ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงาม ทรัพยากรธรรมชาติที่ล้นเหลือกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

จีน ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกกลายเป็นนักลงทุนและเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในลาวนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา และนับจากนั้นอิทธิพลของจีนที่มีเหนือประเทศลาวก็เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของลาวนั้น คือ การเป็นหนี้จีน ซึ่ง IMF มีการประมาณการไว้ว่าหนี้ที่ลาวติดจีนจะมีมูลค่าประมาณ 122% ของ GDP ปี 2023 หรือประมาณ 14,500 ล้านดอลลาร์

และเนื่องจากข้อตกลงด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ Belt And Road Initiative หรือ BRI ของจีนทำให้ลาวต้องกู้ยืมเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการสร้างทางรถไฟ ทางหลวง และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Power Dam) ส่งผลให้ทุนสำรองต่างประเทศของ “หมด” ไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ในกระบวนการนี้

นอกจากหนี้สินที่ล้นพ้นเกิน GDP บวกกับเงินเฟ้อจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ผสานกับวิกฤตค่าเงินกีบอ่อนค่าลงจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ๆ

จนตอนนี้หลายองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศเริ่มเป็นห่วงว่า ลาว อาจเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในสถานะล่มสลายทางเศรษฐกิจเหมือนดั่งเช่นเดียวกับ เวเนซุเอลา หากวิกฤตเศรษฐกิจลุกลามเกินกว่าจะควบคุมได้

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศลาวจะได้ดำเนินมาตรการในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปหลายอย่างแล้ว อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การออกพันธบัตร และการทำงานร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ในเรื่องแนวทางปฏิบัติในการจัดการหนี้ และยังลดการใช้จ่ายในบริการที่สำคัญ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ

ยังไงก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าการกระทำทุกอย่างของลาวจะไร้ผลทันทีหากลาวไม่มีข้อตกลงขอลดหนี้ที่ชัดเจนกับจีน อันจะทำให้ความยากลำบากทางการเงินของลาวไม่น่าจะบรรเทาลง

บทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปดูว่าอะไรทำให้ลาวเลือกเส้นทางนี้ และทำให้ลาวติดกับดักหนี้ที่จีนได้วางเอาไว้ชนิดที่ว่า หนี้ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่รู้จะใช้หมดเมื่อไหร่

เศรษฐกิจของลาว

จากการประมาณการล่าสุด ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2023 ลาวมีจำนวนประชากรทั้งประเทศอยู่ที่ 7,670,465 คน ลาวได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย ที่ประชากรลาวมีรายได้ต่อหัวประมาณ 3,000 ดอลลาร์ต่อปี (หรือประมาณเดือนละ 8,000 กว่าบาท) เศรษฐกิจของประเทศลาวมีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยประชากรในชนบทประมาณ 80% ทำงานด้านเกษตรกรรมยังชีพ นอกจากนี้ ลาวยังถูกกำหนดให้เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดจากการจัดอันดับของสหประชาชาติ

ลาวเป็นประเทศที่ประสบปัญหาแคลนขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และอุตสาหกรรมที่หลากหลายที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ  โดยเศรษฐกิจของลาวส่วนใหญ่อาศัยการขายไฟฟ้าพลังงานน้ำ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และการท่องเที่ยวเป็นรายได้ส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศลาวพึ่งพาการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพเป็นหลัก

ลาวเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีรัฐบาลเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว และถ้าย้อนกลับในช่วงปี 2008-2011 ลาวเคยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับเกินร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งตอนนั้นได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตโดดเด่นในระดับโลก  แต่แม้จะมีอัตราการเติบโตที่สูง แต่ลาวยังคงเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ในแถบชนบทถนนหนทางก็ไม่ดี การสื่อสารและโทรคมนาคมโทรศัพท์พื้นฐานมีอยู่อย่างจำกัด

