เราคนไทยคงคุ้นเคยกับการโอนเงินหรือชำระค่าสาธารณูปโภคและบริการต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมผ่าน Application Mobile Banking กันมาตั้งแต่ปี 2018 (2561) ในตอนนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการธนาคารไทย เมื่อธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกรุงเทพ ต่างประกาศ ‘ฟรีค่าธรรมเนียม’ ทุกธุรกรรมการเงินผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ไม่ว่าจะเป็น โอน ถอน จ่าย ก็ฟรีหมด
แต่ก่อนที่ธนาคารใหญ่ กลาง เล็ก ในไทยจะประกาศ “ฟรี” ค่าธรรมเนียม ก็เกิดจากในปี 2017 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการ “Prompt Pay” ซึ่งเป็นระบบที่ให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินและรับเงินได้ทันทีโดยใช้เพียงแค่เลขประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถืออย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยพร้อมเพย์เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2559 เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถโอนเงินโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ (หรือหมายเลขอื่นของผู้รับ) รวมไปถึงเลขที่บัญชีธนาคาร ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
เรื่องนี้คนไทยคุ้นชินจนน่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว จะให้กลับมาเสียค่าธรรมเนียมเราคงไม่ชิน แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ถ้าคุณอยากโอนเงินให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องหรือใครก็ตามแต่ (โอนระหว่างบุคคลไปยังบุคคล) การโอนเงินข้ามธนาคารหรือแม้แต่ในบางธนาคารต่อให้เป็นลูกค้าของธนาคารนั้นทั้งสองบัญชีก็ “ไม่ฟรี” ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน
แต่หน้าประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนเพราะเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federation Reserve Board) ประกาศว่าจะพัฒนาบริการชำระเงินและบริการชำระบัญชีแบบเรียลไทม์ที่เรียกว่า “FedNow” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเงินและทำให้การชำระเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (คล้ายกับ Promtpay ในไทย)
ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า Fed จะเริ่มลอนช์ FedNow เมื่อไหร่ แต่ก็มีข่าวลือเล็ดลอดออกมาว่า Fed น่าจะเปิดให้บริการ FedNow ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยมีธนาคารเครดิตยูเนียน และผู้ให้บริการอื่น ๆ ประมาณ 55 ราย ตอบตกลงเข้าร่วม และอนุมัติให้ใช้บริการโอนเงินข้ามไปมาระหว่างธนาคารเดียวกันเอง และต่างธนาคาร
FedNow ถือเป็นบริการจากภาครัฐอย่างหนึ่งที่ภาคเอกชนและประชาชนชาวสหรัฐฯ เรียกร้องอยากให้มีมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เพราะในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีบริการในลักษณะนี้มานานแล้ว แถมยังสู้กับบริการของธนาคารขนาดใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีได้แบบไม่ขี้เหร่
การที่ Fed กำลังจะเปิดตัว FedNow จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน เพราะเมื่อเงินเกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดการบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อพนักงานได้รับเงินเดือนโอนเข้าบัญชีทันทีที่สิ้นเดือน กระบวนการในการใช้จ่ายก็เริ่มขึ้น บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็ได้รับชำระค่าสินค้าและบริการจากลูกหนี้การค้าได้อย่างรวดเร็วทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนไปซื้ัอหาวัตถุดิบ จะเห็นว่า FedNow เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่น ที่ทำให้เครื่องยนต์เดินหน้าได้อย่างเต็มกำลังและไม่มีสะดุด
ต้องบอกว่าโดยปกติแล้ว Fed ไม่ได้มีหน้าที่ในการจัดตั้งธนาคารเพื่อสำหรับรายย่อย แต่ Fed มีบทบาทอยู่เบื้องหลังในการอำนวยความสะดวกในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างธนาคารและช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรมเป็นหลัก
ซึ่งระบบใหม่ที่ Fed เรียกว่า “FedNow” จะเข้ามาลดระยะเวลาที่เงินจะถูกโอนจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่ง และทำให้เงินที่ถูกโอนเข้ามานั้นพร้อมใช้งานได้ FedNow ถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบ 24 ชั่วโมง คาดการณ์ว่า FedNow จะพร้อมใช้งานไม่ปี 2023 นี้ก็ปี 2024
