ช่วงไม่กี่ปีมานี้บทบาทบนเวทีโลกด้านต่าง ๆ ของประเทศเอเชียน่าจับตามองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีนจนผงาดขึ้นเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลก

ศักยภาพมากมายของอินเดียที่ไปไกลถึงเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่ส่งยานอวกาศลงไปสำรวจดวงจันทร์  

และเวียดนามก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก จนปีนี้ Vinfast ค่ายรถ EV น้องใหม่ข้ามไปทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยที่มูลค่าบริษัทแซง Ford ค่ายรถเก่าแก่ของสหรัฐฯ

อีกประเทศที่กำลังถูกจับตามองเช่นกันคือ ซาอุดีอาระเบีย เพราะซาอุฯ ยุคใหม่นำเงินมหาศาลจากอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงานกระจายลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น ยานยนต์กับการซื้อหุ้นรถคลาสสิก Aston Martin และ Lucid รถ EV คู่แข่ง Tesla

Gaming กับการซื้อหุ้น Nintendo และบันเทิงกับการซื้อหุ้นค่ายหนัง MGM  

แต่ในบรรดาการลงทุนของรัฐบาลซาอุฯ นอกอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน ที่ทำผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ PIF ตามแผน Vision 2030 ที่โดดเด่นสุดและเป็นข่าวดังเสมอตลอดช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือการลงทุนในวงการฟุตบอล เช่น การซื้อสโมสรที่คอบอลรู้จักอย่าง New Castle United

และในซีซั่นใหม่ สโมสรลีกสูงสุดในประเทศหรือ Saudi Pro League – SPL ก็เข้ามาร่วมแย่งตัวนักเตะจากสโมสรลีกใหญ่ในยุโรปด้วย และมากถึงขั้นติดอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว

ซีซั่น 2023-24 สโมสรใน SPL ทุ่มเงินซื้อนักเตะไปรวม 1,020 ล้านดอลลาร์ (ราว 36,900 ล้านบาท) ได้นักเตะมา 287 คน โดยสโมสรที่เทงบซื้อนักเตะมากสุดคือ Al-Hilal ซึ่งใช้เงินไป 376 ล้านดอลลาร์ (ราว 13,600 ล้านบาท) โดยมี Neymar เป็นดีลสูงสุดของตลาดรอบนี้จากสโมสรใน SPL

นี่ทำให้ SPL เป็นลีกที่ทุ่มเงินซื้อนักเตะมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในตลาดซื้อขายนักเตะรอบนี้ รองแค่เพียง Premier League อังกฤษ เจ้าของเม็ดเงินซื้อนักเตะ 2,983 ล้านดอลลาร์ (ราว 108,000 ล้านบาท)

และแซงหน้า 3 ลีกใหญ่ของยุโรป อย่าง Ligue 1 ฝรั่งเศส Seria A อิตาลี BundesLiga และ LaLiga สเปน  

ความเคลื่อนไหวสะเทือนวงการฟุตบอลโลกของ SPL ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะมี 4 สโมสรที่ติดอันดับทุ่มเงินซื้อนักเตะมากสุด 20 อันดับแรก เริ่มจาก Al-Hilal ที่คว้าอันดับ 2 รองจาก Chelsea จาก Premier League อังกฤษ

ต่อด้วย Al-Ahli ในอันดับ 8 Al-Nassr ในอันดับ 10 และ AL-Ittihad ทิ้งท้ายด้วยในอันดับ 18

การเขย่าตลาดซื้อขายนักเตะของสโมสรจาก SPL ครั้งนี้ ยังเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวงการกีฬาและการลงทุนเพื่อสานต่อแผนลดการพึ่งพาน้ำมันด้วยแบบที่เราคาดไม่ถึง เพราะ 4 สโมสรที่ติดทอป 20 ในการทุ่มเงิน ล้วนมี PIF เป็นเจ้าของ ดังนั้น ฟุตบอลจึงเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ทางสังคมซาอุฯ ไปด้วย

ซาอุฯ มีประชากรอยู่ราว 32 ล้านคน โดย 51% ของประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือกลุ่ม Gen Z ดังนั้น  รัฐบาลจึงต้องหาทางควบคุมประชากร Gen Z เหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ผ่านกิจกรรมกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลนั่นเอง

ไม่ว่าคอบอลและคนรุ่นใหม่ของซาอุฯ อยากได้นักเตะดัง ๆ คนไหน ก็จะมีข่าวว่าสโมสรจาก SPL เข้าไปร่วมแย่งซื้อนักเตะ และเมื่อปิดตลาด นักเตะในรายชื่อเหล่านั้นจำนวนหนึ่งก็ย้ายมาเล่นใน SPL ยืนยันได้จากการย้ายจาก Manchester United มา Al-Nassr ของ Cristiano Ronaldo

Karim Benzema ที่ย้ายจาก Real Madrid มา Al-Ittihad และ Neymar ที่ย้ายจาก PSG มา  Al-Hilal รวมถึง Lionel Messi อดีตเพื่อนร่วมสโมสรของ Neymar ที่ตกเป็นข่าวจะย้ายมา SPL ก่อนไปลงเอยกับ Inter Miami สโมสรใน MLS ลีกสหรัฐฯ

การที่ชาวซาอุฯ รุ่นใหม่ได้เกือบทุกอย่างที่อยากได้นี้ ทำให้แนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงและเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายจนถึงขั้นสะเทือนรัฐบาล ซึ่งในกรณีของซาอุฯ คือราชวงศ์ภายใต้การนำของมกุฎราชกุมาร Mohammed Bin Salman ลดลงไป

มกุฎราชกุมาร Mohammed Bin Salman

นี่จึงสามารถปิดทางไม่ให้เหตุการณ์ประท้วงที่อาจบานปลายเป็นการโค่นผู้นำประเทศที่เรียกกันว่า Arab Spring นับจากปี 2011 จนผู้นำของ ลิเบีย เยเมน อิยิปต์ และตูนิเซีย พ้นจากอำนาจ ไม่เกิดขึ้นกับซาอุฯ  

แม้แนวทางดังกล่าวส่งผลดีต่อวงการฟุตบอลซาอุฯ จนทีมชาติชนะอาร์เจนตินาแบบช็อกโลกในฟุตบอลโลกปี 2022 หลังเป็นทีมชั้นนำของเอเชียอยู่แล้ว และจากนี้น่าจะมีนักเตะดัง ๆ ย้ายไปเล่นในลีก SPL ของซาอุฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ Sportwashing ที่ใช้กีฬากลบข่าวเสียหายต่าง ๆ ของรัฐบาลซาอุฯ ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นสิทธิ-เสรีภาพสตรี และการอยู่เบื้องหลังเหตุสังหาร Jamal Khashoggi นักข่าวชาวตุรกีเมื่อปี 2018/cnn, wikipedia, transfermarkt



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online