นอกจากนี้ ที่ลาวพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงยังอยู่ในระดับแค่ 75% ของประเทศ (บางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้) เศรษฐกิจของลาวขึ้นอยู่กับการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แรงงานยังคงต้องอาศัยงานในภาคเกษตรกรรมเป็นหลักคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ GDP

เศรษฐกิจยังได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านไฟฟ้าพลังน้ำ การทำเหมืองขุดทองแดงและทองคำ การตัดไม้ และการก่อสร้าง แม้ว่าบางโครงการในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม

 

อุตสาหกรรมหลักในลาว

  • เกษตรกรรม เกษตรกรรมเป็นแกนนำของเศรษฐกิจของประเทศลาว มีการจ้างงานประมาณ 85% ของประชากร และผลิต 51% ของ GDP พืชผลทางการเกษตรหลักคือข้าว ปลูกบนพื้นที่เพาะปลูก 90% และพืชผลอื่น ๆ ได้แก่ มันเทศ ผัก ข้าวโพด กาแฟ อ้อย ยาสูบ ฝ้าย ชา ถั่วลิสง และควาย สุกร โค และสัตว์ปีก
  • การทำเหมือง การทำเหมืองเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในประเทศลาว และในปี 2555 การทำเหมืองแร่มีส่วนช่วยต่อเศรษฐกิจของประเทศถึง 7% ลาวถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เนื่องจากมีทรัพยากรแร่ธาตุมากมายในประเทศ เช่น ตะกั่ว ทองแดง ทองคำ และยิปซัมความมั่งคั่งทางแร่ของลาวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากจากประเทศต่าง ๆ เช่น จีนและออสเตรเลีย
  • พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำ ลาวเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคที่เพิ่มบทบาทของตนในฐานะผู้จัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำให้กับเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม และไทย ลาวมีศักยภาพด้านไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญ และรัฐบาลได้ลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมสิ่งทอยังมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศลาว โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอมากกว่า 110 บริษัทในปี 2549 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากประเทศลาวส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป
  • ไม้ ลาวมีพื้นที่ป่าไม้กว้างใหญ่มากคิดเป็น 40% ของประเทศ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ไม้จะกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่งของประเทศ
  • พลังงานไฟฟ้า ลาวส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าและเขื่อน 3 แห่งที่ผลิตกระแสไฟส่งให้ประเทศไทย ได้แก่

โรงไฟฟ้าหงสา โรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งอยู่ในหงสา ประเทศลาว มีกำลังการผลิต 1,878 MW โดยพลังงานส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าหงสาส่งออกไปยังประเทศไทย

เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนน้ำไหลในประเทศลาว มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 7,000 GWh ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตลาดพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงถึงกัน

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 เป็นโครงการแบบ BOT หรือ Build-Operate-Transfer (สร้าง-ดำเนินการ-โอน) ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับประเทศไทยและประเทศลาวเป็นเวลา 27 ปี โดยโครงการนี้ผลิตไฟฟ้าส่งให้ประเทศไทยได้ประมาณ 290 MW

  • การแปรรูปทางการเกษตร ลาวแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าว กาแฟ และอ้อย
  • การก่อสร้าง พลวัตทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทำให้ลาวยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการก่อสร้างอีกด้วย
  • เครื่องนุ่งห่ม ลาวส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

 

การเมืองการปกครอง

ลาวเป็นประเทศที่ปกครองในแบบ “สาธารณรัฐสังคมนิยมแบบรัฐสภาพรรคเดียว” โดยมีพรรคปฏิวัติประชาชนลาว (Lao People’s Revolutionary Party: LPRP) และเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ถูกกฎหมาย

พรรค LPRP ครอบงำการเมืองทุกด้าน และจำกัดเสรีภาพของพลเมืองอย่างรุนแรง โดยมีประมุขแห่งรัฐคือทองลุน สีสุลิด ซึ่งเป็นเลขาธิการทั่วไปของ LPRP ทำให้เขาเป็นผู้นำสูงสุดของลาว หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี โสเนชัย สีพันโดน นโยบายของรัฐบาลถูกกำหนดโดยพรรคผ่านสมาชิก LPRP Politburo ที่มีอำนาจทั้งหมด 9 คน และคณะกรรมการกลาง LPRP 49 คน การตัดสินใจที่สำคัญของรัฐบาลได้รับการตรวจสอบโดยคณะรัฐมนตรี

ปัจจุบันลาวพยายามพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมและเข้มแข็ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังล้าหลังจากสากลอยู่มาก ถ้าพูดในภาพรวมกฎหมายในประเทศลาวอ่อนแอมาก สิทธิในทรัพย์สินของประเทศยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก อีกทั้งคะแนนด้านความยุติธรรมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ที่ลาวการทุจริตถือเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ โดยอันดับเรื่องการทุจริตของลาวอยู่ในอันดับที่ 126 จาก 180 ประเทศที่ได้รับการประเมินในดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2022 ที่รวบรวมโดย Transparency International

หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเผชิญคือการปรับปรุงระบบการปกครองให้ทันสมัย ระบบการเมืองและการบริหารมีลักษณะพิเศษ คือ มีความสามารถที่จำกัด และเมื่อมีการดำเนินการปฏิรูป ก็มักล้มเหลวในขั้นดำเนินการ ไม่มีกลไกการตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของพลเมืองยังคงถูกจำกัดอย่างเข้มงวด

 

การเมืองกับเศรษฐกิจคือเรื่องเดียวกัน

ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศลาวนั้นเรียกได้ว่าแยกกันไม่ออก เศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ให้ย้อนไปดูนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีอิทธิพลสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ พรรคปฏิวัติประชาชนลาว (LPRP) ครอบงำการเมืองทุกด้านและกำหนดนโยบายของรัฐบาลผ่านคณะกรรมการกลางและโปลิตบูโร (คณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์) ที่ทรงอำนาจทั้งหมด

รัฐบาลลาวดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 1980 รวมถึงกลไกเศรษฐกิจใหม่ในปี 1986 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะรวมลาวเข้าสู่ตลาดโลกยุคโลกาภิวัตน์ กระจายอำนาจการควบคุมของรัฐบาล และส่งเสริมวิสาหกิจเอกชนควบคู่ไปกับรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายเสรีเกี่ยวกับการลงทุนและการค้าจากต่างประเทศ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรอบกฎหมายโดยรวมยังไม่มีประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใส และหลักนิติธรรมก็ถูกทำลายโดยการทุจริตและการแทรกแซงทางการเมือง รัฐบาลมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าจำนวนมากผ่านกฤษฎีกา และคะแนนสิทธิในทรัพย์สินของประเทศนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

นโยบายของรัฐบาลมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งถูกครอบงำโดยการทำนาเพื่อยังชีพ โดยมีการจ้างงานประมาณ 85% ของประชากร และผลิต 51% ของ GDP เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทองแดง ทองคำ และไม้เป็นหลัก และโครงการลงทุนหลัก ๆ ในด้านไฟฟ้าพลังน้ำและเหมืองแร่ได้นำรายได้ที่มั่นคงมาสู่คลังของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ และการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ยั่งยืนเมื่อพิจารณาจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม

ลาวได้รับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยย้ายจากเศรษฐกิจแบบแบ่งแยกที่มีการวางแผนจากส่วนกลางไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นตลาด โดยเหตุผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวลาว โดยการสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นตลาดอย่างต่อเนื่อง การปฏิรูปดังกล่าวครอบคลุมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และการปรับปรุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ลาวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น โดยอัตราความยากจนลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจาก 46% ในปี 1992-1993 เป็น 22% ในปี 2012-2013 โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของลาวแตกต่างจากระบบที่วางแผนโดยส่วนกลางอย่างมาก โดยมีนโยบายเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่น ๆ ที่สนใจลงทุนในลาว

ลาวเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศโดยสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถูกลิดรอนอย่างมากในปี 1986

