แฟชั่นเวียดนาม ทำไมกำลังเป็นไวรัล วิ่งไล่ตามเทรนด์เกาหลีใต้

ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงประเทศที่เป็น Trend Setter แฟชั่น จูงใจกลุ่มคนให้ต้องวิ่งตามกระเเสใหม่  หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องยกให้ เกาหลีใต้  เพราะทั้งเทรนด์เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า หมวก แว่นตา เครื่องประดับศีรษะมากมาย ต่างก็บูมมาจากฝั่งเกาหลีแล้วค่อย ๆ ขยายอิทธิพลออกมาสู่ประเทศอื่น และทุกเทรนด์ทุกกระเเสที่เกิดขึ้น หลายคนไม่เคยพลาดเเม้เเต่ครั้งเดียว เรียกได้ว่าเป็นประเทศทรงอิทธิพลที่กำหนดเทรนด์เเฟชั่นอย่างเเท้จริง  

แต่เวลาเดียวก็มีแบรนด์แฟชั่นจากประเทศหนึ่งที่กำลังไล่ตามขึ้นมาเงียบๆ

ใครจะรู้ว่ากระเเสเสื้อผ้าที่ประดับด้วยดอกไม้ แพทเทิร์นพลิ้วไหว ที่ให้กลิ่นอายนึกถึงสไตล์ Y2K สะท้อนความเป็นหญิงสาวอย่างเด่นชัด เป็นเเบรนด์เเฟชั่นจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ซึ่งก็คือเวียดนามนั่นเอง 

จากเกาหลีใต้ สู่ เวียดนาม

เมื่อคนดังโหมกระเเสการเเต่งกายด้วยชุดของแบรนด์เวียดนาม และดีไซน์ชุดเองก็ดูดีจนถูกพูดถึงไปในวงกว้าง ส่งผลให้คนตามค้นหาและแห่ซื้อมาใส่ตาม จนกลายเป็นกระเเสฮิต ที่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็จะเห็นคนใส่เสื้อผ้าแนวเดียวกัน มีดอกไม้ประดับบนเสื้อผ้า  ดีไซน์พลิ้วไหว ปล่อยชายเสื้อ หลายคนไม่อยากตกเทรนด์ก็ต้องยอมจ่าย สั่งพรีออเดอร์มาจากเวียดนาม

บางคนลงทุนบินไปซื้อแล้วขนกลับมาไทยเอง ดังจะเห็นคอนเทนต์ของดารา อินฟลูฯ ไทย ที่ต่างก็ทำคลิปช้อปปิ้งเสื้อผ้าเวียดนามหมดเป็นล้านดอง

ที่ผ่านมา ก็มีร้าน Blulago ที่นำเข้าเสื้อผ้าเเบรนด์เวียดนามมาจำหน่ายกลางสยามสเเควร์ สร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้าชาวไทย ทั้งสไตล์เสื้อผ้าที่สวยงาม ใครสวมใส่ก็สามารถส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีได้หมด เพราะเป็นเเบรนด์เอเชียที่เข้าใจสรีระคนเอเชียด้วยกันเอง อีกทั้งราคาก็เข้าถึงได้ หลักพัน 700-2,500 เท่านั้น

ซอฟต์พาวเวอร์ลูกใหม่ของเวียดนาม

นอกจากการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ไม่นานมานี้แฟชั่นกำลังกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ลูกใหม่ของเวียดนาม เสื้อผ้าสตรีทสไตล์ และ Y2K ที่มีจุดโดดเด่น คือ มีความ Feminine สูง ถูกศิลปินดาราดังระดับโลกหยิบไปสวมใส่ และจุดประกายกระเเสไปในวงกว้าง

และในเวียดนามเองมีนักออกแบบเวียดนามเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง วงการแฟชั่นของประเทศนี้ก็เติบโตขึ้นด้วย และกลายเป็นประเทศที่น่าจับตามองด้านวงการดีไซเนอร์

