แม้อยู่นอกเหนือปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ผู้คนก็ยังอยากท่องเที่ยวเท่าที่กำลัง งบ และเวลาจะเอื้ออำนวย เพราะเป็นทั้งการพักผ่อน เปิดโลก และอาจได้ไอเดียใหม่ ๆ มาช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

นี่เองทำให้การท่องเที่ยวพัฒนาจนเป็นธุรกิจใหญ่ และมีทัวร์มากมายออกมารองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่ราคาประหยัดเข้าถึงได้ ไปถึงระดับ Premium และ Super Premium ที่พาเศรษฐีเที่ยว

ทว่าก็ยังมีการท่องเที่ยวอีกประเภทเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากระเป๋าหนัก ซึ่งกลายเป็นข่าวอยู่เสมอเมื่อประเดิมทริปแรก ๆ นั่นคือการท่องเที่ยวแบบสุดขั้ว Extreme Tourism ลูกทัวร์ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่หลักล้าน พาไปที่หมายปลายทางเกินที่คนทั่วไปจะไปได้ และประสบการณ์ที่ได้มาจะเป็นที่จดจำไปตลอดชีวิตจนผู้อื่นต้องอิจฉา 

ขณะเดียวกันยังมีอันตรายแฝงอยู่ เหมือนเรื่องเศร้าที่เกิดกับลูกทัวร์มหาเศรษฐีทั้ง 4 คนกับกัปตันเรือดำน้ำเล็ก Titan ที่หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ แถลงแล้วว่าภารกิจชีวิตล้มเหลว หลังพบชิ้นส่วนของเรือที่แตกออกจากการระเบิดใต้ทะเล

ขณะที่ทุกคนในเรือที่หวังจะได้เห็นซากเรือ Titanic ก็คงเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากออกซิเจนหมดไปก่อนหน้านั้นแล้ว

แรกเริ่มเดิมที Extreme Tourism เป็นชื่อใช้เรียกการท่องเที่ยวประเภทที่ลูกทัวร์อยากได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ไล่ตั้งแต่การเข้าไปดูสัตว์ป่าในแอฟริกา ขยับสู่สถานที่แปลก ๆ ที่มีอันตราย มาจนถึงการไปยังที่หมายปลายทางเกินเอื้อมถึงของคนทั่วไป

เช่น พิชิต Everest ยอดเขาสูงสุดในโลก ไปขั้วโลก สัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักในอวกาศ หรือขึ้นเรือดำน้ำลงไปสำรวจใต้มหาสมุทร

โดยเมื่อเป็นที่หมายเกินเอื้อมของคนทั่วไป ต้องใช้เทคโนโลยี กำลังคน และความชำนาญ ราคาต่อทริปจึงแพงสุดขั้วเช่นกัน จึงมีระดับมหาเศรษฐีเท่านั้นที่ซื้อทัวร์ได้

และนี่คือบริษัทบางส่วนทำธุรกิจ Extreme Tourism ที่พร้อมพาลูกทัวร์มหาเศรษฐีไปเที่ยว  

 

SpaceX                

SpaceX ก่อตั้งเมื่อปี 2002 จากความคิดของ Elon Musk ที่อยากพาคนไปอาศัยยังดาวอื่น ๆ เพราะคาดว่าต่อไปโลกจะแออัดเกินไป และทรัพยากรอาจร่อยหรอจนใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก

Elon Musk

เขาทยอยนำเงินจากบริษัทอื่น ๆ ที่บริหารอยู่โดยเฉพาะรถ EV Tesla มาทำฝันนี้ให้เป็นจริง

ปี 2012 SpaceX จุดประกายความหวังให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอวกาศได้ออกตัว หลังองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) ไว้วางใจให้ทำภารกิจ ถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ทำได้

ข้ามมาปี 2018 SpaceX เป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง หลังประกาศจัดทัวร์อวกาศ พาขึ้นยานอวกาศ ลอยอยู่รอบวงโคจรโลก และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอวกาศ 6 วัน โดยผู้ที่ทุ่มเงิน 560 ล้านดอลลาร์ (ราว 17,000 ล้านบาท) เหมาซื้อทัวร์พาศิลปินอีก 8 คนเที่ยวด้วยกันคือ Yazaku Maezawa มหาเศรษฐีญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งแฟชั่นอีคอมเมิร์ซ Zozotown

