พัฒนาการสำคัญของจีนช่วงกว่า 10 ปีที่มาผ่าน หลัง Xi Jinping (สี จิ้นผิง) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคือ เศรษฐกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและแวดวงออนไลน์เป็นหัวหอกของการเติบโตดังกล่าว

ตีวงให้แคบลงมาที่เฉพาะแวดวงออนไลน์จีน ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย โดยในจำนวนนี้อาชีพที่ทำเงินได้มากสุดคือ พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ไลฟ์ขายของบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งเป็นสนใจของชาวจีนรุ่นใหม่ถึงขนาดที่ผลสำรวจเมื่อปี 2022 ชี้ว่า คือหนึ่งในอาชีพที่บัณฑิตจบใหม่อยากทำมากสุด

Li Jiaqi (หลี่ เจียฉี)

ท่ามกลางพ่อค้าออนไลน์ที่มากมายนับไม่ถ้วนของจีน Li Jiaqi (หลี่ เจียฉี) ที่ทำเงินได้มาก 10 -20 ล้านดอลลาร์ (ราว 357-714 ล้านบาท) ต่อเดือน คือเบอร์ต้น ๆ จากการไลฟ์ขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะลิปสติก จนได้ฉายาว่า “ราชาลิปสติกจีน” ถือเป็นคนดังในโลกออนไลน์จีน และแน่นอนว่าเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ด้วย  

ล่าสุด Li Jiaqi ถูกจับตามองอีกครั้ง หลังตอบโต้ผู้ชมและลูกค้าระหว่างไลฟ์เรื่องลิปสติกแพงเกินไป แต่ลืมไปว่านี่เป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะปีนี้ (2023) เศรษฐกิจจีนกำลังทรุด

Li Jiaqi เกิดเมื่อปี 1992 ในเมืองจือหยาง ทางภาคใต้ของจีน โดยหลังออกจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ยังคว้าปริญญามาไม่ได้ เขาก็ไปทำงานเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางของ L’Oreal ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งต่อมาจะเป็นฐานให้เขาต่อยอดจนกลายเป็นเศรษฐีในโลกออนไลน์จีน

ปี 2017 Li Jiaqi เข้าสู่โลกออนไลน์ ไลฟ์ขายเครื่องสำอางโดยเน้นไปที่ลิปสติก โดยจากการเป็นผู้ชายแต่ขายลิปสติก ความรู้เรื่องเครื่องสำอางเชิงลึกจากการเป็นพนักงานขาย มีหน้าตาที่หล่อเหลาเป็นใบเบิกทาง ใช้คำเข้าใจง่ายแต่ติดหูเพื่ออธิบายเครื่องสำอาง และคำหวาน ๆ รื่นหูที่ผู้หญิงชอบส่งให้ลิปสติกขายดี

เพียงปีแรกในการเป็นพ่อค้าออนไลน์ Li Jiaqi ก็ทำเงินได้ถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 53 ล้านบาท) ต่อมาในปี 2019 ตัวเลขในบัญชีของเขาก็เพิ่มขึ้นจนติดลิสต์เศรษฐีจีน

ขาขึ้นของ Li Jiaqi  ไม่หยุดแค่นั้น โดยต่อมาในปี 2021 เขาสามารถทำยอดไลฟ์ขายของแบบมาราธอน 12 ชั่วโมงในแพลตฟอร์ม Taobao เครือ Alibaba ได้ถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 60,700 ล้านบาท)

ระหว่างไลฟ์ครั้งนั้น Li Jiaqi ได้แข่งกับ Jack Ma ผู้บริหาร Alibaba ขายลิปสติก ปรากฏว่า Li Jiaqi ชนะขาด ขายได้มากถึง 15,000 แท่งในเวลาเพียง 5 นาที จนได้ฉายาว่า “ราชาลิปสติกจีน”

ทว่าปี 2022 ความดังของ Li Jiaqi ก็สะดุดจากเรื่องต้องห้ามในจีน โดยเขานำเค้กรูปทรงคล้ายรถถังมาโชว์ระหว่างไลฟ์ขายของ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับวันครบรอบ 33 ปีเหตุล้อมปราบที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งภาพชายยืนขวางรถถัง (Tank man) เป็นข่าวดังทั่วโลก แต่เป็นภาพต้องห้ามในจีน

ไม่ว่าเป็นเรื่องบังเอิญโดยที่ Li Jiaqi  ซึ่งเกิดไม่ทันเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินมองข้ามไป จังหวะภาพที่ถูกตีความกันไป ความเข้มงวดในการควบคุมสื่อออนไลน์ของรัฐบาลจีนยุคจัดระเบียบ

หรือรัฐบาลสบช่องจัดการคนดังอยู่พอดี แต่ Li Jiaqi ก็ถูกรัฐบาลจีนสั่งแบน หายจากสื่อออนไลน์และเก็บตัวเงียบ

ท่ามกลางดราม่าดังกล่าวมีการคาดกันว่า หาก Li Jiaqi ไม่กลับมาไลฟ์ขายของจะส่งผลต่อยอดขายเครื่องสำอางอยู่พอสมควร เพราะเป็นการหายตัวไปของพ่อค้าออนไลน์คนดังใน Taobao ที่มียอด Follower มากถึง 35 ล้านคน

Li Jiaqi กลับมาไลฟ์หลังเงียบหายไป 3 เดือน และทุกอย่างก็ดูจะกลับมาเป็นปกติ แต่แล้วก็เกิดเรื่องขึ้นอีก โดยเมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้ชมเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าราคาลิปสติกแท่งละ 79 หยวน (ราว 390 บาท) นั้นแพงเกินไปหรือไม่ ในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจจีน

Li Jiaqi เถียงว่า ไม่ได้แพงเกินไป เพราะราคาก็ขึ้นมาตามค่าครองชีพกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และคนที่บ่นคงไม่ได้ทำงานหนักมากพอเพื่อให้ได้เงินเดือนเพิ่ม จนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยและซื้อลิปสติก

แม้ Li Jiaqi ออกมาขอโทษกลางไลฟ์ทั้งน้ำตาหลังรู้ว่าหลุดปากพูดเรื่องอ่อนไหวออกไป แต่ก็ไม่ทันแล้ว เพราะเขาถูกวิจารณ์อย่างหนัก จนยอดผู้ติดตามใน Weibo หายไปหลักล้าน

ซ้ำร้ายชาวเน็ตจีนก็พากันวิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างเผ็ดร้อน และระบายความคับแค้นใจจากวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้  

ข้อมูลที่ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังซบเซามีมากมาย ทั้งดัชนีผู้บริโภคที่ต่ำกว่าคาด การลดลงของดัชนีผู้ผลิต ตัวเลขส่งออกร่วง ตัวเลขคนว่างงานในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดจนรัฐบาลระงับการแถลงตัวเลขไปก่อนแบบไม่มีกำหนด

และเทรนด์การไปซื้อทัวร์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนรุ่นใหม่ หรือ วัยรุ่นจุดธูป เพื่อให้ได้งานดี ๆ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ปธน. สี จิ้นผิง 

กลับมาที่ Li Jiaqi จากนี้คงต้องทำอะไรรอบคอบมากขึ้น และเขาคงตระหนักแล้วว่า รายได้ก้อนโตที่เคยทำได้จะวูบลงไปได้ทุกเมื่อ หากทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจหรือพูดเรื่องทำร้ายจิตใจชาวเน็ตจีน

และเหตุ “ทัวร์ลง” ครั้งล่าสุดคือบทเรียนแสนแพงที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำอีก/cnn, scmp, wikipedia, jingdaily



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online