ปี 2023 รายได้ตลาดแฟชั่นเวียดนามคาดว่าจะสูงถึง 1.88 พันล้านดอลลาร์ และอัตราการเติบโตต่อปี (2023-2027) ที่ 11.25% และจะสูงถึง 2.88 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2570

ปัจจัยการเติบโตของตลาด เเฟชั่นเวียดนาม

การเติบโตของตลาดแฟชั่นเวียดนามมาจากการเพิ่มขึ้นของ TikTok, แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, แอปพลิเคชันฟินเทค, การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์, เทคนิคการโฆษณา เป็นต้น แต่ส่วนสำคัญหลักมาจากการที่เวียดนามมีกลุ่มประชากรคนรุ่นใหม่ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศ  (ในจำนวนประชากรทั้งหมด 40% ของประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองหลวง และในจำนวนนั้น 45% ของประชากรมีอายุระหว่าง 25-54 ปี Gen X และ Millennials  ขณะเดียวกัน มี Gen Z-ers มากกว่า 29 ล้านคนในเวียดนาม ซึ่งคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่คือลูกค้าหลักของวงการแฟชั่น

อีกปัจจัยการเติบโตของแบรนด์เวียดนาม ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคชาวเวียดนามมักจะสนับสนุนแบรนด์และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นก่อนแบรนด์นอกประเทศ ดังจะเห็นว่าแม้แต่ Starbucks หรือ McDonalds ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเวียดนาม เป็นพฤติกรรมที่ดีที่ส่งผลต่อการผลักดันแบรนด์ในประเทศให้เติบโตอย่างเเข็งแกร่ง

พอได้รับกระเเสความนิยมในประเทศ ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะขยายอิทธิพลนั้นออกสู่ต่างประเทศ ประกอบกับเวียดนามมีเหล่าครีเอเตอร์จำนวนไม่น้อยที่สร้างคอนเทนต์บน TikTok ได้เก่ง เเละหลายครั้งที่เกิดเป็นกระเเสไวรัล ตัวอย่าง เพลง “Phai Dấu Cuộc Tình” ที่สาวเวียดนามจะออกมาเต้นท่าทางน่ารัก ก็กลายเป็นเพลงชาติประจำ TikTok ที่ผู้ใช้งานทั่วโลกต้องเต้นหรือทำชาเลนจ์ตาม  

สปอตไลท์ทุกดวงจึงพร้อมใจกันส่องมาที่เวียดนาม เมื่อได้รับการจับตามองจากไวรัล คอนเทนต์อื่น ๆ ของเวียดนามก็ได้รับอิทธิพลความนิยมตามไปโดยปริยาย โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การแต่งตัวที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับเอเชียให้ออกมาได้อย่างลงตัว  สร้างเสน่ห์ที่ต่างไป จนหลายคนอยากแต่งตาม

แต่สำหรับการเติบโตของธุรกิจเเฟชั่นในเวียดนามเอง แบรนด์มักจะใช้การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์  เพราะชาวเวียดนามมองว่าการมีครีเอเตอร์เป็นไกด์ไลน์ช่วยให้การแต่งกายเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม เเละผู้บริโภคชาวเวียดนามเพียง 30% เชื่อโฆษณา แต่ 90% เชื่อคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ ส่งผลให้มีครีเอเตอร์สายแฟชั่นเพิ่มขึ้นมากมาย  

ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์คนดังชาวเวียดนาม :  คานห์ ลินห์ (@klinhnd), วี (@teddy2606), เฟืองแอง (@phi.phuonganh), เมียรี วิว โด ซินห์ (@thaochunchunn), ตรูอันห์ (@trthuanh1710)