หากเป็นไปตามกำหนดการเดิม ทริปทัวร์อากาศของ SpaceX ที่ค่าตั๋วอยู่ที่คนละ 63 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,200 ล้านบาท) จะมีขึ้นในปีนี้

 

Virgin Galactic

อีกบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักในธุรกิจพาทัวร์อวกาศคือ Virgin Galactic ของ Richard Branson มหาเศรษฐีชาวสกอต โดยแม้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ตามหลัง SpaceX 2 ปีแต่มีประวัติสืบย้อนไปถึงการอยากจัดทัวร์อวกาศตั้งแต่ปี 1988

Richard Branson

ถัดจากนั้นแม้ Virgin Galactic ตกหลุมอากาศ เพราะเหตุเครื่องบินตกระหว่างทดสอบจนมีนักบินเสียชีวิตในปี 2014 ต้องขายหุ้นทิ้งไปล็อตใหญ่เพื่อพยุงสายการบิน Virgin Atlantic ไม่ให้ล้มละลายตาม Virgin Australia ไปช่วงวิกฤตโควิดในปี 2020  

แต่ที่สุดเมื่อช่วงกลางปี 2021 Virgin Galactic ก็พาลูกทัวร์กลุ่มแรกขึ้นเครื่องบินที่ติดอยู่กับยานแม่ แล้วปล่อยและเร่งความเร็วสู่ชั้นบรรยากาศโลก เพื่อสัมผัสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศช่วงสั้น ๆ ถือเป็นบริษัทแรกในโลกที่ทำได้

และแซงหน้า SpaceX กับ Blue Origin พร้อมอ้างด้วยว่าขายตั๋วใบละ 450,000 ดอลลาร์ (ราว 15.7 ล้านบาท) ไปได้หลายร้อยใบ   

 

White Desert Antarctica 

ขั้วโลกก็เป็นที่หมายปลายทางอีกแห่งที่ผู้คนอยากไปให้ถึง โดย Robyn กับ Patrick Woodhead คู่สามีภรรยานักสำรวจชาวอังกฤษได้ตั้ง White Desert Antarctica ขึ้นเพื่อพาผู้คนไปถึงที่หมายในฝันดังกล่าว

White Desert Antarctica ก่อตั้งในปี 2005 โดยจัดเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้บินตรงไปยังขั้วโลกใต้ พร้อมโรงแรมที่พักของบริษัทเอง ซึ่งเพราะเปลี่ยนการสำรวจขั้วโลกเป็นการท่องเที่ยวพร้อมเที่ยวบินและที่พัก ราคาต่อทริปจึงอยู่ที่ 98,500 ดอลลาร์ (ราว 3.4 ล้านบาท) ลูกทัวร์จึงเป็นคนระดับมหาเศรษฐีเท่านั้น   

 

Mountaineer Garrett Madison 

นับตั้งแต่ Tensing Norgay และ Edmund Hillary เป็น 2 คนในโลกที่สามารถพิชิตยอดเขา Everest ซึ่งสูงสุดของโลก เมื่อปี 1953 การพิชิตยอดเขาลูกนี้ก็พัฒนาขึ้นสู่ธุรกิจจนกลุ่มนักปีนเขาชาวตะวันตกจับมือกับกลุ่มชาติพันธ์ุ Sherpa ตั้งเป็นบริษัทขึ้น

Garrett Madison

Mountaineer Garrett Madison คือหนึ่งในบริษัทของธุรกิจนี้ ตัวบริษัทตั้งขึ้นในปี 2005 หลัง Garrett Madison นักปีนเขามืออาชีพชาวอเมริกันนำทักษะของตนและเพื่อน ๆ ร่วมวงการ มาต่อยอดทำเงิน

Mountaineer Garrett Madison พาเที่ยวและดูแลครบวงจร สำหรับใครที่ร่างกายพร้อมและมีเวลาเหลือเฟือเพื่อการพิชิตยอดเขา Everest โดยค่าใช้จ่ายต่อทริปในการพาไปพิชิตยอดเขาลูกนี้ผ่านการดูแลของ Mountaineer Garrett Madison อยู่ที่ 93,500 ดอลลาร์ (ราว 3.2 ล้านบาท)

