Self First Employee พนง. พันธุ์ใหม่อวดสกิลเหนือสังกัดเก่า ให้บริษัทใหม่คว้าตัวไป

ตราบใดที่โลกยังหมุนไป ความเปลี่ยนแปลงก็มีให้เห็นเรื่อยๆ และสิ่งใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทนสิ่งเก่า โดยสำหรับโลกการทำงานช่วงไม่กี่ปีมานี้มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่พอสมควร

เช่น ผังอาคารสำนักงานที่เปลี่ยนให้รับกับรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Work Disruption) ระหว่างทำงานอยู่บ้านและกลับเข้าบริษัทเป็นครั้งคราว

และเป็นยุคที่มีต่างรุ่นไล่ตั้งแต่ Babyboom ที่ใกล้เกษียณ ไปจนถึง Gen Y และ Gen Z คนรุ่นลูกหลานที่เพิ่งเริ่มทำงาน อยู่ในออฟฟิศเดียวกัน

รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่าง AI ที่ทำให้คนวัยทำงานทุกรุ่นในปัจจุบันต่างต้องปรับตัวจนเกิดเป็นความเครียดความกังวลอีก 

ล่าสุด ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้น และฝ่ายที่สัมผัสได้มากสุดคือทรัพยากรบุคคล (HR) โดยพนักงานและคนหางานรุ่นใหม่ ๆ เปลี่ยนตำแหน่งของทักษะเด่น และความรู้ความสามารถให้อยู่บนสุดหรือเห็นได้ชัดเจนสุดในประวัติย่อเพื่อการสมัครงาน (Resume) แทนที่จากเดิมมักเป็นตำแหน่งของบริษัทที่ผ่านงานมา

ในอดีตที่ผ่านมาตำแหน่งบนสุดหรือเด่นสุดของ Resume มักเป็นของบริษัทที่เคยผ่านงานมา ซึ่งผู้สมัครที่มีประสบการณ์สูง ๆ บางคนอาจมีชื่อของบริษัทใหญ่ ๆ หรือดัง ๆ ที่เคยทำงานด้วยมาแล้วอยู่ด้วย เพื่อให้ HR ที่คัดใบสมัครแน่ใจว่าเป็นพนักงานที่มองหาอยู่

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดพนักงานและคนทำงานรุ่นใหม่ที่วางตัวเองเป็นตัวตั้งของแทบทุกเรื่อง (Self First Employee) เพราะมองความก้าวหน้าของหน้าที่การงานและโอกาสที่จะพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยมองข้ามชื่อเสียงหรือความเก่าแก่ของบริษัทไป

เทรนด์Self First Employeeเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกการทำงานปรับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับทักษะ (Skills-based economy) มากยิ่งขึ้น

นอกจากความเปลี่ยนแปลงใน Resume แล้วอีกอย่างที่เปลี่ยนไปคือ พนักงานรุ่นใหม่ ๆ ในใจกลางย่านธุรกิจ-การเงิน

เช่น Canary Wharf ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และเขตแมนฮัตตันในเมืองนิวยอร์กของสหรัฐฯ ก็เริ่มไม่ใส่เสื้อกั๊กเครื่องแบบเมื่อออกมานอกบริษัทกันแล้ว

จุดแข็งของSelf First Employeeคือพร้อมเริ่มงานได้ทันที เก่งในสายงานตัวเอง มั่นใจและกล้าคิดกล้าทำ ขณะเดียวกันก็ยินดีเปิดรับความรู้ใหม่และปรับตัวได้อยู่เสมอ

แต่ทว่าก็มีข้อเสีย เพราะพวกเขาไม่ยึดติดกับองค์กร แม้เป็นบริษัทใหญ่ชื่อดัง บริษัทหรือหัวหน้าอาจควบคุมพวกเขาได้ยากสักหน่อย

และต่างก็พร้อมเปลี่ยนงานทันที หากพบว่านโยบายบริษัทขัดต่ออุดมคติหรือแนวคิดที่ตนเชื่อ รวมไปถึงทำให้สมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) เสียไป  

ฝ่ายบริษัทที่อยู่มานานและปรับตัวไม่ทัน อาจช็อกกับพนักงานสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ที่แทบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล จนดูเป็นคนเห็นแก่ตัว

แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องเข้าใจSelf First Employeeด้วย เพราะทำงานอยู่ในยุคที่วิกฤตมากมายประดังเข้ามา เรียนอยู่ในช่วงโลกติดล็อกดาวน์จึงไม่ได้พัฒนาทักษะการเข้าสังคมอย่างเต็มที่เหมือนในภาวะปกติ และต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งกว่า AI อีก

เทรนด์ Self First Employee ยังทำให้ความสัมพันธ์ของพนักงานแต่ละบริษัทเป็นแบบลูกเรือ (Fleeting relationship) เน้นงานต่องานและแทบพร้อมสละเรือทันที หากเกิดปัญหาหรือหลังงานเสร็จ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากเทรนด์Self First Employeeคือ การแย่งตัวคนมีฝีมือและยังเก่งรอบด้านดุเดือดยิ่งขึ้น แต่กลับรั้งตัวพวกเขาไว้ได้ยากกว่าเดิม

เพราะแต่ละคนก็ดูจะไม่เหนื่อยกับการเป็น Job Hopper ที่เปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ทำให้ได้พัฒนาทักษะ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถอยู่เสมอ และเงินมากกว่า/ bbc

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online