ตัวอย่างแบรนด์ของเวียดนามที่กำลังฮิตไปทั่วโลก

ในกระเเสเสื้อผ้าเวียดนามที่กำลังโด่งดังอยู่ ณ ขณะนี้ อาจไม่ได้มีการเจาะจงว่าต้องแห่ไปซื้อแบรนด์ใดเป็นสำคัญ แต่ทุกคนจะซื้อสินค้าแบรนด์ที่มีดีไซน์ถูกใจมากกว่า เลือกที่เหมาะกับสรีระ บุคลิกภาพ รวมถึงไลฟ์สไตล์ เพราะเเต่ละเเบรนด์ไม่ได้มีสไตล์ที่ฉีกจากกันมากนัก ต่างจากแบรนด์ของฝั่งยุโรป

Fancì Club

แบรนด์ของ Duy Tran ดีไซเนอร์ดาวรุ่งชาวเวียดนาม ที่ศิลปินระดับทอป อาทิ Blackpink, Bella Hadid, Im Na-yeon Twice, Doja Cat และ Olivia Rodrigo หยิบไปสวมใส่ และสร้างการค้นหาจนโด่งดังไปทั่วโลก มีดีไซน์โดดเด่นที่ความพลิ้วไหว สดใส เพราะใช้ผ้าตาข่ายและไนลอน ให้ลุคที่ทรงพลังและร้อนแรง จัดจ้านเเต่แฝงความอ่อนหวาน เเบบสไตล์ Y2K ราคาตั้งแต่ 80-800 ดอลลาร์ 

L Seoul

เป็นอีกหนึ่งแบรนด์เวียดนามที่หญิงไทยนิยมพรีออเดอร์จากต่างประเทศ เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ ด้วยดีไซน์ผสมผสานสไตล์เอเชียและยุโรปอย่างกลมกลืน เข้าใจสรีระผู้หญิงเป็นอย่างดี ช่วยให้สาว ๆ หยิบไปสวมใส่แล้วเข้ารูป ส่งเสริมบุคลิกให้น่ามองได้

CLÉLIE

แต่ถ้ามองหาเสื้อผ้าสไตล์น่ารัก สดใส สมวัย มีดีไซน์ที่หลากหลาย ทันเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไป เหมาะกับสรีระหญิงเอเชีย กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือลูกค้าอายุ 20-35 ปี

Vintage.gout

น่าจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางใดก็เห็นเสื้อผ้าที่มีความระโยงระยาง พลิ้วไหว ซึ่งไปเตะตาสาวยุโรป จนคนดังหลายคนเลือกไปสวมใส่ในชีวิตประจำวัน

Wet Avocado

เเนวเซ็กซี่ปนน่ารัก นึกถึงสไตล์แบบตุ๊กตาบาร์บี้ 

Rechic

เพิ่งก่อตั้งมาเป็นเวลา 4 ปี  เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีจุดแข็งเป็นชุดเดรสสไตล์หรูหรา สง่างาม คุณภาพสูงต่างจากแบรนด์จีน เเต่ราคาสมเหตุสมผล ดีไซน์เน้นรูปร่าง ส่งเสริมสรีระทุกสัดส่วน เสริมบุคลิกคล่องแคล่วมั่นใจ

เป็นที่น่าสนใจว่า เทรนด์การเเต่งกายต่อไปของเวียดนาม จะสร้างกระเเสตามรอยเช่นนี้ได้อีกหรือไม่

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะจุดกระเเสเเฟชั่นขึ้นมา เเต่ต้องตระหนักว่า อุตสาหกรรมแฟชั่น รองจากน้ำมันแล้ว เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสอง โดยเฉลี่ยแล้วเราสวมใส่เสื้อผ้าเพียง 5 ครั้ง และเสื้อผ้ามูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์จะถูกนำไปฝังกลบทุกปี

อ้างอิง: wpcontent, VNExpress, VietnamBriefing, fashionrevolution, Q&Me, dreamincubator, CLÉLIE, scmp, rechic, wecreatecontent, statista

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online