 

OceanGate Expeditions

หลังมีนักสำรวจไปถึงก้นมหาสมุทร และเทคโนโลยีเรือดำน้ำพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มหาสมุทรก็ไม่ได้ลึกจนเกินหยั่งอีกต่อไป และทำให้การไปสำรวจสิ่งที่จมอยู่ใต้มวลน้ำปริมาณมหาศาลกลายเป็นการท่องเที่ยวขึ้นมา

Stockton Rush

OceanGate Expeditions ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 โดย Stockton Rush อดีตวิศวกร NASA ซึ่งทั้งซื้อและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กขึ้นมาเอง จนสามารถจัดทัวร์ดำลงไป 3,800 เมตร ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปดูซากเรือ Titanic ได้ในปี 2021

แม้ทัวร์ของ OceanGate Expeditions ด้วยเรือดำน้ำเล็ก Titan ถูกทัดทาน และคำเตือนจากหลายภาคส่วน ถึงความไม่ปลอดภัย แต่ก็ปิดทริปได้โดยสวัสดิภาพมาทุกครั้ง

16 มิถุนายนที่ผ่านมา OceanGate Expeditions จัดทริปอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะท่ามกลางลูกทัวร์ระดับมหาเศรษฐี 4 คนจ่าย 250,000 ดอลลาร์ (ราว 8.7 ล้านบาท)

และวางใจให้ Stockton Rush คุม Titan ลงไปใต้แอตแลนติกเพื่อไปดูเรือ Titanic ที่จมอยู่ใต้ก้นมหาสมุทรมาตั้งแต่ปี 1912 นั้น มี Hamish Harding มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ  

Hamish Harding

 

ผู้ที่ซื้อทริปสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักในอวกาศของ Blue Origin และลงเรือดำน้ำลงไปเห็น Marina Trench จุดที่ลึกสุดของมหาสมุทรในโลกมาแล้ว และยังเคยซื้อทริปขั้วโลกอีกด้วย

ขณะที่ Stockton Rush นอกจากลงทุนขับเรือดำน้ำเล็ก Titan ด้วยตัวเองในทริปนี้แล้ว Wendy ภรรยาของเขาแม้ไม่ได้ลงไปด้วย แต่เธอก็เชื่อมโยงกับเรือ Titanic เพราะเป็นทายาทของ Isidor Strus และภรรยา คู่ผู้โดยสารมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรม Titanic

อันเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ James Cameron สร้างภาพยนตร์ Titanic ที่ออกฉายในปี 1997 ขึ้นมา

ทว่า นี่คือการลงไปในมหาสมุทรครั้งสุดท้ายของ Titan  โดย Titan ลงไปนานเกินเวลาที่ปกติและขาดการติดต่อไป จนนำมาสู่การผนึกกำลังช่วยเหลือแข่งกับเวลาก่อนที่ออกซิเจนในเรือจะหมดลง

และที่สุดเมื่อเช้าวันที่ 23 มิถุนายนตามเวลาในไทย หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ แถลงแล้วว่าภารกิจค้นหาเรือลำนี้ล้มเหลว หลังพบชิ้นส่วนของเรือที่แตกออกจากการระเบิดใต้ทะเล

ส่วนคนในเรือทั้งหมดคงเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจจากออกซิเจนหมดไปก่อนหน้านั้นแล้วแม้เกิดโศกนาฏกรรมกับ Titan แต่ Extreme Tourism ก็น่าจะยังโตได้อีก เพราะมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก Knight Frank ระบุว่า ปี 2022 มหาเศรษฐีซึ่งมีรายได้ 30 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,000 ล้านบาท) ขึ้นไปทั่วโลก เพิ่มจากปี 2017 ถึง 44%

และมหาเศรษฐีเหล่านี้ก็มีเงินเหลือกินเหลือใช้ เวลาว่างไม่จำกัด และต่างก็พร้อมจ่ายเพื่อสัมผัสประสบการณ์เหนือระดับที่เติมเต็มความรู้สึกได้พิชิตสิ่งยาก ๆ เหนือคนทั่วไป จนมองข้ามอันตรายที่แฝงอยู่ เหมือนกับกรณีโศกนาฏกรรมกับ Titan ไป/cnn, wikipedia ,cna, theguardian



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online