เกือบ 5 ปีเต็ม นับจาก 10 พฤศจิกายน 2561 วันแรกของการเปิดตัว SIAM Takashimaya ในประเทศไทย บนจุดขายห้างพรีเมียมจากญี่ปุ่น ที่จับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Niche Market ด้วยสินค้าที่เน้นแบรนด์ญี่ปุ่นเป็นหลัก
วันแรกของการเปิดตัว SIAM Takashimaya เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ในปีแรกไว้ที่ 13,000 ล้านเยน หรือประมาณ 3,800 ล้านบาท
และสามารถถึงจุดคุ้มทุนและทำกำไรได้ในปีที่สอง
จากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 30 ล้านคนต่อปี
คาดการณ์ว่าสิ่งที่ทำให้ SIAM Takashimaya คาดหวังเช่นนั้นมาจากการมองจุดแข็งของตัวเองของแบรนด์ Takashimaya ในฐานะห้างพรีเมียมจากญี่ปุ่น ที่มีอายุยืนยาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2374 ที่มีสาขามากถึง 19 สาขาในญี่ปุ่น สามารถเสิร์ฟแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นที่ห้างอื่น ๆ ไม่มีให้กับลูกค้าในไทยได้
และในปีเปิดตัว SIAM Takashimaya ในประเทศไทย Takashimaya มีสาขาที่ต่างประเทศทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม และจีน ก่อนที่จะปิดสาขาในจีนปี 2562 เหลือเพียงสาขาต่างประเทศในสิงคโปร์ และเวียดนามในปัจจุบัน
ประกอบกับ SIAM Takashimaya มีพื้นที่เชื่อมต่อกับไอคอนสยาม ที่สามารถดึงแทรฟฟิกลูกค้าไอคอนสยามเข้ามาจับจ่ายได้อีกทางหนึ่ง
และยังมีพลังของบริษัท สยาม ริเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ถือหุ้น SIAM Takashimaya ในสัดส่วน 49%
ซึ่งสยาม ริเวอร์ โฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท สยามพิวรรธน์ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่จะเข้ามาเป็นพลังสร้างการเติบโตได้
วันเวลาผ่านไปจากเป้าหมายที่ SIAM Takashimaya วางไว้ขวบปีแรก กลับไปไม่ถึงฝัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า
ปี 2561 มีรายได้รวม 89.39 ล้านบาท ขาดทุน 168.51 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 448.66 ล้านบาท ขาดทุน 254.61 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 326.87 ล้านบาท ขาดทุน 294.05 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19
ปี 2564 รายได้รวม 375.57 ล้านบาท ขาดทุน 290.91 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 589.37 ล้านบาท ขาดทุน 147.44 ล้านบาท รายได้กลับมาจากไทยเปิดประเทศและผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านหลังโพสต์โควิด-19
คาดการณ์ SIAM Takashimaya ไปไม่ถึงเป้าหมาย มาจากความเป็นห้างที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Niche Market ด้วยแบรนด์ญี่ปุ่นหลากหลายแบรนด์ที่คนไทยไม่คุ้นเคย ประกอบกับแบรนด์เหล่านี้บางแบรนด์มีราคาค่อนข้างสูงที่อาจจะทำให้คนไทยเข้าถึงยาก
แม้จะมีการทำกิจกรรมและแคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องก็ตาม
ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร หลายร้านยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าไทยและเทศ จากสินค้าและอาหารที่เน้นความเป็นญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขการขาดทุนที่น้อยลง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยหลังเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดหวังว่า SIAM Takashimaya จะสามารถทำกำไรได้ในไม่ช้าอย่างแน่นอน
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