ไทยสมายล์บัสขยายรอบวิ่งรถเมล์ไฟฟ้า 24 ชม. เป็น 4 เส้นทาง ขยาย Feeder รถ เรือ 3,100 คัน ภายในกลางปีหน้า รวมลงทุน 3 หมื่นล้านบาท อัปเดตเปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้าสีส้ม 10 บาท ตลอดสาย นำร่องต้นเดือน พ.ย. นี้ 10 เส้นทาง
อีกความเคลื่อนไหวของระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ หลังไทยสมายล์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า 100% สีน้ำเงินเข้ม ที่เข้ามาวิ่งบนท้องถนนกรุงเทพฯ ปริมณฑล ให้ผู้โดยสารได้เริ่มใช้บริการกันมาได้ประมาณปีกว่า (ต.ค. 2565-ปัจจุบัน)
จัดงานแถลงข่าวอัปเดตการดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมา และแผนงานเพิ่ม Feeder รถ เรือ ไฟฟ้า 100% หลังจากนี้
นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยสมายล์ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการไทยสมายล์บัส หรือ TBS (รถเมล์ไฟฟ้า 100%) และไทยสมายล์ โบ้ท (เรือไฟฟ้า 100%) ดำเนินธุรกิจมาได้แล้วประมาณ 2 ปีกว่า
ปัจจุบันมีให้บริการ 123 เส้นทาง กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประกอบกับการเพิ่มจำนวนรถเข้าให้บริการ จาก 800 คัน ช่วงต้นปี 2565 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คัน อัตราความถี่ทุก ๆ 15 นาที ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยมากกว่า 300,000 คนต่อวัน (รถ 80% เรือ 20%) สอดคล้องกับจำนวนรถและรอบที่ให้บริการมากขึ้น
และบริษัทได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง
วันนี้ (31 ต.ค. 2566) บริษัทเปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด (รถร้อน) หรือ “รถไฟฟ้า 100% สีส้ม” พัฒนามาจากโมเดลรถไฟฟ้ามีแอร์สีฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อนออกให้บริการประชาชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
นำร่องเดินรถต้นเดือน พ.ย. 2566 จำนวน 60 คัน อัตราค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย ตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก โดยจะให้บริการ 10 เส้นทาง คาดแทรฟฟิก 1,000 คนต่อวัน หลังจากนั้นจะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต
10 เส้นทาง ดังนี้
- สาย 4-26 (167 เดิม) เคหะธนบุรี-สถานีรถไฟฟ้าสวนลุมพินี จำนวน 5 คัน
- สาย 2-35 (110 เดิม) ประชานิเวศน์ 3-เทเวศร์ จำนวน 5 คัน
- สาย 1-13 (126 เดิม) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-คลองตัน จำนวน 6 คัน
- สาย 1-44 (113 เดิม) มีนบุรี-หัวลำโพง จำนวน 8 คัน
- สาย 1-45 (115 เดิม) สวนสยาม-บางรัก จำนวน 6 คัน
- สาย 1-15 (150 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-มีนบุรี จำนวน 6 คัน
- สาย 1-6 (52 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ จำนวน 5 คัน
- สาย 2-8 (51 เดิม) วัดปรางค์หลวง-บางเขน จำนวน 5 คัน
- สาย 4-51 (124 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-สนามหลวง จำนวน 6 คัน
- สาย 4-63 (547 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-ถนนตก จำนวน 8 คัน
ด้าน ไทยสมายล์ โบ้ท ปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ ส่งผลให้บริษัทมี Feeder เรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ
ให้บริการแล้ว 3 เส้นทางในแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนี้ City Line เส้นทางสาทร-พระปิ่นเกล้า และเส้นทางพระปิ่นเกล้า-สาทร, Metro Line เส้นทางพระราม 7-วัดวรจรรยาวาส และ Urban Line เส้นทางพระนั่งเกล้า-สาทร และเส้นทางสาทร-พระนั่งเกล้า
คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยว ได้อีกด้วย
แผนระยะยาว บริษัทมีแพลนขยายการให้บริการในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ด้วยการเพิ่มรถ เรือ เข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คัน (คิดเป็นเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท) ภายในกลางปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 500,000 คนต่อวัน
การชำระค่าโดยสาร รองรับการชำระด้วยรูปแบบเงินสด และบัตร HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัด ตลอดสาย ราคา 40 บาทต่อวัน (ไม่นับรวมเปลี่ยนสายไปไทย สมายล์ โบ้ท) ขยายช่องทางการจำหน่ายไปทั้ง Shopee, Line Official ไทย สมายล์ กรุ๊ป และบัสโฮสเตส (พนักงานเก็บค่าโดยสาร) เรียบร้อย
การปรับปรุงปัญหาที่ผู้โดยสารพบเจอ อาทิ รถเมล์ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ด้วยการลงทุนเปิดศูนย์ฝึกอบรม “กัปตันเมล์” (พนักงานขับรถ) รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วน “กัปตันเมล์” 60% ของพนักงานทั้งหมด ตั้งเป้านำรุ่นใหม่ ๆ ที่ผ่านศูนย์ฝึกอบรม เข้ามาในระบบต่อเนื่อง ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม
นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการแบบเรียลไทม์
แอปฯ TSB Go มีปัญหา Error บริษัทเตรียมเปิดเวอร์ชันอัปเดตเร็ว ๆ นี้ ที่จะปรับปรุงหน้าแสดงผลให้ดูง่ายขึ้น มีฟีเจอร์การค้นหา และตรวจสอบเส้นทางเดินทางที่ชัดเจน ใช้งานลื่นไหล คล้ายการใช้งาน Google Map
เน้นตอบโจทย์การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่า “ผู้บริโภคไม่กังวลเรื่องระยะเวลาเดินทางมากเท่าต้องเปลี่ยนสายรถเมล์บ่อย”
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