ตั้งแต่นั้นมา ลาวได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและสถาบันที่สำคัญโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวลาวโดยการสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

 

ทรัพยากรธรรมชาติ กระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศลาว

นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980  ด้วยรูปแบบการค้าขาย การลงทุน และการปฏิรูปตลาดอื่น ๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กระตุ้นให้เกิดการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และการขายทรัพยากรธรรมชาติยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้เกือบทั้งหมดจากการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นโดยตรงกับรัฐบาล ผลกระทบต่อคนลาวขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใช้รายได้เหล่านี้อย่างไร เราตรวจสอบว่าการเติบโตที่นำโดยการส่งออกของ สปป. ลาว สามารถนำไปสู่ทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้อย่างไร

เศรษฐกิจของลาวนั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างมาก โดยเฉพาะเหมืองแร่ ไฟฟ้าพลังน้ำ และป่าไม้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่และเหมืองหินมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจโดยการจัดหาทรัพยากรและสร้างรายได้จากการลงทุน ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 10,500 พันล้านกีบต่อ GDP รวมในปี 2017 เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2013

ลาวมีปริมาณสำรองแร่จำนวนมาก ทั้ง ทองแดง ทอง เหล็ก เงิน ถ่านหิน ยิปซัม ตะกั่ว โปแตช ไพลิน ดีบุก และสังกะสี ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมีคุณค่าสำหรับการสนับสนุนโดยตรงต่อ GDP ของประเทศผ่านการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกในอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ป่าไม้ เหมืองแร่ และไฟฟ้าพลังน้ำ

ลาวได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดในเอเชีย โดยมีแหล่งแร่มากกว่า 570 ชนิด ที่สำคัญ ๆ เลยก็คือ ทองคำ ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ถ่านหิน เหล็ก เงิน โปแตช ไพลิน ดีบุก และยิปซัม

อุตสาหกรรมเหมืองแร่และเหมืองหินมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของลาวมาก โดยการจัดหาทรัพยากรและสร้างรายได้จากการลงทุนสร้างรายได้ประมาณ 10,500 พันล้านกีบ ลาวมีแร่ธาตุสำรองจำนวนมาก อย่างทองคำ ลาวก็มีปริมาณสำรองอยู่ที่ประมาณ 500 ตัน ปริมาณสำรองทองแดง 8 ล้านตัน และปริมาณสำรองสังกะสี 2 ล้านตัน

ทรัพยากร ป่าไม้ ถือเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศลาว พื้นที่ผืนป่าในลาวครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 40% ของพื้นที่ประเทศ และอุตสาหกรรมป่าไม้มีส่วนช่วยผลักดัน GDP ของประเทศทำให้เกิดการจ้างงานแก่ผู้คนจำนวนมาก นอกจากอุตสาหกรรมป่าไม้แล้ว อุตสาหกรรมเกษตรยังเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจของลาวเช่นกัน โดยสร้าง GDP เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา โดยมี “ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในประเทศลาว คิดเป็นเกือบ 80% ของพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ

โดยสรุป เศรษฐกิจของลาวอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหมืองแร่ ไฟฟ้าพลังน้ำ และป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมีคุณค่าสำหรับการสนับสนุนโดยตรงต่อ GDP ของประเทศผ่านการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกในอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ป่าไม้ เหมืองแร่ และไฟฟ้าพลังน้ำ อย่างไรก็ตาม แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรธรรมชาติอาจไม่ยั่งยืน ถ้ามองจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม เพราะทรัพยากรธรรมชาติใช้แล้วมีแต่หมดไป

 

จีนเข้ามาความเจริญก็เข้ามา

จีนช่วยเหลือลาวในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการลงทุนและร่วมทุนมาโดยตลอด แต่เริ่มพีคก็คือในช่วงตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ทั้งสองประเทศร่วมมือกันในหลายโครงการ และถือได้ว่า จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว โดยมีการลงทุนสะสมประมาณ 16.4 พันล้านดอลลาร์ ใน 833 โครงการ การลงทุนดังกล่าวให้ทุนสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงทางรถไฟลาว-จีน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สายส่งไฟฟ้า ทางด่วน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ตัวเลขการลงทุนจากจีนส่งตรงมายังลาวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แตะ 16 พันล้านดอลลาร์: rfa.org

