามารถดึงเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นออกมา ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของลูกค้า หรือนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์กลุ่มถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ที่BGCเข้าไปลงทุน ตลอดจนวิธีการใช้ Mono Material เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ง่ายต่อการรีไซเคิล
3 กลยุทธ์ พา BGC เติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อถามถึงยุทธศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อน BGC เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในมิติของการสร้างรายได้ การสร้าง Value ให้กับแบรนด์ ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสิ่งแวดล้อม คุณศิลปรัตน์ อธิบายว่า
1. การเป็นผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Total Packaging Solutions):ที่มีทั้ง Products และ Services ที่ครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งนี้ BGCยังมีแผนขยายพอร์ตบรรจุภัณฑ์ให้หลากหลายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวและตอบสนองความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายของลูกค้า
2. การดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตควบคู่กับสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน:BGC มุ่งเน้นตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยกรให้น้อยลง แต่ยังคงประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) ได้ด้วย ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังเป็นการส่งเสริมการเป็นผู้นำเทรนด์บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Unmet Need ของลูกค้าด้วยเช่นกัน
3. การเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่: โดยมี ศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC) ที่มีทั้งบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ครบครัน เอื้อต่อการวิจัยค้นคว้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
ศิลปรัตน์ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “BGCยังคงมองหาโอกาสลงทุนในบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อขยายพอร์ตให้ครอบคลุมความต้องการของตลาด รวมถึงมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นตลาดหลักในการส่งออก และเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี”
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