แบตฯ อีวีขยายตัวต่อเนื่อง ครึ่งแรกปี 2023 ขายรวมขนาดความจุมากกว่า 300 GWh เติบโต 54% ซัปพลายเออร์เกาหลีใต้ จีน เจ้าตลาดทอป 6 เทรนด์ตลาดมุ่งพึ่งพาตนเอง หนุนโลคอลโปรดักต์ ตลาดไทยมูลค่าเพิ่มผลิตแบตฯ อีวี พุ่ง 4 หมื่นล้านบาท ทุก ๆ การผลิตยานยนต์อีวีแสนคัน
ยอดขายแบตฯ อีวี ทั่วโลก
เติบโต 54% คอมแพคอีวี ไดรเวอร์หลัก |
||
บริษัทผู้ผลิต | บริษัทแม่ | ส่วนแบ่งตลาด ม.ค. – มิ.ย. 2023 |
CATL | จีน | 34% |
BYD | จีน | 16% |
LG Energy Solution | เกาหลีใต้ | 14% |
Panasonic | ญี่ปุ่น | 8% |
SK Innovation | เกาหลีใต้ | 5% |
Samsung SDI | เกาหลีใต้ | 5% |
Others | 18% | |
ที่มา: Counterpoint Research, พฤศจิกายน 2023 |
Counterpoint Research บริษัทวิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมระดับโลก เผยรายงานยอดขายแบตเตอรี่อีวีสำหรับรถยนต์อีวีและปลั๊กอินไฮบริด ทั่วโลก เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2023 เติบโต 54% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ขายรวมขนาดความจุมากกว่า 300 GWh
ความจุแบตเตอรี่อีวีโดยเฉลี่ยรายหน่วย 50kWh จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกะทัดรัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน คาดว่าจะรักษาความจุของแบตเตอรี่โดยเฉลี่ยให้อยู่ในช่วง 65kWh ถึง 70kWh ภายในปี 2030 และคาดว่าความต้องการแบตฯ อีวี จะสูงถึง 4TWh ในปี 2030
ค่ายยานยนต์ที่มีส่วนแบ่งตลาดความจุแบตฯ อีวีมากสุด Tesla 21%, BYD 16%, Volkswagen 8% โดยจะพบว่า 3 ค่ายแรก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 45%
ภูมิภาคชั้นนำในแง่ของการติดตั้งแบตฯ อีวี ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป 6 อันดับแรกส่วนแบ่งยอดขายมากสุด เป็นซัปพลายเออร์ของเกาหลีใต้และจีน ถึง 3 และ 2 ค่ายตามลำดับ
ด้านความเคลื่อนไหวของอุตฯ แบตฯ อีวี เนื่องจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รับแรงผลักดันในส่วนต่าง ๆ ของโลก ประเทศต่าง ๆ จะพยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานแบตฯ ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมในอุตฯ ในท้องถิ่น ประสบความสำเร็จในขณะเดียวกันก็บังคับให้ผู้เล่นบางคนออกจากตลาด เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น
ตลาดประเทศไทยอุตฯ แบตฯ อีวี มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ตามการเข้ามาลงทุนของค่ายยานยนต์ข้ามชาติต่าง ๆ SCB EIC เผยรายงานว่า การผลิตยานยนต์อีวีทุก ๆ 1 แสนคัน จะทำให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท) โดยนับรวมทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก
ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานจากการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงฝีมือแรงงานที่ตอบโจทย์ ก็ได้สร้างแรงดึงดูดให้บรรดาผู้ผลิตรถอีวีจากค่ายต่าง ๆ สนใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทย
อีกทั้งเป็นอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะดีที่สุด (Better case) เมื่อไทยสามารถก้าวไปเป็น Regional EV hub โดยมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์อีวีในเกือบทุกขั้นตอน เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร
นับตั้งแต่กระบวนการผลิตและประกอบเซลล์แบตเตอรี่ การใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากผู้ประกอบการในท้องถิ่น (Local supplier) รวมถึงขั้นตอนการผลิตและประกอบรถยนต์
อุตฯ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่สามารถเติบโตไปกับอุตฯ ยานยนต์อีวีได้จากการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศทุก ๆ 1 แสนคัน พบว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตฯ ข้างต้น 257,302 ล้านบาท สูงกว่ากลุ่มยานยนต์สันดาปประมาณ 15%
มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมากสุดของอุตฯ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ 3 อันดับแรก Battery มูลค่าเพิ่ม 40,604 ล้านบาท, Electronics มูลค่าเพิ่ม 30,973 ล้านบาท, Auto OEM มูลค่าเพิ่ม 10,848 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตรากำลังการผลิตในเบื้องต้นน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำทำให้การประกอบรถอีวีของไทยในช่วงแรกยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตฯ เป็นหลัก
และมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นซัปพลายเออร์เดิมของอุตฯ รถสันดาป โดยรวมมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องเพราะยังคงเป็นชิ้นส่วนที่จำเป็นในการผลิตรถยนต์ทั้งสันดาปและอีวี
แต่ก็มีกลุ่มผู้ผลิตที่มีความเสี่ยงในกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นกว่าครึ่งของอุตฯ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs และอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง (Transmission system)
เนื่องจากมูลค่าตลาดอุตฯ รถสันดาป มีแนวโน้มปรับลดลงราว 3 พันล้านบาท หรือประมาณ 10% กรณีที่หากรถอีวี สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 15% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2025 (ปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% ณ ปี 2022)
อ้างอิง: Counterpoint Research, SCB EIC
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