 

โครงการทางรถไฟความเร็วสูง Laos-China Railway (LCR) ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร

โครงการความร่วมมือในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีนเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยาว 1,037 กิโลเมตร เชื่อมต่อตอนเหนือของลาวและยูนนาน ประเทศจีน (ทางตอนใต้ของจีน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt Road Initiative (BRI) ทางรถไฟสายนี้ประกอบด้วยสถานีขนถ่ายสินค้า 22 สถานี และคาดว่าจะขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1.2 ถึง 1.8 ล้านตู้ต่อปี

ทางรถไฟเชื่อมต่อมณฑลยูนนานของจีนกับลาวและไทย และคาดว่าจะกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาค  โครงการทางรถไฟ LCR นี้มูลค่าประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของ GDP ของลาว และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากจีน

รถไฟความเร็วสูงจากจีนไปยังลาว: CGTN

การลงทุนของจีนหลั่งไหลเข้ามาอย่างล้นหลามนับตั้งแต่มีการประกาศสร้างทางรถไฟ ทำให้ฝั่งตะวันออกของเวียงจันทน์กลายเป็นสถานที่ก่อสร้างขนาดยักษ์ มีเครนขนาดยักษ์กระจายอยู่ตามชนบท มองเห็นโกดังที่กำลังสร้าง ศูนย์การค้า เขตธุรกิจ และอพาร์ตเมนต์สูงระฟ้า

ภาพเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จีนลงทุนไปมหาศาลกว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ เริ่มจากคุนหมิง มาที่บ่อเต็น หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และเชื่อมลงมายังกรุงเทพ ประเทศไทย: Sixthone

ภาพภายในสถานีรถไฟความเร็วสูงที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว: Washingtonpost

 

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Hydropower)

ลาวเป็นประเทศหนึ่งที่มี “น้ำ” เป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเพราะมีแหล่งน้ำสำคัญมาก และมีแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำโขง ทำให้จีนมองว่าลาวมีศักยภาพที่จะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ดังนั้น จีนจึงได้มีการลงทุนในเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวหลายแห่ง

1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากลาย เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ ทางตอนเหนือของลาว โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท Sinohydro ของจีน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากลายสร้างเสร็จในปี 2023 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2024

ภาพจำลองโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย: ที่มา

 

2. เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาว เขื่อนแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท China Power Investment Corporation (CPI) ของจีน โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จในปี 2020 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2021

 

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี: SALIKA

 

3. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำสะหวันนะเขต เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาว โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท Power China ของจีน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำสะหวันนะเขตสร้างเสร็จในปี 2025 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2026

4. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำเซเปียน ตั้งอยู่ในแขวงอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาว โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท China Huadian Corporation ของจีน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยสร้างเสร็จในปี 2027 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2028

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย: Modern-Manufacturing

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งที่จีนมาลงทุนในลาว: reseachgate

เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) เป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ โดยรัฐบาลลาวอนุมัติให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 7 แขวงของลาว มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 100 พันล้านดอลลาร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนเข้ามาลงทุนในลาว ยกตัวอย่างเช่น

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ตั้งอยู่ในแขวงบ่อเต็น ทางตอนเหนือของลาว มีพื้นที่ 800 ตารางกิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD และโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Huawei

เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น

เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันนะเขต ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาว มีพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ โครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Haier และโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของ Mindray

โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน: e-shann.com

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง ตั้งอยู่ในแขวงหลวงพระบาง ทางเหนือของลาว มีพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 500 ล้านดอลลาร์  โครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของ Li Ning และโรงงานผลิตอาหารแปรรูปของ COFCO

เขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ: Laotian Time

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว โดยช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และอาจมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมา

 

แบบจำลองเขตเศรษฐกิจพิเศษทะเลสาบธาตุหลวงจัดแสดงที่โชว์รูมเวียงจันทน์ โดยมีทะเลสาบเทียมอยู่ตรงกลาง: Washingtonpost

สำหรับคนลาวและประเทศลาวแล้ว พวกเขามีความหวังว่าโครงการเหล่าจะเป็นตัวพลิกเกมสำหรับเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้การส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นไปโดยสะดวก หากสิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามแผน ธนาคารโลกประเมินว่าการรถไฟจะช่วยเพิ่มระดับรายได้ในประเทศได้มากกว่า 20%

จากงานวิจัยของ AidData ที่ William & Mary ซึ่งติดตามการให้กู้ยืมของจีน ได้คำนวณหนี้รวมของลาวที่มีต่อจีนในช่วง 18 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มตั้งแต่ปี 2000 อยู่ที่ 12.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ถ้ารวมหนี้ทั้งหมดจากประเทสอื่น ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ หนี้ของลาวจะอยู่ที่กว่า 120% ของ GDP ตามข้อมูลของ AidData

Brad Parks กรรมการบริหารของ AidData กล่าว “ลาวกู้ยืมเงินอย่างสนุกสนานและตอนนี้หนี้สินก็ล้นพ้นตัวแล้ว”  “ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีภาระหนี้ต่อจีนสูงกว่าลาว นี่เป็นตัวอย่างที่รุนแรงมาก”

 

ลาวเป็นหนี้จีนมหาศาล

คำถามที่เกิดขึ้นในใจใครหลาย ๆ คนที่อ่าน อาจสงสัยว่า ทำไมจู่ ๆ ลาวถึงเป็นหนี้จีน ต้องบอกแบบนี้ว่าลาวเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมเป็นหลัก ไฟฟ้า ประปา ก็ยังไม่ครอบคลุม ถนนหนทางก็ไม่ดี และด้วยโครงการ Belt Road Initiative ที่จีนริเริ่มอยากทำเส้นทางสายไหมให้กลับมาอีกครั้ง การแผ่อำนาจลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องที่อยู่ในแผน พอลาวอยากได้ความเจริญ และจีนมีเงินและเทคโนโลยี ทุกอย่างก็ลงตัว

รัฐบาลลาวกู้ยืมเงินจากจีนเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงลาวเข้ากับเศรษฐกิจโลก และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่การลงทุนเหล่านี้มีต้นทุนสูง และต้องใช้เงินจำนวนมากในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลให้ลาวเป็นหนี้จีน อย่างเช่น

  • เศรษฐกิจลาวมีขนาดเล็กและอ่อนแอ รายได้ประชาชาติต่อหัวของลาวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลลาวมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้เอง
  • จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว จีนจึงมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว
  • จีนมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี และให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นโยบายเหล่านี้ทำให้จีนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในลาว

 

ปัจจุบัน ลาวเป็นหนี้จีนเป็นอันดับ 2 รองจากคิวบา ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันของลาวอยู่ที่ 123% ของ GDP ณ ปี 2023 โดยหนี้สินของลาวต่อจีนมีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของลาว หนี้สินเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของลาวได้ หากลาวไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ผลกระทบของหนี้สินจีนต่อลาว ได้แก่

  • ลาวต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ที่สูง ทำให้รัฐบาลลาวมีทรัพยากรทางการเงินน้อยลงที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
  • ลาวอาจต้องให้สัดส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่จีนมากขึ้น เพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากจีน
  • ลาวอาจสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับจีน

ในเบื้องต้นจีนมีมาตรการผ่อนปรนหนี้แก่ลาวในระยะสั้นในชื่อแผน “การบรรเทาทุกข์ระยะสั้น” โดยมีระยะโครงการตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2022 ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการชำระหนี้ที่เลื่อนออกไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสูงถึงประมาณ 8% ของ GDP ในปี 2022