ระบบการโอนเงินของอเมริกาในปัจจุบัน
ภายใต้ระบบปัจจุบันกระบวนการในการโอนและรับเงินอาจใช้เวลานานถึง 72 ชั่วโมง ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยต้องพบกับความยากลำบากและความล่าช้าในการทำธุรกรรม ยกตัวอย่างเช่น ระบบการชำระเงินปัจจุบันสร้างปัญหาให้กับคนที่จ่ายเช็คตอนสิ้นเดือน เพราะต้องฝากเช็คเข้าบัญชีธนาคารและรอให้เคลียร์เงินก่อน ถึงจะนำเงินนั้นไปจ่ายค่าสาธารณูปโภคได้ในช่วงต้นเดือนหน้า นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องวางแผนและเผื่อเวลาให้ดี มิเช่นนั้นก็อาจจะเสียเบี้ยปรับ ไม่ก็ระงับการให้บริการเพราะ Overdue (เลยกำหนดชำระ) ได้
เหตุผลที่ระบบการชำระเงินของอเมริกาล่าช้าเป็นเพราะว่า ระบบการชำระเงินของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ยังคงใช้เครือข่ายสำนักหักบัญชีอัตโนมัติ หรือ Automated Clearing House (ACH) ซึ่งเป็นระบบแบบ Batch ซึ่งหมายความว่าการชำระเงินโดย ACH จะดำเนินการเป็นชุด ๆไปตามลำดับการทำธุรกรรมก่อน-หลัง โดยอาจใช้เวลาหลายวันกว่าที่การชำระเงินจะเคลียร์ผ่านระบบแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม มีบางวิธีที่เร็วกว่าในการโอนเงินในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปการโอนเงินผ่านธนาคารจะเสร็จสิ้นภายในหนึ่งวันทำการ และแอปการชำระเงินบางแอป เช่น Zelle สามารถส่งเงินได้ทันที
โดยการชำระบัญชีที่ล่าช้าในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นได้โดยปัจจัยเหล่านี้
- ประเภทของการชำระเงิน โดยทั่วไปการชำระเงินผ่านระบบ ACH จะใช้เวลาดำเนินการนานกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร
- ช่วงเวลาของวันโดยทั่วไป การชำระเงินที่ดำเนินการในช่วงเวลาทำการจะล้างข้อมูลได้เร็วกว่าการชำระเงินที่ดำเนินการนอกเวลาทำการ
- วันในสัปดาห์ โดยปกติแล้วการโอน (หรือชำระ) เงินในวันธรรมดาจะเคลียร์เร็วกว่าการโอน (หรือชำระ) เงินในวันหยุดสุดสัปดาห์ซึ่งธนาคารอาจใช้เวลานานกว่าจะเคลียร์
ในอเมริกาหากคุณต้องการโอนเงินแบบผู้รับได้รับเงินทันทีวิธีที่ดีที่สุด คือการโอนเงินผ่านธนาคารที่ให้บริการในส่วนนี้ หรือไม่ก็ใช้แอปชำระเงิน
ปัจจุบันบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ในอเมริกาหลายแห่ง อย่างเช่น Bank of America (BAC), JPMorgan Chase (JPM) และ US Bank (USB) ใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ จาก สำนักหักบัญชีหรือ The Clearing House ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือระหว่างธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1853
คนอเมริกันสามารถโอนเงินให้กันได้ทันทีผ่านแอปฯ ของธนาคาร อย่าง Bank of America มี Bank of America Pay, JPMorgan Chase มี Chase QuickPay หรือไม่ก็ใช้แอปฯ ที่มีบริการให้ผู้ใช้โอนเงินระหว่างกันได้ อย่างเช่น
Zelle เป็นแอปชำระเงินแบบรายย่อยไปยังรายย่อย (Peer to Peer) ยอดนิยมที่ทำให้ผู้ใช้โอนเงินและรับเงินทันทีจากบัญชีธนาคารหนึ่งไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น ที่ Zelle ได้รับความนิยมเป็นเพราะว่า แอปฯ นี้ได้ไปผูกกับธนาคารเจ้าใหญ่ ๆ ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ใช้
Venmo เป็นอีกหนึ่งแอปการชำระเงินแบบเพียร์ทูเพียร์ยอดนิยมที่ให้คุณส่งและรับเงินทันทีจากบัญชีธนาคารของคุณไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น Venmo มีให้บริการที่ธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
PayPal เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่มีชื่อเสียงซึ่งช่วยให้คุณสามารถส่งและรับเงินจากยอดคงเหลือใน PayPal ของคุณไปยังยอดคงเหลือใน PayPal ของบุคคลอื่นได้ทันที Paypal มีให้บริการที่ธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
Cash App เป็นแอปการชำระเงินแบบเพียร์ทูเพียร์ที่ให้คุณส่งและรับเงินทันทีจากบัญชีธนาคารของคุณไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น Cash App ยังให้คุณซื้อและขาย Bitcoin
โดยในบางแอปฯ ก็ให้บริการโอนเงินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร แต่ส่วนใหญ่ผู้ให้การเหล่านี้จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการโอนอยู่แล้ว