รายงานข่าวจากสำนักข่าว CNBC เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่อสถานะหนี้สินของลาวในขณะนี้

“เช่นเดียวกับศรีลังกาและแซมเบีย จนถึงขณะนี้จีนยังไม่เต็มใจที่จะลดหนี้ของตน (Haircut) แม้จะมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าท้ายที่สุดสิ่งนี้จะจำเป็นและเพื่อประโยชน์ของทุกคน”

นอกจากนี้ “ธนาคารจีนไม่ต้องการเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องรับภาระกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และจีนก็ไม่ต้องการมีลักษณะเหมือนผู้ให้กู้ที่ไม่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศกำลังพัฒนา” “จีนไม่เต็มใจและไม่สามารถปล่อยให้ลาวผิดนัดชำระหนี้ได้”

อย่างไรก็ตาม ลาวยังคงทำทุกวิถีทางเพื่อชำระหนี้หลายพันล้านที่ยืมมาจากจีนเพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาวแทบไม่เหลือ นอกจากนี้ การขาดความโปร่งใสในการกู้ยืมเงินจำนวนมากที่บริษัทผู้รับเหมาในลาวลงนามกับบริษัทจีน ทำให้เป็นการยากที่จะระบุได้อย่างแน่ชัดว่าลาวประสบปัญหาหนี้สินมากเพียงใด ซึ่งลาวเองก็พยายามเลื่อนการชำระหนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งแต่ปี 2020 และการเจรจากับจีนยังคงดำเนินต่อไปจนมาถึงทุกวันนี้

 

ในโลกนี้ไม่มีคำว่า ฟรี

จีนลงทุนมหาศาลในลาว และจีนเองก็คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินที่ลงทุนไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็น คาดหวังให้รัฐบาลลาวอำนวยความสะดวกในการลงทุน เนื่องจากรายได้ของบริษัทคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หรือหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่พวกเขาให้ทุนสนับสนุน เช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ รถไฟ และทางหลวง โครงการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องลาวจากภาวะเศรษฐกิจชะงัก แต่ปรากฏว่าด้วยศักยภาพในการชำระหนี้ที่ต่ำเนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก การจัดเก็บภาษีที่ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากตอนแรกคาดว่าจะได้รับแต่ความสุขความเจริญกลับได้ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมาแทน

และด้วยความที่ลาวเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยสินแร่สำคัญและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จีนเองก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในลาว ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ โดยการจัดหาทรัพยากรและสร้างรายได้จากการลงทุน จีนคาดว่าจะใช้อิทธิพลเหนือโครงข่ายไฟฟ้าของลาว ซึ่งแลกกับการที่จีนมีอำนาจควบคุมการจ่ายกระแสไฟบางส่วน

ในส่วนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BRI ที่ตอนนี้จีนทำสำเร็จแล้วในลาว ในเฟสต่อไปคาดว่าต้องเร่งดำเนินการในส่วนของไทยที่จะต้องเชื่อมต่อเส้นทางเข้ากับประเทศลาว เพราะจีนเองก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากทางรถไฟจีน-ลาว ในการขนส่งผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว และผลผลิตทางการเกษตรไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากจีนลงมายัง ลาว ไปยังประเทศไทย ต่อไปยังมาเลเซีย และอาจจะเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ก็เป็นไปได้

ความกังวลเมื่อลาวติดกับดักหนี้จีน

รายงานของสื่อบางฉบับได้เตือนถึงสิ่งที่เรียกว่ากับดักหนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จีนอาจจะใช้เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ โดยอาจจะยึดทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานอันมีค่าในลาว หากลาวผิดนัดหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ความกังวลนี้เพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทพลังงานของรัฐ Électricité du Laos ซึ่งมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศคิดเป็น 37% ของหนี้ต่างประเทศของลาว ลงนามในข้อตกลงสัมปทานระยะเวลา 25 ปีกับ China Southern Power Grid ในปี 2021 ข้อตกลงดังกล่าวทำให้รัฐวิสาหกิจของจีนถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิส่งออกไฟฟ้าของลาวไปต่างประเทศได้ ตรงนี้หลายฝ่ายเป็นกังวลในแง่ระยะเวลาสัมปทาน และสิทธิในการส่งออกไฟฟ้าไปขายยังประเทศอื่นเพื่อชำระหนี้