จะเห็นว่าไม่เหมือนที่ไทยที่ตอนนี้แทบจะ 100% ที่ไม่ว่าเราจะใช้ธนาคารไหน แอปฯ อะไรเราสามารถโอนเงินแบบเงินเข้าอีกบัญชีทันทีถึงแม้จะโอนแค่ 1 บาท ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ที่อเมริกาบริการโอนเงินแบบเข้าบัญชีทันทีไม่ได้ขยายไปถึงสถาบันการเงินทุกแห่ง
Lael Brainard ผู้ว่าการคณะกรรมการธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ Fed Board กล่าวในแถลงการณ์ว่า “FedNow จะอนุญาตให้ธนาคารทุกแห่งในทุกชุมชนทั่วสหรัฐฯ สามารถชำระเงินแบบเรียลไทม์ให้กับลูกค้าของพวกเขา”
ผู้นำธุรกิจต่างออกมายกย่องการประกาศของ Fed ผู้ค้าปลีก ธนาคารชุมชน บริษัทเทคโนโลยี และผู้บริโภคร้องขอบริการดังกล่าว สมาคมผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกกล่าวในแถลงการณ์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าระบบปัจจุบันสามารถบังคับให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น และกำหนดค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นสำหรับการโอนเงินหรือการชำระบิลกับผู้บริโภค
และแม้ว่าระบบของ Fed อาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญกับบริการที่พัฒนาโดยธนาคารขนาดใหญ่ได้ แต่สมาคมธนาคารอเมริกาก็ได้ออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
Rob Nichols ซีอีโอของ American Bankers Association กล่าวในแถลงการณ์ว่า
“เราเชื่อว่าธนาคารทุกแห่งในสหรัฐฯ และลูกค้าของพวกธนาคารเหล่านั้นจะได้ประโยชน์จากระบบที่ไร้รอยต่อและสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ (หมายถึง FedNow)” “เราหวังว่าการตัดสินใจในวันนี้โดย Fed ในการสร้างเครือข่ายการชำระเงินแบบเรียลไทม์จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ในเร็ววัน”
Nichols ยังบอกอีกว่า ในระหว่างนี้สมาคมธนาคารจะยังคงสนับสนุนให้ธนาคารอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ The Clearing House เข้าร่วมเครือข่ายการชำระเงินแบบเรียลไทม์ของสำนักหักบัญชี (The Clearing House’s real-time payment network) นอกจากนี้ เขายังขอให้ Fed ตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบใหม่นี้จะสามารถทำงานร่วมกันกับระบบที่มีอยู่ของธนาคารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ
เมื่อโอนเงินได้เร็วใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี
ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ปี 2023 เกิดเหตุการณ์ที่ Silicon Valley Bank เกิดวิกฤตศรัทธาทำให้ลูกค้าไม่มั่นใจในสถานะของธนาคาร จนบรรดาลูกค้าของธนาคารต่างแสดงความประสงค์ที่จะถอนเงินออกจากธนาคาร เป็นจำนวนกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ไปยังธนาคารอื่น ภายในระยะเวลาเพียง 1 วัน สิ่งนี้กระทบต่อสถานะความเป็นอยู่ของธนาคารอย่างแน่นอน
หากระบบการเงินของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปใช้ระบบที่การทำธุรกรรมแบบเกิดขึ้นทันที (Real-Time Transaction) แล้วจริง ๆ หน่วยงานกำกับดูแลจะมีเวลาน้อยลงมากในการดูว่าเกิดอะไรขึ้นและดำเนินการเข้าแทรกแซงแบบจำเป็นต้องทำเพื่อสกัดกั้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตคงมีเหตุการณ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นที่จะต้องเข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน ดังนั้นข้อโต้แย้งของเราคือการควบคุมความเร็ว การคิดให้มากควรพิจารณาถึงขีดจำกัดของขนาดธุรกรรม
ยกตัวอย่างเช่น หาก 10% ของสินทรัพย์และเงินฝากที่อยู่ในธนาคารใดธนาคารหนึ่งถูกถอนออกไปในวันเดียว มันจะสร้างวิกฤตให้กับธนาคารนั้นทันที ดังนั้น สิ่งที่ Fed ต้องคิดเลยก็คือผลกระทบทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการเปิดตัว FedNow และหาทางป้องกันมันเสียตั้งแต่แรกก่อนที่มันจะเกิดคงจะเป็นวิธีการอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีแบบสันติและทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องในวงการการเงินของสหรัฐฯ ได้
อ้างอิง
https://www.federalreserve.gov/newsevents/pressreleases/other20190805a.htm
https://edition.cnn.com/2019/08/05/investing/fed-real-time-payments/index.html
https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/07/09/does-america-need-more-unemployment
https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/07/09/does-america-need-more-unemployment
https://edition.cnn.com/2023/07/10/investing/premarket-stocks-trading/index.html
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