นักวิจัย Deborah Brautigam จากโครงการ China Africa Research Initiative (CARI) ของ Johns Hopkins และ Meg Rithmire จาก Harvard Business School ได้ชี้ให้เห็นว่า ตัวอย่างเช่น ศรีลังกาเป็นหนี้ญี่ปุ่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชียมากกว่าเป็นหนี้ จีน เสียอีก

“เมื่อเกิดปัญหาหนี้ เราไม่เห็นธนาคารจีนพยายามจะ ‘ยึดทรัพย์สิน’ ของประเทศใดและจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทำนองนี้เลย แม้กระทั่งในในแอฟริกาที่หลายประเทศเป็นหนี้จีน” CARI ระบุในรายงานวิจัยปี 2020

“กลับกัน ทางการจีนกำลังพยายามพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับหนี้ (และการพัฒนา) ความยั่งยืนเป็นกรณี ๆ ไปมากกว่า”

ท้ายที่สุดแล้ว ลาวจะต้องกระจายการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ด้วยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผลได้หากไม่มีข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้

“ข้อสรุปที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองหนี้ที่กำลังดำเนินอยู่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง” เปโดร มาร์ตินส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำสำนักงานลาวของธนาคารโลก กล่าว โดยหมายถึงไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหนี้ของลาวทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินรายใหญ่ด้วย

โดยในระหว่างนี้ลาวยังมีทางเลือกมากมายให้เลือกใช้ Harumi Taguchi นักเศรษฐศาสตร์หลักของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่า “เรื่องทางเลือกนี้ ลาวอาจจะเลือกที่จะปฏิรูปภาษี รวมถึงเริ่มมองถึงการลดการยกเว้นภาษีที่มากเกินไปก็อาจจะปรับมาเก็บภาษีมากขึ้น และการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีในด้านรายได้”

“ในด้านค่าใช้จ่าย การปฏิรูปการจัดการทางการเงิน รวมถึงการควบคุมการชำระคืนจากรัฐวิสาหกิจอย่างเข้มงวด และการให้กู้ยืมและค้ำประกันแก่รัฐวิสาหกิจ จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินของลาว

การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่าย การเสริมสร้างภาคการเงินให้แข็งแกร่ง และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในขณะที่ส่งเสริมการส่งออกน่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการปล่อยให้จีนมายึดทรัพยากรของประเทศ”

ดูเหมือนว่าหนี้ที่ลาวติดค้างจีนอยู่จะเริ่มเดินทางมาถึงเส้นทางที่ต้องมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามที่นักวิเคราะห์แนะนำ เพราะด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของลาวในขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่ลาวจะหาเงินมาใช้หนี้จีนได้ทันตามกำหนดเวลา และตามจำนวนที่มากมหาศาล

 

https://factsanddetails.com/southeast-asia/Laos/sub5_3d/entry-2986.html

.

https://www.cnbc.com/2023/11/09/laos-is-spiraling-toward-a-debt-crisis-as-china-looms-large.html

https://www.eastasiaforum.org/2023/02/01/laos-must-address-rising-inflation-in-2023/ https://www.bangkokpost.com/business/general/2623597/lao-households-struggle-to-survive-amid-high-inflation

https://www.elibrary.imf.org/view/journals/002/2023/171/article-A001-en.xml https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/05/17/inflation-and-debt-weigh-down-lao-pdr-economic-recovery

https://reliefweb.int/report/lao-peoples-democratic-republic/food-prices-affect-families-lao-pdr-despite-easing-inflation

https://thediplomat.com/2023/02/inflation-in-laos-continues-to-rise-reaches-23-year-high/



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online